“บ้านปู” น้อมรับคำตัดสินศาลฎีกา ยอมจ่ายทันที 2.7 พันล้านให้กลุ่มงานทวี กลุ่มบ้านปูน้อมรับคำพิพากษาศาลฎีกา พร้อมจ่ายค่าข้อมูลโครงการหงสาแก่กลุ่มงานทวีเป็นเงิน 1.5 พันล้าน รวมดอกเบี้ย 7.5% ตั้งแต่ ก.ค. 50 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2.7 พันล้านบาท นับเป็นการสิ้นสุดคดีความที่กินเวลานาน 10 ปี 8 เดือน ยันไม่กระทบฐานะการเงินและแผนการดำเนินธุรกิจ “สมฤดี” บิ๊กบ้านปู ย้ำที่ผ่านมาบริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส สุจริตใจมาโดยตลอด
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) กล่าวแถลงการณ์ทันทีหลังศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีโครงการโรงไฟฟ้าหงสาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ว่า ตามที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ บริษัท บ้านปู จำกัด(มหาชน) (BANPU) บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BPP) และบริษัท บ้านปู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต้องจ่ายค่าใช้ข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าหงสาให้กับนายศิวะ งานทวี และพวก เป็นโจทก์ที่ยื่นฟ้องกลุ่มบ้านปู เป็นเงินจำนวน 1.5 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2550 เป็นต้นมา คิดเป็นค่าดอกเบี้ยราว 1.2 พันล้านบาท รวมกับเงินต้น 1.5 พันล้านบาท รวมเป็นเงินที่กลุ่มบ้านปูต้องจ่าย 2.7 พันล้านบาทนั้น บริษัทน้อมรับและพร้อมปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลทุกประการ โดยพร้อมที่จะจ่ายเงินทันทีในรูปแคชเชียร์เช็คให้กับศาลแพ่งโดยเร็วที่สุดเพื่อสิ้นสุดคดีความที่กินเวลา 10 ปี 8 เดือน
ยืนยันว่าคำตัดสินของศาลฎีกานี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน และการดำเนินงานของบริษัทฯ และบ้านปู เพาเวอร์ฯ โดยบริษัทยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจตามแผนงานที่วางไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นางสมฤดีกล่าวต่อไปว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะชำระค่าเสียหายในคดีนี้ทันที เพราะมีเงินเพียงพอที่จะชำระตามคำสั่งศาลอยู่แล้ว ซึ่งสิ้นปี 2560 บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานรวม 3.2 หมื่นล้านบาท โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้ทั้ง 3 บริษัท คือ บ้านปู บ้านปูเพาเวอร์ และบ้านปู อินเตอร์ฯ ร่วมกันจ่ายเงินค่าใช้ข้อมูลฯ ตามคำสั่งศาลในสัดส่วนเท่ากันบริษัทละ 900 ล้านบาท โดยบ้านปูจะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในงวดไตรมาส 1/2561 ย่อมมีผลกระทบต่อผลประกอบการบริษัทในช่วงไตรมาส 1/2561
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลุ่มบ้านปูดำเนินธุรกิจโดยสุจริตทั้งก่อนและหลังการเข้าทำสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ โดยบริษัทไม่ได้ทำผิดสัญญาต่อโจทก์ ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิจารณาว่า จำเลย (กลุ่มบ้านปู) มีความสุจริตในการเข้าทำสัญญาและมีเจตนาทำโครงการจริง ไม่ใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ส่วนการที่จำเลยยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมาอันส่งผลให้โครงการล่าช้า อันเป็นเหตุให้รัฐบาลยกเลิกสัมปทานกับโจทก์ (บริษัท งานทวี) นั้น ศาลพิจารณาว่าจำเลยมีความสุจริต ทำเพื่อประโยชน์ของโครงการ และรัฐบาลลาวก็มิได้ใช้เหตุผลนี้ในการยกเลิกสัมปทานกับโจทก์ รวมทั้งจำเลยไม่ได้ยุยงให้รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทาน แต่เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลลาวเพื่อประโยชน์ของประชาชนลาว
รวมทั้งการใช้ข้อมูลนั้น บริษัทก็มีความเชื่อด้วยความสุจริตใจว่าข้อมูลที่บริษัทได้ร่วมกันพัฒนากับกลุ่มงานทวีนั้นบริษัทก็มีสิทธิ์ใช้ได้โดยสุจริตใจ