กสม.ร่วมมือรัฐบาลติวเข้มรัฐวิสาหกิจ หวังเป็นต้นแบบทำธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชน จ่อคลอดแผนปฏิบัติ มิ.ย.นี้ เชื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน-ประสิทธิภาพบริการ ลดข้อพิพาทแรงงาน
วันนี้ (5 เม.ย.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนาเรื่อง “Leading by Example : รัฐวิสาหกิจไทยสู่ต้นแบบการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน” เพื่อส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจตระหนักถึงความสำคัญและเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องนำหลักการดังกล่าวไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
โดยนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม.กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2544 กสม.ได้รับการร้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจหลายกรณี ทั้งเรื่องแรงงาน ที่อยู่อาศัย และเรื่องทรัพยากร ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดย กสม.ชุดปัจจุบันให้ความสำคัญต่อประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชนเป็นอันดับแรกๆ โดยที่ผ่านมามีการจัดสัมมนาเพื่อชี้แนะแนวทางนี้ให้หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจเอกชน และมีการทำปฏิญญาร่วมกัน ทั้งนี้เนื่องจากรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนของรัฐ และการให้บริการประชาชน หากมีการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ก็เชื่อว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของรัฐวิสาหกิจได้
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งว่า หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นการวางบรรทัดฐานให้เอกชนเคารพสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ โดยได้วางกรอบ 3 ประการ คือ 1. การคุ้มครอง 2. การเคารพ 3. การเยียวยา ทั้งนี้รัฐบาลมีความมุ่งมั่นให้ประเทศไทยดำเนินธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชน โดยภาครัฐจะต้องออกกฎ ระเบียบ เพื่อควบคุมดูแลส่งเสริมภาคธุรกิจ เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 และพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เป็นต้น ขณะเดียวกันรัฐวิสาหกิจของรัฐก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้ภาคธุรกิจเอกชน โดยควรดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกาศนโยบายการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน มีการตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจอย่างรอบด้าน ประเมินผลการดำเนินธุรกิจที่อาจจะกระทบสิทธิมนุษยชน และพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการระดับชาติ รวมทั้งสร้างกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนเรื่องสิทธิในหน่วยงาน กำหนดให้มีมาตรการเยียวยาหากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ เชื่อว่าการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนจะช่วยลดปัญหาข้อพิพาทระหว่างนายจ้างลูกจ้าง ข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานกับชุมชนรอบข้าง ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้สังคมอยู่ด้วยกันได้โดยไม่มีความขัดแย้ง และยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น แม้ขณะนี้จะมีกฎหมายรองรับ มีศาลที่พิจารณาคดีในเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีประเด็นที่อาจจะเป็นอุปสรรค์ อาทิ เรื่องค่าใช้จ่ายการฟ้องคดี กระบวนการต่างๆ ที่ยุ่งยาก นอกจากนั้นการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการทางยุติธรรมก็ต้องใช้เวลานาน อาจจะไม่ทันท่วงทีในการแก้ไขปัญหาเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ดังนั้นรัฐควรมีกลไกอื่นเข้ามาเสริม เช่น การรับเรื่องร้องเรียน การไก่เกลี่ย โดยผ่านศูนย์ดำรงธรรมที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ เป็นต้น
พล.อ.อ.ประจินกล่าวอีกว่า รัฐบาลได้แสดงความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในเรื่องนี้ และนายกฯ เองก็ได้แสดงเจตนารมณ์ในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยมีการยืนยันนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลในหลายโอกาส มีการประกาศวาระแห่งชาติสิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และยังมีการเน้นย้ำให้รัฐวิสาหกิจเป็นต้นแบบในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยขณะนี้กระทรวงยุติธรรมกำลังจัดทำแผนปฏิบัติการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถทำไปปฏิบัติตามได้