xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.มอบน้ำแข็งแห้ง สร้างฝนหลวงฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 20

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (1 มีนาคม 2561) ปตท.ได้มอบน้ำแข็งแห้งจำนวน 800 ตัน มูลค่ารวม 6,400,000 ล้านบาท (หกล้านสี่แสนบาท) ให้แก่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องใน “พิธีเปิดปฏิบัติการ ฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561” ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อใช้ในปฏิบัติการทำฝนเทียมช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งทั่วประเทศ ซึ่ง ปตท.ได้สนับสนุนน้ำแข็งแห้งให้แก่โครงการฝนหลวงต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา รวมกว่า 10,320 ตัน และถังบรรจุน้ำแข็งแห้ง จำนวน 38 ถัง คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 84,400,000 ล้านบาท (แปดสิบสี่ล้านสี่แสนบาท) (รวมยอดปีนี้)

โครงการฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทุรกันดารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยทรงศึกษาข้อมูลด้านการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ เป็นเวลาถึง 14 ปี เพื่อหาวิธีทำฝนเทียมเพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของราษฎร ตลอดจนเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเมื่อปี 2541 เกิดไฟป่าพรุโต๊ะแดง ที่จังหวัดนราธิวาส พระองค์ได้ให้คำแนะนำในการใช้น้ำแข็งแห้งทำฝนเทียมเพื่อดับไฟป่า คณะทำงานฝนหลวงจึงได้ประสานงานกับ ปตท. เพื่อขอรับการสนับสนุนน้ำแข็งแห้ง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนน้ำแข็งแห้งเพื่อแก้ปัญหาความแล้งฝนนับตั้งแต่นั้น

ทั้งนี้ น้ำแข็งแห้ง เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำฝนหลวง โดยเป็นตัวเพิ่มฝนและเร่งอัตราการตกของฝน ผลิตมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผลพลอยได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. โดยเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิประมาณ -79 องศาเซลเซียส ถูกนำมาผ่านกระบวนการอัดและทำให้เย็นลงภายใต้ความดันสูงกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เหลว แล้วลดความดันลงอย่างรวดเร็ว โดยการพ่นคาร์บอนไดออกไซด์เหลวสู่ความดันบรรยากาศ จะได้เป็นเกล็ดน้ำแข็งคล้ายเกล็ดหิมะ แล้วจึงนำมาอัดเป็นรูปแบบและขนาดต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ ซึ่งการสนับสนุนของ ปตท.นับเป็นการสร้างประโยชน์เพิ่มเติมให้กับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนที่แยกออกจากก๊าซธรรมชาติ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติต่อไป

“ปตท.ให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจเสมอมา ปัจจุบัน ปัญหาภัยแล้งและปัญหาด้านสภาพอากาศได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในแต่ละปี สร้างความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของพี่น้องไทยในหลายพื้นที่ ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ปตท.จึงมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยจะสนองแนวพระราชดำริในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ อย่างเต็มที่ตลอดไป” นายนพดลกล่าวเสริมในตอนท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น