xs
xsm
sm
md
lg

โดรนช่วยหา "จุดเผา" ช่วยเจ้าหน้าที่ดับไฟลดหมอกควัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล และโดรนตรวจหาจุดความร้อน
หนึ่งในมาตรการลดหมอกควันที่เป็นปัญหาประจำปีของภาคเหนือ คือ ลดการเผา ซึ่งโดรนที่พัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรม จุฬาฯ ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงจุดเผาได้ถูกจุดและควบคุมไฟได้เร็วขึ้น

โดรนหรือ UAV ดังกล่าวเป็นผลงานของทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งติดตั้งกล้องและเซนเซอร์วัดความร้อนแบบรีเลทีฟ (Relative) ซึ่งวัดอุณหภูมิโดยเปรียบสิ่งที่อยู่รอบข้าง เมื่อมีจุดที่อุณหภูมิสูงกว่ารอบข้าง จะแสดงสีที่แตกต่าง ซึ่งเรากำหนดได้ว่าจะให้อุณหภูมิที่ร้อนกว่ารอบข้างนั้นเป็นสีอะไร เช่น เขียว แดง เหลือง น้ำเงิน

ผศ.ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายให้ทีมข่าวฟังว่า เซนเซอร์ดังกล่าวเหมาะแก่การตรวจหา "จุดความร้อน" หรือ "ฮอตสปอต" (Hot spot) ในป่า เพราะหากไม่เกิดไฟไหม้ก็จะเห็นสีที่กลมกลืนกัน นอกจากนี้การใช้โดรนธรรมดาที่ไม่ได้ติดเซนเซอร์ความร้อน เมื่อบินที่ความสูงระดับหนึ่งก็จะมองไม่เห็นภาพกองไฟหรือจุดความร้อนจากการเผา

โดรนตรวจจับจุดความร้อนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายเซนเซอร์และระบบภูมิสารสนเทศเพื่อติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ที่ศึกษานำร่องในพื้นที่ จ.น่าน โดยมี ผศ.ดร.สรรเพชญ เป็นหัวหน้าโครงการ และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ทีมวิจัยซึ่งนำโดย ผศ.ดร.สรรเพชญ ได้นำโดรนดังกล่าวไปสาธิต ณ พื้นที่อนุรักษ์วังปลา ณ บ้านป่าเหว ต.บ้านขอ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เพื่อการทำงานของเครื่องมือที่ใช้ตรวจสภาพพื้นที่อันตรายและเข้าถึงยาก โดยทดสอบเปรียบเทียบกับโดรนที่ไม่ได้ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจความร้อน และพบว่าขณะที่โดรนปกติไม่สามารถจับภาพจุดความร้อนเมื่อบินขึ้นสูง แต่โดรนที่ติดเซนเซอร์สามารถตรวจจับความร้อนได้ แม้เจ้าหน้าที่ได้ระดมดับไฟที่ก่อขึ้นเพื่อจำลองจุดความร้อนแล้ว

นอกจากการพัฒนาโดรนแล้วโครงการนี้ยังพัฒนาชุดเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพหมอกควันสำหรับติดตั้งภายนอกอาคาร เพื่อรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ โดย ผศ.ดร.สรรเพชญอธิบายว่า นำร่องที่ จ.น่าน เพราะเป็นพื้นที่มีวิทยาเขตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังเป็นพื้นที่พิเศษที่มีพื้นป่ากว่า 80% ซึ่งเป็นต้นน้ำน่านและเป็นแม่น้ำสายหลักของแม่น้ำเจ้าพระยา

ผศ.ดร.สรรเพชญ แจงเพิ่มด้วยว่า เดิมที จ.น่านมีเครื่องมือตรวจวัดอากาศเพียง 2 แห่ง อยู่ที่ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทำให้ขาดข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงของหมอกควัน และที่ผ่านมาใช้เพียงความรู้สึกในการวัดความรุนแรง เช่น รู้สึกเจ็บคอ ไอ หรือ แสบตา จึงนำมาสู่โครงการเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศเพื่อใช้ติดตามสถานการณ์หมอกควันแบบทันท่วงที โดยมีเป้าหมายกระจายครอบคลุมทุกพื้นื่ในทุกจังหวัด

สำหรับชุดเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพหมอกควันที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนั้นมีลักษณะเป็นกล่องขนาดเล็ก สามารถตรวจวัด ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 1 ไมครอน (PM1), 2.5 ไมครอน (PM2.5) และ 10 ไมครอน (PM10) โดยข้อมูลที่วัดได้จะถูกส่งเข้าระบบคลาวด์ (Cloud) ที่สามารถดูได้แบบเรียลไทม์ทุกๆ 10 นาที ผ่านการเชื่อมต่อไว-ไฟ ในรูปแบบแผนที่ผ่านเว็บแอปพลิเคชันที่ http://www.cusensor.net

" อุปกรณ์ชุดนี้จะใช้เป็นระบบเตือนภัยให้คนในพื้นที่ได้รับรู้ เพื่อจะรับมือหรือเตรียมการช่วยเหลือตัวเองได้ในเบื้องต้น เมื่อเครื่องมือตรวจวัดข้อมูลได้ก็จะส่งสัญญาณแจ้งเตือน หากแสดงสัญญาณจากสีฟ้าแสดงถึงสถานการณ์ปกติ หากแสดงสัญญาณสีแดงแสดงถึงการเตือนภัยระดับรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงไม่ควรออกจากบ้าน" ผศ.ดร.สรรเพชญอธิบาย

ปัจจุบันทีมวิจัยได้ติดตั้งชุดเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพหมอกควันไฟ ณ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และหน่วยงานท้องถิ่น จ.น่าน จำนวน 95 แห่งจากทั้งหมด 99 แห่ง ซึ่งนับเป็นระบบเครือข่ายเซนเซอร์เพื่อติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันแห่งแรกของไทย
โดรนตรวจหาจุดความร้อนบินสำรวจ
เจ้าหน้าที่ก่อไฟจำลองจุดความร้อน
กองไฟที่เป็นจุดความร้อน
จอแสดงภาพจุดความร้อนเป็นแถบสีแดง แม้กองไฟจะถูกดับแล้ว
กองไฟที่ถูกดับ แต่ยังมีความร้อนให้ตรวจจับได้
ภาพจากโดรนอีกตัวที่ไม่ได้ติดตั้งเซนเซอร์ ไม่สามารถตรวจภาพกองไฟที่กำลังติดไฟได้


กำลังโหลดความคิดเห็น