ก่อนหน้านี้เข้าใจกันว่าดวงอาทิตย์เรานั้นพิเศษกว่าดาวฤกษ์ประเภทเดียวกัน โดยเชื่อว่ามี “วัฏจักรสุริยะ” เฉพาะตัวที่มีสนามแม่เหล็กกลับขั้วทุกๆ 11 ปี แต่พบว่าดาวฤกษ์ใกล้เคียงก็มีวัฏจักรคล้ายๆ กันนี้ เชื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งยานอวกาศไปสำรวจในอนาคต
จากความเชื่ออันยาวนานของนักวิทยาศาสตร์ว่า ดวงอาทิตย์ของเรานั้นพิเศษ เพราะมีสนามแม่เหล็กที่ไม่เหมือนดาวฤกษ์ประเภทเดียวกันดวงอื่นๆ ทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจึงศึกษาโดยสร้างชุดแบบจำลองสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ และพบว่าวัฏจักรของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์นั้นขึ้นอยู่กับอัตราการหมุนและการส่องสว่างของดวงอาทิตย์
เมื่อเปรียบเทียบแบบจำลองดังกล่าวกับผลสังเกตวัฏจักรกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนดาวฤกษ์ดวงอื่นที่คล้ายดวงอาทิตย์ กลับพบว่าทั้งดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ประเภทเดียวกันนี้มีคาบวัฏจักรที่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการหมุนและการส่องสว่างเช่นเดียวกัน ซึ่งรายงานนี้ได้เผยแพร่ลงวารสารไซน์ (Science)
อองตวน สทรูกาเรก (Antoine Strugarek) นักวิจัยหัวหน้าทีมในการศึกษาครั้งนี้จากมหาวิทยาลัยมอนทรีอัล (University of Montreal) แคนาดา บอกเอเอฟพีว่า งานของพวกเขาได้เผยให้เห็นกลไกพื้นฐานที่จะประเมินระยะเวลาของวัฏจักรสนามแม่เหล็กได้ ซึ่งจะช่วยให้เราได้เข้าใจถึงวัฏจักรนี้ในระยะยาว
“เราอาจจะบอกได้ว่าวัฏจักรแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ครั้งถัดไปในอีก 10-20 ปีจะเข้มข้น สั้นหรือยาว ซึ่งจะช่วยให้เราได้เข้าใจว่ายานอวกาศแบบไหนที่เราจะส่งไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ และช่วงไหนที่เหมาะสมในการส่งยานมากที่สุด” สทรูกาเรกกล่าว
ทั้งนี้ กิจกรรมบนดวงอาทิตย์ ตั้งแต่จำนวนจุดมืดไปจนถึงระดับความเข้มในการแผ่รังสี รวมถึงการระเบิดอนุภาคออกมานั้นมีช่วงเวลาเป็นวัฏจักรนาน 11 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ขับเคลื่อนโดยสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์
ด้าน อัลลัน ซาชา บรุน (Allan Sacha Brun) หัวหน้าห้องปฏิบัติการพลศาสตร์และสภาพแวดล้อมของดวงดาว และผู้สังเกตการณ์หลักในโครงการสตาร์สทู (STARS2) ของสภาวิจัยยุโรปกล่าวถึงงานวิจัยนี้ว่า ได้เผยให้เห็นว่าวัฏจักรที่มีคาบนาน 11 ปีนี้ เป็นวัฏจักรหลักของดาวฤกษ์ทั้งหมดที่จัดอยู่ในประเภทเดียวกับดวงอาทิตย์