xs
xsm
sm
md
lg

รพ.จุฬาฯ เปิด 6 ศูนย์เฉพาะทางตึกผู้ป่วยใหม่ “ภูมิสิริมังคลานุสรณ์” ใหญ่สุดในอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.จุฬาฯ เปิดตึกผู้ป่วยใหม่ “อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์” สูง 29 ชั้น พื้นที่ใช้สอยกว่า 2.2 แสนตารางเมตร ใหญ่ที่สุดในอาเซียน พร้อมเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ให้บริการระดับพรีเมี่ยมแก่ ปชช.ทุกระดับในราคามิตรภาพที่คนไทยจ่ายได้

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาทางกายภาพของ รพ.จุฬาฯ ในด้านความไม่เป็นหมวดหมู่และปัญหาอาคารรักษาพยาบาลที่กระจัดกระจาย ไม่เป็นบริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ห้องพักสำหรับผู้ป่วยไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้รับบริการ รวมทั้งข้อจำกัดในการรองรับผู้ป่วยสาธารณภัยพิบัติ อุบัติภัยต่างๆ รพ.จุฬาลงกรณ์ จึงได้สร้างอาคารที่มีขนาดใหญ่สองหลังเชื่อมต่อกันซึ่งเป็นอาคารรักษาพยาบาลรวม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ใช้ชื่ออาคารว่า “อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์” ซึ่งมีความหมายว่า “อนุสรณ์ที่เป็นมงคลของสองพระองค์”

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า หลังจากต้นปี 2559 ได้เปิดให้บริการเพียงชั้น 19 หอผู้ป่วยสามัญ ชั้น 28 ห้องพิเศษเดี่ยว ชั้น 7 หน่วยเอกซเรย์ หลอดเลือดรังสีร่วมรักษา, ชั้น 2 ศูนย์การวินิจฉัยด้วยภาพ (Imaging center) MRI-เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ขณะนี้อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ได้เปิดให้บริการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการรักษาแล้ว 6 ศูนย์ ได้แก่ 1) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร 2) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร 3) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคไตในภาวะวิกฤต 4) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคลมชักครบวงจร 5) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ และ 6) ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด และจะเริ่มทยอยเปิดบริการด้านอื่นๆ ในลำดับต่อๆ ไป ซึ่ง รพ.จุฬาฯ มีทั้งหมด 21 ศูนย์

“อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ จะรวมบริการต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามอาคารต่างๆ มาไว้ในอาคารเดียวกัน ทำให้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปหลายอาคารเหมือนเมื่อก่อน โดยอาคารนี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 1,250 เตียง มีส่วนสนับสนุนการให้บริการผู้ป่วยในแบบครบวงจร (One-Stop Service) ตั้งแต่ ชั้น 5-28 มีห้องผ่าตัดรวม 62 ห้อง สำหรับทุกสาขาวิชา ปรับห้องผ่าตัดระบบประสาทสมองให้มีเครื่องตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก เพื่อตรวจดูรอยโรคว่าผ่าออกได้หมด และไม่มากเกินไป ห้องผ่าตัดที่มีอุปกรณ์ควบคุมเทคโนโลยีต่างๆ สามารถถ่ายทอดและสอนไปยังห้องประชุมในโรงพยาบาลและต่างประเทศได้ ห้องผ่าตัด Hybrid ที่สามารถผ่าตัดหลอดเลือดใหญ่หรือผ่าตัดสอดสายเพื่อการรักษา ห้องผ่าตัด Robotic ด้วยหุ่นยนต์ เป็นต้น” ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าว

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า “อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ จะเป็นมิติใหม่แห่งการให้ เพื่อทุกชีวิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่ดี มีคุณภาพให้กับประชาชนในทุกชนชั้น แต่ไม่ได้หมายความเพียงแค่การเข้าถึงบริการ ด้านความเป็นเลิศทางการแพทย์เท่านั้น ในความเป็นมิติใหม่ของการให้เพื่อทุกชีวิต ยังหมายรวมถึงการให้บริการในด้านต่างๆ ของอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งประกอบด้วย 1) มิติใหม่ของการเข้าถึงความเป็นเลิศทางการแพทย์ 2) มิติใหม่ของการจัดการด้านการบริการ 3) มิติใหม่ของการจัดการด้านกายภาพ 4) มิติใหม่ของการพยาบาลผู้ป่วยหมายถึงการทำงานร่วมกันของทุกส่วนงาน เพื่อการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงง่าย รวดเร็ว และมีการดูแลแบบองค์รวม รพ.จุฬาฯ มุ่งหวังที่จะเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่มีคุณธรรมด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ ด้วยวิสัยทัศน์จุดเปลี่ยนแห่งมิตรภาพ การบริการสุขภาพของคนไทยทุกชนชั้นสู่มาตรฐานสากล ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนสัมผัสได้ด้วยหัวใจกาชาด” ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าว

ศ.นพ.รื่นเริง ลีลานุกรม รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริการ กล่าวว่า อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ยังมีห้องไอ.ซี.ยู. จำนวน 58 เตียง ห้องฝ่ายรังสีวิทยาที่มีเครื่องมือทางรังสีรักษามากที่สุดในประเทศไทยเฉพาะในอาคารภูมิสิริฯ เครื่องวินิจฉัยด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI) จำนวน 4 เครื่อง เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scanner) จำนวน 4 เครื่อง ห้องเอกซเรย์ ห้องเจาะเลือด ธนาคารเลือด มารวมไว้ที่อาคารแห่งนี้ซึ่งจะสะดวกต่อการดูแลรักษาพยาบาลและติดตามผลของผู้ป่วยแบบเบ็ดเสร็จจบภายในอาคารเดียว การดำเนินการด้านการบริการจะดำเนินงานภายใต้นโยบาย 4 ด้านเป็นสำคัญ คือ ความปลอดภัย ความสะอาด ความรวดเร็ว และความสะดวกสบาย นอกจากนี้ ที่ชั้น 14 ของอาคารยังได้จัดพื้นที่สำหรับผู้ป่วยที่สามารถปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของตนถึง 3 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ อิสลาม และ คริสต์

รศ.นพ.ธีระ วัชรปรีชานนท์ รองผู้อำนวยการฯ ฝ่ายกายภาพ กล่าวว่า อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์วางแผนในการจัดระเบียบพื้นที่ ให้เป็นสัดส่วน โซน A B C D ตั้งแต่พื้นที่การรักษาพยาบาล การเรียนการสอน พื้นที่บริการผู้ป่วย และญาติ ได้แก่ ที่จอดรถ ร้านอาหาร ร้านค้าที่จำเป็น ห้องน้ำ พื้นที่นันทนาการรวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ทางวิชาการ นอกจากนี้ในแต่ละชั้นยังมีความพร้อมในเรื่องของการดูแลรักษาความสะอาด โดยใช้ตามมาตรฐาน JCI Standard และมีระบบความปลอดภัยที่เป็นเลิศ โดยแบ่งประเภทพื้นที่ตามความเสี่ยงตามมาตรฐาน NHS-National Patient Safety Agency จากประเทศอังกฤษซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มพื้นที่คือเสี่ยงสูงมาก เสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำ สำหรับความปลอดภัยเรื่องอัคคีภัย ทางโรงพยาบาลได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบและจัดเตรียมอุปกรณ์ ให้สอดคล้องกับแผนการป้องกันและระงับอัคคีภัย มีการฝึกซ้อมการหนีไฟ และสื่อสารให้บุคลากรภายในอาคารรับทราบ แนวทางการปฏิบัติ และในแต่ละชั้นแต่ละโซนยังมีประตูกันไฟและควัน และมีห้องควบคุมกล้องวงจรปิด CCTV ในทุกชั้น ทุกจุดรวม 1,237 ตัว ซึ่งจะทำให้การดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและผู้มาใช้บริการมีประสิทธิภาพ และทั่วถึงมากขึ้น

ผศ.(พิเศษ) นพ.สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ด้านภาพลักษณ์องค์กร กล่าวถึง สื่อสนับสนุน ด้านประชาสัมพันธ์ “อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ มิติใหม่แห่งการให้เพื่อทุกชีวิต” ได้เตรียมสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งการบริการในแต่ละชั้นเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ป่วยและญาติ นอกจากนี้ยังได้จัดทำภาพยนตร์โฆษณา ในชื่อชุด Briefcase ภายใต้แนวคิด “โรคภัยไม่เลือกฐานะ ไม่เลือกชนชั้น” ความยาว 30 วินาที ออกอากาศทางดิจิตอลทีวี และวิดีโอออนไลน์ ความยาว 2.45 นาที โดยจะเริ่มออกอากาศในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบวัตถุประสงค์ของการสร้างอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ และเพื่อประชาชนทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงการรักษา และเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย สะอาด สะดวกสบาย มีความปลอดภัย ครบวงจรอย่างแท้จริง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ มิติใหม่แห่งการให้เพื่อทุกชีวิต”





กำลังโหลดความคิดเห็น