“มูลนิธิหนึ่งคนให้ หลายคนรับ” โดยไทยประกันชีวิต ตั้งเข็มทิศขับเคลื่อนงานซีเอสอาร์ที่เข้าถึงผู้ด้อยโอกาสทุกกลุ่ม ปีที่แล้วช่วยลดโรคต้อกระจกกลุ่มผู้สูงวัยที่ขาดโอกาส ล่าสุดไปช่วยสตรีชาติพันธุ์ นำร่อง โครงการ “แม่หญิงม่วนใจ๋ ปลอดภัย ห่างไกลมะเร็งปากมดลูก” ส่วนปีหน้ามีแผนช่วยเหลือเด็กๆ
ภาสินี ปรีชาธนาพล กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิหนึ่งคนให้ หลายคนรับ โดยไทยประกันชีวิต กล่าวว่ากิจกรรม CSR หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมของไทยประกันชีวิต ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี มุ่งในเรื่องการดูแล และสร้างคุณค่าของชีวิตให้แก่คนทุกกลุ่มในสังคม ปัจจุบันขับเคลื่อนโดย “มูลนิธิหนึ่งคนให้ หลายคนรับ” และในช่วงที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา กิจกรรมเพื่อสังคมดำเนินการโดยมูลนิธิหนึ่งคนให้ หลายคนรับ เช่น บ้านโฮมฮัก การฝึกอาชีพของผู้พิการ ซึ่งนอกเหนือจากในเรื่องการช่วยเหลือสังคม ก็ยังจัดกิจกรรมที่ไปสอดคล้องกับธุรกิจ เช่น การให้ความรู้เรื่องประกันชีวิต ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส บริการสาธารณสุข และการช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ
ต่อมา ในปี 2556 เราขยายขอบข่ายงานของมูลนิธิฯ ให้เปิดกว้างยิ่งขึ้น จึงกำหนดพันธกิจขึ้นมาใหม่ให้มีความชัดเจน และทำควบคู่ไปกับงานซีเอสอาร์ของไทยประกันชีวิต ซึ่งมุ่งส่งเสริมและพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม แต่ในส่วนของมูลนิธิฯ จะมีพันธกิจไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเรามองว่าการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสที่เป็นผู้ป่วย หรือมีความเสี่ยงที่จะป่วยในอนาคต รวมถึงปัจจัยความพร้อมที่จะไปทำกับกลุ่มใด เด็ก สตรี หรือผู้สูงวัย
ภาสินี กล่าวถึงกิจกรรม CSR ของไทยประกันชีวิต ว่ามุ่งความร่วมมือไปยังองค์กรพันธมิตรที่เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ หรือองค์กรที่ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไร โดยสภากาชาดไทย เป็นองค์กรแรกที่เข้าไปส่งเสริมพันธกิจของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2532 โดยร่วมรณรงค์รับบริจาคโลหิตทุก 3 เดือน ซึ่งต่อมา ในปี 2538 เข้าร่วมกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ เราเน้นการให้ความรู้และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ จึงทำให้คนไทยเข้าใจเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะมากขึ้น ต่อมาได้ขยายไปทำสื่อ และรณรงค์กับนักศึกษาแพทย์และพยาบาลโดยการทำ walk rally
มะเร็งในสตรี ทั้งมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ต่างเป็นอุบัติการณ์โรคร้ายแรงยอดฮิตของสตรีทั่วโลก มะเร็งเต้านมเราเห็นว่ามีหลายองค์กรเข้ามาช่วยเหลืออยู่แล้ว จึงเข้าไปช่วยเรื่องมะเร็งปากมดลูก เพราะมองว่าแม้จะมีสถานพยาบาล โรงพยาบาลของรัฐดูแลอยู่ก็ตาม แต่เราเข้าไปเสริมโดยมองหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาศึกษาและติดตามอย่างใกล้ชิด ก็ได้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมเป็นพันธมิตร
ปีที่แล้วมูลนิธิฯ เข้าไปช่วยส่งเสริม กลุ่มผู้ป่วยสูงวัยในเรื่องผ่าตาต้อกระจก เนื่องจากผู้สูงวัยมีแนวโน้มอายุยืนขึ้นแต่ก็มักเป็นโรคต้อกระจกด้วย จากข้อมูลที่ได้พูดคุยกับจักษุแพทย์ พบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้มีแนวโน้มเป็นกันมากและเร็วขึ้น ปัจจุบันอายุ 30 ปี ก็เริ่มเป็นแล้ว เหตุจากสายตาถูกใช้งานมากเกินไปตามวิถีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่นการดูจอคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนที่ต่อเนื่องนานเกินไป รวมถึงผู้สูงวัยไม่รู้จักวิธีป้องกัน เช่นการใช้แว่นกันแดด เราเข้าไปช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้เพราะอยู่นอกเหนือการสนับสนุนด้านสาธารณสุขพื้นฐาน โดยเข้าไปร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งมีกลุ่มแพทย์และพยาบาลอาสาที่ตระหนักในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรามุ่งไปยังกลุ่มผู้สูงวัยที่ด้อยโอกาส ในพื้นที่ชายแดน ชาวไทยภูเขา
"ส่วนในปีหน้า มูลนิธิฯ จะเข้าไปช่วยกลุ่มเด็กผู้ด้อยโอกาสและต้องการความช่วยเหลือมาก และอาจจะมีภาระในแง่ของการดูแลทางการแพทย์ หรือผู้ปกครองเอง เช่น โรคมะเร็งในเด็ก ซึ่งทางมูลนิธิฯ ยังจะต้องศึกษา และนำเสนอโครงการกับโรงพยาบาลว่าเราจะทำอะไรได้"
นำร่อง “แม่หญิงม่วนใจ๋ ปลอดมะเร็งมดลูก”
เมื่อวันที่ 9-12 พ.ย.ที่ผ่านมา มูลนิธิหนึ่งคนให้ หลายคนรับ โดยไทยประกันชีวิต ร่วมกับสาขาสูติ-นรีเวชวิทยา ด้านมะเร็งนรีเวช โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดโครงการ “แม่หญิงม่วนใจ๋ ปลอดภัย ห่างไกลมะเร็งปากมดลูก” นำทีมแพทย์-พยาบาล รพ.จุฬาภรณ์ เจ้าหน้าที่ รพ.สมเด็จยุพราชบัว จ.น่าน พร้อมฝ่ายขายจิดอาสาจากไทยประกันชีวิต ออกหน่วยแพทย์ให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแก่สตรีชาติพันธุ์โดยไม่คิดค่าบริการ แก่ชาวเขาเผ่าม้ง เมี่ยน ขมุ ลัวะ และมลาบรี อายุประมาณ 30-60 ปี จำนวน 500 ราย ในเขตอำเภอท่าวังผา และอำเภอปัว จังหวัดน่าน
นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติ-นรีเวชวิทยา ด้านมะเร็งนรีเวช โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของบ้านเรา จากข้อมูลรวมยังพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณปีละเกือบหมื่นราย และเสียชีวิตสูงประมาณร้อยละ 50 ซึ่งปัจจุบันมีวิธีป้องกันมากมาย ทั้งการฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรองแพปสเมียร์ (Pap smear) การตรวจหาชนิดของเชื้อไวรัส HPV โดยตรง และในบ้านเราที่ใช้อีกวิธีหนึ่งคือ VIA หรือการตรวจด้วยน้ำส้มสายชู เนื่องจากต้นทุนค่อนข้างต่ำ แต่การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก
ส่วนแพปสเมียร่สามารถตรวจเจอแค่เพียงครึ่งเดียว หรือร้อยละ 50 เท่านั้น แต่ถ้าตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ได้ผลสูงถึงร้อยละ 99 ในอนาคตการตรวจมะเร็งปากมดลูกจะเริ่มไปสู่การตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง แต่ยังติดตรงที่วิธีการนี้ใช้ต้นทุนสูง แพปสเมียร์ที่ตรวจกันทุกวันนี้ให้เบิกได้แค่ 100-150 บาทเท่านั้น แต่การหาเชื้อHPV ค่าตรวจปกติอยู่ที่ 1,600 บาท ซึ่งมีความแตกต่างของราคาประมาณ 10 เท่า เพราะฉะนั้นราคายังเป็นสาเหตุที่ยังไม่สามารถนำวิธีนี้มาใช้ในวงกว้างได้ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขกับสถาบันมะเร็งกำลังจะพัฒนา เปลี่ยนจากวิธีเดิมมาใช้การหาเชื้อไวรัสโดยตรง
ส่วนสาเหตุที่นำร่องที่ จ.น่าน เนื่องจากทางโรงพยาบาลฯ มีโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งตับประมาณ 6,000 ราย อยู่ที่อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน นเรามีคอนเนกชั่นอยู่กับทางสาธารณสุขและโรงพยาบาลน่านอยู่แล้ว กอรปกับสตรีชาติพันธุ์ ที่มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์น้อย จึงให้ทางพื้นที่เองเป็นฝ่ายเลือก และก็ได้ 2 อำเภอดังกล่าวนำร่อง