xs
xsm
sm
md
lg

จู๊คเพิ่มออปชั่นใหม่“นิสสัน ซิกนัล ชีลด์” สกัดสัญญาณสื่อสารตัวการสมาธิหลุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิสสัน ซิกนัล ชีลด์ โซนความสงบสำหรับผู้ที่ต้องการใช้สมาธิกับการขับขี่อย่างเต็มที่ (ภาพจากนิสสัน)
นิสสัน เกรท บริเตนโชว์ต้นแบบ “นิสสัน ซิกนัล ชีลด์” ในรูปแบบฟาราเดย์เคจในที่วางแขนรถจู๊ค ทำหน้าที่เป็น “โซนความสงบ” เพียงวางสมาร์ทโฟนลงไปและปิดฝา อุปกรณ์นี้จะสกัดสัญญาณการสื่อสารทั้งระบบเซลลูลาร์, บลูทูธ และการเชื่อมต่อ WiFi ทั้งหมด เพื่อขจัดปัญหาคนขับสมาธิหลุดไปอยู่กับอุปกรณ์สื่อสาร

อุปกรณ์นี้ออกแบบมาเพื่อให้คนขับมีทางเลือกว่า ต้องการตัดขาดจากข้อความตัวอักษร การแจ้งเตือนของโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ทำให้เสียสมาธิในการขับรถหรือไม่

จากการสำรวจของอาร์เอซี ซึ่งเป็นหน่วยงานความปลอดภัยบนท้องถนนของอังกฤษ พบว่า ผู้ขับขี่ยอมรับว่า ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถเพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2014 เป็น 31% เมื่อปีที่แล้ว

นับวันผู้ใช้ยิ่งติดนิสัยต้องเช็คข้อความตัวอักษรและการแจ้งเตือนที่โชว์บนหน้าจอโทรศัพท์ทันที แม้กำลังขับรถอยู่ก็ตาม หน่วยงานวิจัยของนิสสันพบว่า ผู้ขับขี่เกือบ 1 ใน 5 (18%) สารภาพว่า แอบพิมพ์ข้อความส่งหลังพวงมาลัย

ปัจจุบัน รถครอสส์โอเวอร์ทุกรุ่นของนิสสันมีฟังก์ชันการเชื่อมต่อบลูทูธ เพื่อให้คนขับสามารถรับสายเข้าหรือโทรออกผ่านระบบแฮนด์ฟรีเมื่อปลอดภัยพอที่จะทำได้ นอกจากนั้นในรถนิสสัน มาร์ชรุ่นใหม่ล่าสุด ยังมีแอปพลิเคชันนิสสัน คอนเน็กต์ หรือแอปเปิล คาร์เพลย์ เพื่อยกระดับการเชื่อมต่อระหว่างรถกับแอปพลิเคชันบนมือถือ

แนวคิดนิสสัน ซิกนัล ชีลด์นำเสนอทางเลือกในการเชื่อมต่อ เพื่อให้คนขับเลือกระหว่างความสามารถในการเชื่อมต่อและความสนใจที่ถูกริดรอนไปจากถนนข้างหน้า กับการสร้างพื้นที่และช่วงเวลา “ปลอดโทรศัพท์” หรือการล้างพิษระบบดิจิตอล และการขับขี่อย่างมีสมาธิเต็มที่

อย่างไรก็ตาม คนขับยังสามารถฟังเพลงหรือพ็อดแคสต์ที่จัดเก็บอยู่ในสมาร์ทโฟนได้ เนื่องจากโทรศัพท์ยังเชื่อมต่อแบบใช้สายกับระบบความบันเทิงของรถผ่านพอร์ตยูเอสบีหรืออุปกรณ์เสริม

นอกจากนั้น หากต้องการเรียกคืนการเชื่อมต่อไร้สายของโทรศัพท์ก็ทำได้ง่ายๆ ด้วยการเปิดฝาที่วางแขน หลังจากนั้นสมาร์ทโฟนจะเชื่อมต่อกับเครือข่ายเคลื่อนที่และระบบบลูทูธของรถโดยอัตโนมัติ โดยในขณะนี้ นิสสัน ซิกนัล ชีลด์ติดตั้งอยู่ในรถจู๊คเท่านั้น

นวัตกรรมนี้ทำงานภายใต้หลักการฟาราเดย์ เคจ หรือกล่องที่ทำจากวัสดุตัวนำไฟฟ้า เช่น ตะแกรงเหล็กไวร์เมช ที่ปิดกั้นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า โดยชื่อฟาราเดย์ เคจมาจากชื่อนักวิทยาศาสตร์อังกฤษ ไมเคิล ฟาราเดย์ ที่คิดค้นอุปกรณ์นี้ขึ้นมาเมื่อทศวรรษ 1830

ดังนั้น เมื่อเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน ไว้ในกล่องนี้ สัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าที่เข้ามา ซึ่งรวมถึงข้อมูลระบบเซลลูลาร์และบลูทูธ จะไม่สามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้

พีท วิลเลียมส์ โฆษกอาร์เอซี อ้างอิงผลการวิจัยที่พบว่า การใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ขับขี่ขณะนี้ถึงสัดส่วนของการระบาด กล่าวคือเมื่อเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ก้าวหน้าอย่างมากยิ่งทำให้คนจำนวนมากขึ้นเสพติดอุปกรณ์นี้ และปัญหาก็คือ การใช้ระหว่างขับขี่ทำให้เสียสมาธิทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และยังผิดกฎหมายในหลายประเทศ

การศึกษาจากผู้ขับขี่กว่า 1,000 คนในอเมริกาในปี 2014 พบว่า 98% เห็นด้วยว่า การรับส่งข้อความระหว่างขับรถเป็นพฤติกรรมอันตราย แต่ 74% ยังทำพฤติกรรมนั้นทั้งๆ ที่รู้ และ 30% บอกว่า ทำจนเป็นนิสัย อีกทั้งยังเชื่อว่า ความสามารถในการขับขี่ของตัวเองไม่ได้ย่อหย่อนลงระหว่างการพิมพ์ข้อความบนโทรศัพท์

นักวิจัยจากศูนย์ศึกษาการเสพติดอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี และคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอนเน็กติกัตในอเมริกา อธิบายว่า สาเหตุที่คนเราติดเช็คโทรศัพท์เป็นเพราะเมื่อได้รับข้อความ อีเมล หรืออัพเดตในโซเชียลมีเดีย ระดับโดพามีนซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุข จะเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม เทรนต์ของอังกฤษ พบว่า ผู้ใช้จะเช็คโทรศัพท์เฉลี่ยวันละ 85 ครั้ง และมีการโต้ตอบกับโทรศัพท์มือถืออย่างรวดเร็วคือภายในเวลาไม่ถึง 30 วินาที พฤติกรรมนี้กำลังกลายเป็นนิสัยของผู้ใช้สมาร์ทโฟน โดยที่หลายคนไม่รู้ว่า ตัวเองดูโทรศัพท์ถี่ขนาดนั้น

คนขับรถวัยหนุ่มสาวมีแนวโน้มเสียสมาธิมากกว่า โดยผู้ขับขี่เกือบครึ่ง (49%) ที่อายุ 25-34 ปี ยอมรับว่า บางครั้งออนไลน์หรือใช้แอปขณะขับรถ และเกือบ 1 ใน 3 ของคนขับในกลุ่มอายุเดียวกัน บอกว่าทำแบบนั้นสัปดาห์ละหลายครั้ง

ทั้งนี้ ข้อมูลบ่งชี้ว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 4 เท่าในการประสบอุบัติเหตุ ถ้าคนขับใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ และเวลาในการตอบสนองจะช้ากว่าคนที่เมาแล้วขับ 2 เท่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 50% ยังเห็นด้วยว่า บทบาทของโทรศัพท์ในอุบัติเหตุร้ายแรงมักถูกมองข้าม

วิลเลียมส์จากอาร์เอซีสรุปว่า นิสสัน ซิกนัล ชีลด์เป็นตัวอย่างที่ดีของเทคโนโลยีที่สามารถช่วยคนขับให้ใช้โทรศัพท์อย่างฉลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ไม่สามารถต้านทานการยั่วเย้าของสมาร์ทโฟนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น