xs
xsm
sm
md
lg

รูป...รูปหนึ่ง

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ

ภาพถ่าย: โดม ประทุมทอง ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อ.อุ้มผาง จ.ตาก
รูปถ่ายใบหนึ่งปรากฏอยู่บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือแบบอัจฉริยะที่ถูกหยิบยื่นส่งเข้าหา

"ผมมีอะไรให้ดูครับ ไม่น่าเชื่อเลยว่าบ้านเรายังเหลืออะไรแบบนี้อยู่อีก" รุ่นพี่ที่รู้จักกันพูดออกมาหลังจากโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นถูกส่งยื่นมาให้ "มีช้างกับกระทิงเดินเต็มเลย" เขาเสริม

ความสบายสะดวกของการเดินผ่านทุ่งหญ้าไหม้ไฟ สีเขียวสดใสของหญ้าอ่อนใหม่ที่เพิ่งงอกโผล่พ้นผืนดิน ความหอมหวานอีกความนุ่มละมุนเคี้ยวย่อยง่ายของมัน หรืออาจจะเป็นสารอาหารอันเปี่ยมอุดมหญ้าอ่อนเหล่านี้ จะเป็นสิ่งดึงดูดเหล่าสัตว์กินพืชมามกายให้เข้าหาหรืออย่างไรผมเองก็ไม่อาจจะพิสูจน์ทราบด้วยตัวเองได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมแน่ใจ

ทันทีที่เห็นภาพเป็นวินาทีเหมือนใจถูกสะกด ภาพนั้นเป็นภาพที่ผมคุ้นชินตาเพราะเป็นภาพที่บันทึกโดยรุ่นพี่ที่เคารพและสนิทสนมรู้จักกันเป็นอย่างดี ภาพนี้ถ่าย ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นหนึ่งในภาพที่ผมอยากบันทึกได้ด้วยตัวเอง แต่น่าเสียดายเพราะไม่ได้อยู่ด้วยในวันนั้นด้วยเนื่องจากติดภารกิจอันใดผมเองก็หลงลืมไปเสียแล้ว

“น่าอิจฉานะ ได้พบเห็นอะไรแบบนี้ด้วย อยากไปเห็นบ้างเหมือนกัน” รุ่นพี่ท่านเดิมเอ่ย

“ไม่ยากครับพี่ ทุ่งหญ้าตรงนี้เดินทางเข้าไปได้ไม่ยากเลย แต่ที่ยากคือเดินทางไปให้ถึงตัวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯ ให้ได้ก่อนล่ะครับ” ผมตอบพร้อมเสียงหัวเราะให้เกิดความขำขัน แต่นั่นก็ไม่ได้ผิดจากความเป็นจริงเสียเท่าไหร่ การเดินทางไปยังอำเภออุ้มผางนั้นค่อนข้างยากลำบากพอควรและอาจเกิดอันตรายได้สำหรับคนไม่ชำนาญพื้นที่ ถนน และทิศทาง

สายตาของเราทั้งคู่มองกลับมายังภาพ การดื่มด่ำชื่นชมภาพที่อยู่ตรงหน้าทำให้เกิดความเงียบอย่างไม่ทันรู้ตัว ก่อนความเงียบนั้นจะสูญสลายไปด้วยประโยคหนึ่ง

“รูปนี้ท่าทางจะถ่ายได้ยาก” รุ่นพี่ท่านนั้นเอ่ย “ความสามารถและโอกาสเลยครับ” ผมตอบกลับ

ผมหวนนึกถึงคำพูดที่เคยได้ยินก่อนหน้าจากรุ่นพี่ที่เคารพเป็นอย่างยิ่งท่านหนึ่ง การที่จะได้มาซึ่งภาพถ่ายธรรมชาติโดยเฉพาะภาพถ่ายสัตว์ป่า ช่างภาพเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะถ่ายทอดบ่งบอกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในป่า มีบทบาทอยู่หลังอุปกรณ์ถ่ายรูปและทำการบันทึกภาพ เป็นหน้าที่ที่ง่ายมากเมื่อเปรียบเข้ากับภาระหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต้องรับผิดชอบในการป้องกันรักษาพื้นและทรัพยากรเหล่านั้นที่เอาไว้ แม้ผมจะเห็นด้วยเต็มที่แต่ก็อดคิดไปเองไม่ได้ว่าถ้าส่วนประกอบหรือตัวละครในเรื่องไม่ว่าจะเป็นความประจวบเหมาะของเวลา โอกาส เจ้าหน้าที่ ช่างภาพ คนบอกเล่า รวมทั้งผู้รับฟังขาดหายไปเพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เรื่องราวเหล่าที่ปรากฏอยู่ในภาพก็คงเป็นเพียงสิ่งที่เกิดอยู่ห่างไกลไร้ผู้ใดจะมารู้พบเห็น

เรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในภาพล้วนสื่อถึงความงามและความสำคัญได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับผมแล้วเหนือสิ่งอื่นใด ภาพของช้างและกระทิงวัยรุ่นที่ปรากฏอยู่คือสิ่งที่สามารถทดแทนคำตอบให้กับคำถามถึงอนาคตของเผ่าพันธุ์พวกมันได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องพึ่งวิธีการสื่อสารใดใดอื่นอีก

ผมเคยถูกถามด้วยคำถามหนึ่งซึ่งช่างภาพผู้นิยมถ่ายภาพธรรมชาติหลายคนอาจจะคุ้นหู

“ถ่าย ๆ มา เนี่ย มีหรือได้ประโยชน์อะไรบ้างหรือเปล่า?”

ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมคงไม่อาจจะตอบคำถามนี้ได้อย่างเต็มปากถึงแม้จะยกเหตุผลมากมาย แต่จากวันนี้ผมมั่นใจว่าสามารถตอบคำถามนี้ได้ด้วยความรู้สึกที่เอ่อเต็มล้นอยู่ภายใน

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ

"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"

พบกับบทความ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น