xs
xsm
sm
md
lg

ซุ่ม(ดัก)ซ่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ

งูเหลือม (Reticulated Python)           Malayopython reticulatus (Schneider, 1801)           เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ในเช้าวันหนึ่งเมื่อกว่าสองปีที่แล้ว ครั้งที่ชีวิตยังคงโลดแล่นอยู่กลางป่าสมบูรณ์ผืนใหญ่ แสงแดดยามเช้าส่องผ่านหน้าต่างตรงเข้ามายังตำแหน่งที่ผมเอนกายนอนและปลุกให้ตื่นในเวลาที่ไม่มีทางจะเป็นไปได้เลยถ้าอาศัยอยู่กลางเมืองหลวงของประเทศอันแสนวุ่นวาย

เป็นเรื่องธรรมดาของผมที่จะนอนเล่นครู่หนึ่ง ก่อนที่จะลุกจากที่นอนไปดำเนินกิจกรรมส่วนตัวเพียงแต่ในเช้านั้นมีเสียงดังแปลกหู “ตึบๆๆๆ” เสียงที่ฟังดังทึบแน่นคล้ายวัตถุกระทบกัน เป็นจังหวะต่อเนื่องจากด้านนอกห้องพัก ผมมองลอดหน้าต่างไกลออกไปทางด้านนอก สายตาพุ่งไปสะดุดเข้ากับวัตถุสีส้มตัดกับสีเขียวของผืนหญ้าและพรรณไม้ริมขอบป่า

“อีเม้ย” เจ้าเก้งป่าเพศเมียแสนเชื่องตัวเดิมที่ยังคงมีชีวิตดำรงอยู่ในผืนป่าแห่งนี้ แสดงทีท่าที่แปลกตาออกไปจากวิสัยปกติเช้าที่มักฟุบเอนกายนอนเคี้ยวเอื้องใต้ร่มไม้ใกล้ๆ กับตัวอาคารสำนักงานเขตฯ เช้าวันนั้นมันยืนอยู่ริมขอบป่าใกล้แถบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ก้มเงยหัวขึ้นลงพร้อมกับกระทืบขาหน้าซ้ายขวาสลับกันลงบนผืนดิน จังหวะที่กีบของมันกระแทกเข้ากับดินแข็งๆ เกิดเป็นเสียงดัง “ตึบ” แหล่ะนี่เองแหล่งกำเนิดเสียงที่ผมสงสัยว่ามันคืออะไรที่ได้ยินเมื่อยามตื่นนอน ผมมองพฤติกรรมกระทืบกีบของมันอยู่ครู่หนึ่ง ไม่มีทีท่าว่ามันจะขยับตัวไปไหนหรือดำเนินกิจวัตรตามธรรมดาอย่างอื่นใดของมัน จนกระทั่งผมลุกขึ้นไปดำเนินกิจวัตรส่วนตัวของตัวผมเอง พร้อมกับความคิดในหัว “ไม่มีอะไรหรอกมั้ง? ช่างมันเถอะ”

ภารกิจที่ต้องเดินทางไปสำรวจความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าที่อยู่โซนด้านใน ด้วยระยะทางที่ไกลหลายสิบกิโลเมตรและไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างทางการรับประทานอาหารจนแน่นท้องเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าสมเหตุสมผลเป็นอย่างมาก ระหว่างสมาชิกทีมสำรวจกำลังระดมพลจัดแจงขนอุปกรณ์ประกอบการทำงานและเครื่องของใช้ส่วนตัวใส่บนกระบะหลังรถยนต์ขับเคลื่อนที่ล้อคันโตที่มีชื่อเรียกว่า “เจ้านิก” รถยนต์อีกคันหนึ่งขับเข้ามาจอดเทียบใกล้ที่ด้านข้าง

“เร็ว งูเหลือม!” ชายหนุ่ม (ร่างใหญ่) รุ่นพี่วนศาสตร์ ผู้ซึ่งเป็นคนขับรถคันนั้นและยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกในขณะนั้นเอ่ยขึ้นมา

กล้องถ่ายรูปที่ประกอบเข้ากับเลนส์ไว้อยู่แล้วถูกคว้าก่อนที่ผมจะกระโดดขึ้นรถยนต์คันนั้นอย่างรวดเร็วเท่าที่สังขารตามอายุจะอำนวย

“ริมป่าด้านข้างแผงโซล่าเซลล์นั่นแหล่ะ” รุ่นพี่ตอบข้อสงสัยของผมถึงตำแหน่งปรากฏของสัตว์เลื้อยคลานไร้รยางค์ขาตัวนั้นหลังจากจอดรถยนต์ข้างอาคารสำนักงานเขตฯ

เกล็ดแวววาวยามต้องแสงอาทิตย์คลุมลำตัวที่หดขดเป็นวงซ้อนทับซุ่มซ่อนอยู่ใต้ใบและพุ่มเงาไม้เร้นกายอยู่ใกล้จนผมรู้สึกประหลาดใจที่งูตัวใหญ่ขนาดกลืนหมูป่าหรือกวางป่าทั้งตัวได้อย่างไม่ยากลำบากจะเข้ามาอาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่พลุกพล่านด้วยกิจกรรมของมนุษย์ถึงเพียงนี้

“มันน่าจะมารอดักกินลูกอีเม้ยมั้ง?” “มันน่าจะมาดักกินอีเม้ยมากกว่า” “หรือว่า...ถูกมันกินไปแล้ว!” “อีเม้ยกับลูกมันไปไหนแล้วเนี่ย?” ความคิดเห็นมากมายหลายหลากพรั่งพรูออกมาจากบรรดาเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตฯ ซึ่งรวมตัวกันมุงดูอยู่ไม่ไกลแต่ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าใกล้

“ตึกๆๆๆ” เสียงดังเป็นจังหวะเช่นเดียวกันกับที่ได้ยินเมื่อช่วงเช้าของวันดังฟังแล้วอยู่ไม่ไกลมากนัก “นั่น! อีเม้ย อยู่นั่น! ยังไม่โดนเขมือบ” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเอ่ยขึ้นก่อนชี้ไปยังอีกมุมหนึ่งของขอบป่า ทุกคนโล่งใจเมื่อเห็นอีเม้ยยืนกระทืบกีบของมันพร้อมลูกน้อยที่เวียนวนอยู่ใกล้ๆ ถึงแม้จะเข้าใจดีว่าการที่เก้งซักตัวถูกงูเหลือมรัดกลืนกินจะเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นในโซ่อาหารของระบบนิเวศ ผมก็อดโล่งใจด้วยไม่ได้

หลังจากเก็บภาพบันทึกลงหน่วยความจำในกล้องเป็นที่พอเพียงใจ ผมผละตัวออกจากการชุมนุมที่ไม่ได้นัดหมายบริเวณนั้นเพื่อจัดการเตรียมข้าวของที่ค้างคาอยู่ให้เรียบร้อยก่อนที่จะออกเดินทางไปยังจุดหมายที่ได้วางแผนเอาไว้แล้ว ปล่อยให้เหล่าสรรพสัตว์ในป่าดำรงชีพไปตามครรลองชีวิตของพวกมัน

ระหว่างที่ล้อทั้งสี่ของเจ้านิกหมุนพาทีมสำรวจเดินทางเข้าสู่ป่าลึก ผมสะดุดเข้ากับความคิดของตัวเองเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พบเจอเมื่อยามเช้า พฤติกรรมที่อีเม้ยเก้งแม่ลูกอ่อนแสดงออกมาเป็นสัญญาณส่อถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ซึ่งตัวผมเองนั้นได้ "มองข้าม" ไป

สัตว์ป่า รู้และเข้าใจในการใช้ชีวิตให้รอดปลอดภัยท่ามกลางผืนป่าที่เปี่ยมด้วยอันตรายได้อย่างดีเยี่ยมไม่เพิกเฉยต่อความผิดแปลกปกติเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นและส่งสัญญาณให้สัตว์อื่นๆ ได้รับรู้ถึงความผิดปกตินั้น ผิดแผกแตกต่างกับผมที่ไม่ประสีประสาและเปี่ยมแน่นไปด้วยความไร้ประสิทธิภาพอย่างล้นเหลือ สมมติถ้าผมเป็นสัตว์ป่าแล้วก็คงอยู่รอดได้ไม่เกินช่วงเช้า เจ้างูเหลือมใหญ่ตัวนั้นคงอิ่มท้องและได้มีชีวิตอยู่ทำหน้าที่ตามธรรมชาติวิถีของมันต่อไปอีกนานด้วยเพราะคำว่า “ไม่มีอะไรหรอกมั้ง? ช่างมันเถอะ” เท่านั้นเอง แต่ก็อีกนั่นแหล่ะถ้าไม่ได้สมมติแล้วตัวผมกลายเป็นสัตว์ป่าจริงๆ แล้วล่ะก็ อาจจะเกิดมีความระแวดระวังภัยกลางไพรใหญ่มากขึ้นกว่านี้ที่เป็นอยู่ก็เป็นได้

การสมมตินั่นโน่นนี่เกิดขึ้นในหัวผมอย่างเรื่อยเปื่อย ระยะทางไปหน่วยพิทักษ์ป่าที่เป็นเป้าหมายนั้นยังอีกไกลแสนไกล ความง่วงจากการอิ่มจนหนังท้องตึงเข้าโจมตี

“ไม่มีอะไรหรอก พักสายตาซักครู่ดีกว่า” ความคิดกระซิบอยู่ในหัวก่อนที่หนังตาของผมปิดสนิทไปในที่นั่งตอนหลังของเจ้านิก

“ไม่รู้จักจำ” ผมก่นด่าตัวเอง
.................

งูเหลือม (Reticulated Python)
Malayopython reticulatus (Schneider, 1801)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ

"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"

พบกับบทความ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น