xs
xsm
sm
md
lg

เพียงยังไม่มากพอ

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


“เฮ้อออออออออออ” เสียถอนหายใจเฮือกยาวของผมดังขึ้นเมื่อกระเป๋าใส่อุปกรณ์ถ่ายรูปหนักอึ้งเปลี่ยนตำแหน่งจากกลางหลังวางลงสู่พื้นดิน ไม่ใช่ความระอุหรือความร้อนของแสงแดดที่ทำให้แรงกายหดหาย การเดินสำรวจผ่านเข้าไปในเขตป่าที่ร่มครึ้มเขียวขจีมีร่มเงาตลอดระยะ แต่เป็นด้วยพื้นที่ยาบยวบของใบไม้ทับถมกันมานานและหนากับความฉ่ำของน้ำที่ซึมอยู่ทั่วบริเวณ รากพูพอนใหญ่ให้ต้องหลบหรือจำต้องปีนข้าม เถาวัลย์มากมายพาดไปมาให้ก้มหลบและสะดุดล้ม นั่นทำให้แต่ละก้าวเดินของผมต้องใช้เรี่ยวแรงที่มากกว่าการเดินแบบปกติ

“นี่เดินง่ายมากแล้วครับ ถ้าเป็นปีก่อน ๆ นี่น้ำท่วมเดินกันแทบไม่ได้แล้วแถวนี้ ปีนี้นี่แล้งหนัก” พี่น้อย หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งนาน้อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ผู้ทำหน้าที่เป็นไกด์นำทางให้แก่คณะนักวิจัยและสำรวจความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในป่าพรุครั้งนั้นเอ่ยปาก

น้ำในหม้อสนามที่กำลังถูกต้มอยู่นั้นตักหิ้วมาจากลำธารใกล้บริเวณจุดนั่งพัก พี่น้อยเปิดกระเป๋าเป้จัดแจงนำกาแฟสำเร็จรูปออกแจกจ่าย “น้ำนี่ต้องต้มก่อนครับ พอเดือดแล้วรอตกตะกอนนิดนึงค่อยเอามาชงกาแฟ หินปูนมันเยอะ” ผงกาแฟสำเร็จรูปในแก้วและน้ำร้อนจากหม้อสนามผสมกันและส่งกลิ่นหอมยวนใจ มองเห็นตะกอนสีข่าวขุ่นค้างอยู่ก้นหม้ออธิบายได้เป็นอย่างดีถึงคำถามที่มีให้กับน้ำเกือบใสไหลเอื่อย ๆ ในลำธารที่เหมือนถูกย้อมด้วยสีเขียวมรกตอ่อน ๆ

หลังจากหยุดพักอยู่พักใหญ่ โดยไม่ได้นัดหมายเรื่องเวลาแต่คล้ายว่าทุกคนจะรู้กัน อุปกรณ์ถูกตระเตรียมและนักวิจัยแต่ละคนเริ่มงานตามหน้าที่ของตัวเอง นักวิจัยคนหนึ่งเดินสำรวจพร้อมขวานเล็ก ๆ ตระแกรงร่อนเศษใบไม้ ขวดแอลกอฮอล์และปากคีบขนาดเล็กสำหรับการเก็บตัวอย่างมด นักวิจัยคนหนึ่งเดินสำรวจพร้อมอุปกรณ์เก็บพรรณพืชที่ปรับความยาวได้กับกระเป๋าสะพายเก็บตัวอย่างขนาดใหญ่ มองหาพืชวงศ์ไทรโดยเฉพาะต้นที่กำลังออกดอกผล นักวิจัยอีกคนหนึ่งเดินสำรวจร่องรอยสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเดินดิน บินบนฟ้า ไถลตัวตามพื้นหรืออาศัยริมน้ำ พร้อมไปกับการแบกอุปกรณ์ถ่ายรูปขนาดใหญ่เต็มพิกัดน้ำหนัก เป็นผมที่ทึ่งทุกครั้งเมื่อเห็นว่าเส้นทางต้องผ่านพื้นที่ขึ้นลงเนินสูงชัน ตัวผมเองที่ยังนั่งพักจิบกาแฟอุ่น ๆ และไม่ได้ลุกไปไหนสังเกตเห็น ต่างคนต่างทำหน้าที่ ต่างคนต่างเดินสำรวจตามความถนัดของตัวเองกันไปในคนละเรื่อง แต่ถึงกระนั้นมีสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน นั่นคือต่างเป็นสิ่งอันเกี่ยวข้องพัวพันกันอยู่ในโซ่อาหารในระบบนิเวศไม่ต่างกับตัวตนของเรา

เสียงร้องและเสียงลมจากการสะบัดปีกบินลั่นดังมาจากทางด้านหลังทำให้ผมหันไปมอง วัตถุสีน้ำตาลลอยขึ้นจากมุมหลืบรากพูพอนบินแทรกกายหายลับไปกับสุมทุมพุ่มไม้อย่างรวดเร็ว รุ่นพี่และผมรุดเข้าไปดูยังตำแหน่งพูพอนนั้น หลังจากแหวกใบเตยหนามอยู่ไม่นานสิ่งที่เห็นเป็นคำตอบที่ตรงกับข้อสันนิษฐานที่ได้คาดเอาไว้ เมื่อสายตาเข้าไปจดจ้องอยู่กับวัตถุกลมรีสีชมพูลายกระ ทั้งหกฟองระเกะระกะรวมกันอยู่บนกองใบไม้หลากสี “น่าจะเป็นพวกไก่ฟ้านั่นแหละ” รุ่นพี่ของผมเอ่ย เนื่องจากไก่ฟ้าเพศเมียแต่ละชนิดมีลักษณะลวดลายและสีสันที่ค่อนข้างคล้ายกัน อีกทั้งไม่ทันพิจารณาทำให้ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดไปถึงชนิดก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารกลบบังความรู้สึกยินดีที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ หลังจากเก็บภาพอย่างรวดเร็วเรารีบจากมาโดยพยายามไม่แตะหรือเคลื่อนย้ายอะไรภายในรังด้วยกลัวที่แม่ไก่ฟ้าอาจจะกลัวจนทิ้งละทิ้งรังไป แน่นอนไม่มีคนสติดีที่ไหนอยากให้เป็นไปเช่นนั้น

การสำรวจความหลากหลายดำเนินต่อไปจนถึงช่วงเย็น ไม่ใช่แค่ครั้งนี้หรือแค่ไก่ฟ้ารังนั้น นก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดและปลามากมายที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำใสสีมรกตเหล่านั้นที่เพิ่มความปิติยินดีอย่างเงียบ ๆ ในใจผม เหล่านี้เองที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จอย่างหนึ่งต่อแรงกายแรงใจของเจ้าหน้าที่ที่ทุ่มเทให้กับการปกป้องกันป่าผืนนี้เพื่อให้ธรรมชาติได้ดำเนินหมุนเวียนวน ให้พืชพรรณสัตว์ป่าน้อยใหญ่ได้ดำรงชีวิตและสืบต่อเผ่าพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่นตามครรลองที่เป็นมา

ไข่หนึ่งใบในรังนั้นคงจะสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมันในป่าผืนนี้ได้ต่อไปและถ้าเป็นดังเช่นนั้นได้ทุกใบเป็นผมนี่แหล่ะที่จะยินดียิ่ง

ผมหวนนึกไปถึงสิ่งที่เคยได้รับการสั่งสอนเมื่อสมัยครั้งที่ยังเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ ว่าอะไรคือจุดเป้าประสงค์หลักของการอนุรักษ์และการจัดการ

การอนุรักษ์เพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน นั่นหมายถึงการที่เรารักษาดูแลและมีการจัดการที่ดี เพื่อที่เราสามารถจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรนั้น ๆ ตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิธิภาพสูงสุด ต่อเนื่องและไม่หมดไป

นี่เป็นหลักการที่ถูกต้องและเหมาะสมในมุมมองของผมต่อทรัพยากรที่มีประโยชน์และสามารถทดแทนได้ สิ่งที่พบเห็นในการสำรวจครั้งนั้นและครั้งอื่น ๆ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันถึงผลที่เกิดขึ้นเมื่อเราสามารถจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระนั้นมีคำพูดประโยคหนึ่งที่นึกถึงมาสะกิดใจ ประโยคหนึ่งจากชายที่เป็นดั่งผู้นำทางอุดมการณ์ของใครมากมายหลายคน เมื่อเราเอ่ยถึงการอนุรักษ์ ประโยคหนึ่งจากชายที่ต่อสู้กับกิเลสอันมืดดำของมนุษย์ ไม่ว่าจะมาจากชาวบ้านหรือข้าราชการเพื่อประโยชน์ของป่าไม้และสัตว์ป่า ประโยคหนึ่งจากชายที่เขียนคำว่า “ผมทำดีที่สุดแล้ว...” บนกระดาษโน้ตข้อความใบน้อยฉบับสุดท้ายนั้น

“เราไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอกว่า เราจะใช้ป่าไม้อย่างไร เพราะมันเหลือน้อยมากจนไม่ควรใช้”

ไม่ว่าจะในมุมมองเรื่องป่าไม้หรือสัตว์ป่า ณ เวลานี้ ผมเองเห็นด้วยคำประโยคนี้สุดใจ

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ

"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"

พบกับบทความ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน







กำลังโหลดความคิดเห็น