xs
xsm
sm
md
lg

อีกงานวิจัยยัน “ทีเรกซ์” ไดโนเสาร์กินเนื้อมีเกล็ดไม่ใช่ขนนก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวโครงกระดูกฟอสซิลของทีเรกซ์ชื่อว่า “ทริกซ์”  (Trix) ในพิพิธภัณฑ์ที่เนเธอร์แลนด์ (AFP Photo/Marten van Dijl)
เป็นการโต้เถียงระหว่างนักวิจัย 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งพบหลักฐานระบุว่า “ทีเรกซ์” ไดโนเสาร์กินเนื้อและบรรพบุรุษนั้นมีขนแบบนก แต่งานวิจัยล่าสุดสนับสนุนอีกฝั่งว่านักล่าร่างยักษ์นี้มีเกล็ดแบบสัตว์เลื้อยคลานปกคลุมตัว

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าบรรพบุรุษของไทแรนนอซอรัสเรกซ์ (Tyrannosaurus rex) หรือทีเรกซ์ (T. rex) นั้น น่าจะมีขนคล้ายนกมากกว่าเกล็ดคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งเป็นการค้นพบที่โต้แย้งแนวคิดที่ยึดถือมานานว่า ไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดนี้ไม่มีขนแบบนกปกคุม เพราะไม่จำเป็นต้องมีเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายหรือเพื่อใช้บิน

ทว่าเอเอฟพีระบุถึงงานวิจัยใหม่จากความร่วมมือของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งได้ติดตามตัวอย่างผิวหนังทีเรกซ์และญาติใกล้ชิดในสกุลไทแรนนอซอรัสจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และประมวลฐานข้อมูลหนังฟอสซิล ซึ่งมีทั้งแผ่นคอ เชิงกรายและหางของทีเรกซ์จากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ฮุสตัน (Houston Museum of Natural Science) รวมถึงตัวอย่างสมาชิกไทแรนนอซอรัสอีก 4 ชนิด

ไดโนเสาร์กลุ่มนี้ท่องโลกในยุคปลายครีเตเชียส (Late Cretaceous) ซึ่งเป็นคาบเวลาเมื่อ 99 ล้านปีถึง 65.5 ล้านปีก่อน และเป็นช่วงที่อุกกาบาตพุ่งชนโลกแล้วกวาดล้างไดโนเสาร์ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินออกไป



ทางทีมวิจัยสรุปว่าลักษณะขนนกที่ปกคลุมทั่วตัวในไดโนเสาร์สกุลไทแรนนอซอรัสยุคต้นๆ ได้หายไปในรุ่นบรรพบุรุษของทีเรกซ์และญาติห่างๆ ในช่วงเริ่มต้นปลายยุคครีเตเชียส และทีมวิจัยยังได้เขียนในรายงานที่เผยแพร่ทางวารสารวิชาการรอยัลโซไซตีเจอร์นัลไบโอโลจีเลตเตอร์ส (Royal Society journal Biology Letters) ว่า ข้อมูลแสดงหลักฐานที่ต้องยอมจำนนว่า ทีเรกซ์ปกคลุมไปด้วยเกล็ดทั้งตัว

ในสรุปสั้นๆ ของทีมวิจัยเพื่อเผยแพร่แก่สื่อมวลชนระบุว่า พวกเขาได้ค้นพบว่าลักษณะผิวหนังที่ปกคลุมด้วยเกล็ดคล้ายคลึงกับบสัตว์เลื้อยคลานในปัจจุบันนั้นมีอยู่ในไทแรนนอซอรัสหลายสปีชีส์ที่รวมถึงทีเรกซ์ด้วย ซึ่งฉายภาพของนักล่าตัวยักษ์ที่มีผิวหนังปกคลุมด้วยเกล็ดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การค้นพบนี้บ่งบอกว่าไทแรนนอซอรัสส่วนใหญ่แต่ไม่ทั้งหมดนั้นมีเกล็ดปกคลุม และหากมีลักษณะของขนนกปกคลุมก็จำเพาะแค่ตรงส่วนหลัง แต่การศึกษานี้ก็ทำให้เกิดคำถามว่า ในขณะที่บรรพบุรุษของทีเรกซ์วิวัฒนาการจากเกล็ดให้กลายเป็นขนนก และทำไมไทแรนนอซอรัสขนาดใหญ่นี้จึงวิวัฒนาการย้อนกลับเป็นมีเกล็ดปกคลุม

ทั้งนี้ นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่า นกตัวแรกบนโลกปรากฏขึ้นเมื่อ 150 ล้านปีก่อน และเป็นลูกหลานของไดโนเสาร์ขนนกขนาดเล็ก โดยลักษณะขนนกของไดโนดสาร์ตัวแรกนั้นเป็นลักษณะแท่งกลวงๆ ไม่ซับซ้อน แล้ววิวัฒนาการผ่านกาลเวลาจนมีลักษณะเหมือนในปัจจุบันเพื่อใช้ในการบิน
กำลังโหลดความคิดเห็น