การศึกษาของนักวิจัยญี่ปุ่นเผยว่าสเปิร์มหนูแช่แข็งที่ส่งขึ้นไปอยู่ในในอวกาศนานถึง 9 เดือนนั้นนำกลับมาผลิตลูกหนูที่สุขภาพแข็งแรงได้ ปูทางสู่การท่องอวกาศในระยะไกล อีกการศึกษาเผยรังสีส่งผลให้รังไข่เพศเมียเสียหายร้ายแรง
ความแรงของรังสีในอวกาศนั้นทำลายดีเอ็นเอของสเปิร์มได้ โดยปริมาณรังสีที่ได้รับบนอวกาศนั้นมากกว่าปริมาณบนโลกถึง 100 เท่า แต่รายงานจากเอพีระบุว่า ตัวอย่างของสเปิร์มหนูทดลองแช่แข็งถูกส่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อปี 2013 และกลับมายังโลกในปี 2014 นั้น ถูกนำไปผสมเทียมในหลอดทดลอง และได้ลูกหนูที่แข็งแรงออกมา อีกทั้งลูกหนูยังเติบโตเป็นตัวเต็มวัยที่ขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีปกติ
ในรายงานระบุว่า สเปิร์มที่นำกลับลงมายังโลกได้ทำให้เกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนในหลอดทดลองแล้วเติบโตเป็นตัวเต็มวัยปกติ บ่งบอกว่าดีเอ็นเอซึ่งเสียหายระหว่างเก็บสเปิร์มไว้ในอวกาศนั้น ได้รับการซ่อมแซมครั้งใหญ่หลังตัวอ่อนปฏิสนธิแล้ว แต่งานวิจัยนี้ไม่ได้บอกอะไรมากนักว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเกิดการปฏิสนธิในอวกาศ
การทดลองดังกล่าวนำโดย ซายากะ วากายามะ (Sayaka Wakayama) จากมหาวิทยาลัยยามานาชิ (University of Yamanashi) ในญี่ปุ่น ซึ่งกล่าวว่าการทดลองดังกล่าวเป็นก้าวไปสู่การขยายพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นซึ่งรวมถึงมนุษย์ โดยใช้วิธีเก็บรักษาสเปิร์มในอวกาศ
งานวิจัยดังกล่าวได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารโพรซีดิงออฟเดอะเนชันนัลอะคาเดมีออฟไซน์ส (Proceedings of the National Academy of Sciences) ซึ่งทีมวิจัยมองว่าภารกิจนี้ต้องใช้เวลายาวนานหลายปีหรืออาจหลายชั่วอายุคน ก่อนที่เทคโนโลยีสืบพันธุ์นี้จะใช้ได้ในสัตว์เลี้ยงหรือในคน
ก่อนหน้านี้มีการศึกษาการสืบพันธุ์ในอวกาศในสัตว์จำพวกปลาและสัตว์เลื้อยคลาน แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นเป็นเรื่องยากที่จะจัดการและรับมือในสภาวะของอวกาศ อีกทั้งการทดลองยังมีข้อจำกัด แต่ทีมวิจัยระบุว่า การศึกษาเรื่องการเก็บรักษาสเปิร์มในอวกาศยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำต่อ
นอกจากเรื่องการเตรียมลูกเรือสำหรับการท่องอวกาศระยะไกลแล้ว นักวิจัยยังมีเหตุผลในการเก็บรักษาสเปิร์มในอวกาศอย่างการเตรียมรับมือภัยพิบัติบนโลกด้วย โดยดวงจันทร์จะเป็นแหล่งที่เหมาะสมสำหรับฝังสเปิร์มเก็บไว้ เพราะมีอุณหภูมิต่ำ และช่วยป้องกันอันตรายจากรังสีในอวกาศ รวมถึงห่างไกลจากภัยพิบัติบนโลกด้วย
ทว่าการทดสอบผลของรังสีจากอวกาศต่ออวัยวะสืบพันธุ์ของหนูเพศเมียกลับไม่ไปได้สวยเหมือนสเปิร์ม โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสารรีโปรดัคชัน (Reproduction) ได้เผยว่ามีความเสียหายร้ายแรงต่อรังไข่หนูตัวเมียที่ได้รับอนุภาคมีประจุเทียบเคียงได้กับรังสีจากอวกาศ ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัย (premature ovarian failure) ในมนุษย์อวกาศที่ต้องท่องอวกาศในระยะไกล
อัลไรค์ ลูเดอเรอร์ (Ulrike Luderer) ศาสตราจารย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเออร์ไวน์ (University of California, Irvine) สหรัฐฯ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยผลกระทบของรังสีต่ออวัยวะสืบพันธุ์เพศเมียกล่าวว่า งานวิจัยของเธอเป็นเหตุผลว่าทำไมองค์การอวกาศสหรัฐฯ จึงเป็นกังวลต่อสุขภาพของมนุษย์อวกาศที่ท่องอวกาศไกลๆ
ลูเดอเรอร์กล่าวว่าการรังสีดังกล่าวเป็นสาเหตุให้รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยและมะเร็งรังไข่ได้ รวมถึงโรคกระดูกพรุน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคจากความเสื่อมของระบบประสาทอย่างอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งครึ่งหนึ่งของมนุษย์อวกาศในระดับการฝึกมนุษย์อวกาศรุ่นใหม่ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) นั้นเป็นผู้หญิง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ว่าอะไรส่งผลกระทบเรื้อรังต่อสุขภาพผู้หญิงที่ได้รับรังสีจากการเดินทางในอวกาศเป็นเวลานาน