พบ “ปลาไร้หน้า” ท่ามกลางสัตว์แปลกมากมายจากใต้ทะเลลึกที่ออสเตรเลีย ระหว่างการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษามหาสมุทรในส่วนที่ยังไม่เคยเข้าสำรวจมาก่อน คาดว่าหลายชนิดอาจจะเป็นสปีชีส์ใหม่
การสำรวจทะเลชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียนี้เอเอฟพีรายงานว่าจะกินเวลาร่วมเดินเดือน โดยมีเป้าหมายเพื่อสำรวจสิ่งมีชีวิตที่ซ่อนอยู่ในความมืดและหนาวเย็นในมหาสมุทรที่ความลึกลงไป 4 กิโลเมตรจากผิวทะเล โดยมีอุปกรณ์เป็นอวนคลื่นโซนาร์และกล้องสำรวจทะเลลึก
ทิม โอฮารา (Tim O'Hara) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย (Museums Victoria) ผู้สำรวจในการเดินทางครั้งนี้ บอกเอเอฟพีว่าพื้นที่สำรวจนั้นเป็นสภาพแวดล้อมบนโลกที่ไม่เคยได้รับการสำรวจมาก่อน
การสำรวจเริ่มขึ้นเมื่อ 15 พ.ค.2017 โดยเริ่มจากเมืองลอนเชสตันในแทสมาเนีย มุ่งหน้าขึ้นเหนือสู่ทะเลคอรัล (Coral Sea) ซึ่งนับแต่เริ่มสำรวจพวกเขาได้พบปูหินหนามแหลมสีแดง ปลาโลงศพตัวพองๆ แมงมุมทะเลตาบอด และปลาไหลทะเลลึก รวมถึงปลาไร้หน้าซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีบันทึกเพียงครั้งเดียวจากการสำรวจบุกเบิกของคณะลูกเรือหลวงเอชเอ็มเอสชาเลนเจอร์ (HMS Challenger) ที่ชายฝั่งปาปัวนิวกินีเมื่อปี 1873
โอฮาราบอกว่าปลาไร้หน้านั้นไม่มีตาหรือจมูกที่มองเห็นได้ชัด ส่วนปากนั้นซ่อนอยู่ด้านล่าง และบอกด้วยว่าที่ระดับความลึกมากดังกล่าวนั้นมืดมากจนสิ่งมีชีวิตมักไม่มีตาหรืออาจผลิตแสงด้วยตัวเองด้วยกระบวนการเรืองแสงชีวภาพ (bioluminescence)
นอกจากนี้ทีมสำรวจยังพบพองน้ำกินเนื้อที่มีชั้นหนามแปลกๆ ที่ผลิตขึ้นจากซิลิกอนดูคล้ายแก้ว และพบสัตว์เปลือกแข็งกลุ่มคลัสตาเชียนขนาดเล็กๆ ติดที่หนามคล้ายเส้นใยเวลโครของฟองน้ำและถูกย่อยอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นเทคนิคล่าเหยื่อที่แตกต่างจากฟองน้ำใต้ทะเลลึกส่วนมาก ที่กินแบคทีเรียและสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเป็นอาหารด้วยการกรองเหยื่อจากกระแสน้ำที่ไหลผ่านฟองน้ำ
“เรามีนักวิทยาศาสตร์อยู่บนเรือ 27 คน ซึ่งต่างเป็นผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าในสาขาของตัวเอง และพวกเขาบอกผมว่าสิ่งมีชีวิตที่พบประมาณ 1 ใน 3 นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่” โอฮารากล่าว ซึ่งแม้จะเหลือเวลาอีก 2 สัปดาห์ในการสำรวจ ตอนนี้พวกเขาได้ตัวอย่างหลายพันตัวอย่างแล้ว
ทั้งนี้ การใช้ชีวิตภายใต้ความลึกขนาดนั้นเป็นความกดดันอย่างยิ่ง เพราะไม่มีทั้งแสง อาหารน้อย และอุณหภูมิหนาวเย็นจนแช่แข็ง สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวจึงต้องวิวัฒนาการด้วยวิธีที่จำเพาะเพื่อจะมีชีวิตรอด
เนื่องจากอาหารนั้นมีน้อยสิ่งมีชีวิตบริเวณดังกล่าวจึงมักจะตัวเล็กและเคลื่อนที่อย่างช้าๆ ส่วนใหญ่เป็นสิ่งมีชีวิตคล้ายแมงกะพรุน และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ลอยล่องไปเรื่อยๆ ขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่นมีหนามและเขี้ยวที่ดูดุดันและจะรอให้เหยื่อเข้ามาหา
โอฮารายอมรับว่าการทำงานในสภาพแวดล้อมดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทาย ซึ่งในแต่ละครั้งที่ต้องตกตัวอย่างขึ้นมานั้นต้องใช้เวลานานถึง 7 ชั่วโมงเพื่อหย่อนและเก็บอุปกรณ์ที่มีสายเคเบิลยาวถึง 8 กิโลเมตรขึ้นมาจากก้นทะเล ทว่าการรวบรวมข้อมูลช่วยปรับปรุงความเข้าใจเกี่ยวกับถิ่นอาศัยใต้ทะเลลึกของออสเตรเลียได้มากขึ้น รวมถึงความเข้าใจในความหลากหลายทางชีวภาพ และกระบวนการเชิงนิเวศที่ทำให้ถิ่นอาศัยนั้นยั่งยืนด้วย และจะช่วยในงานอนุรักษ์และจัดการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมนี้จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มลภาวะและกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์