xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.เตรียมยกเลิกโครงการ “ติดแท็กพะยูน” หวั่นเกิดผลกระทบตามมา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - สวทช.รับปากชาวประมงพื้นบ้านและเครือข่าย ยกเลิกโครงการติดแท็กพะยูน ซึ่งดำเนินการโดยอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เพราะขาดการมีส่วนร่วม พร้อมทั้งหวั่นเกิดผลกระทบต่อตัวพะยูน

วันนี้ (1 มิ.ย.) ที่มูลนิธิอันดามัน ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง ตัวแทนชมรมประมงพื้นบ้าน และมูลนิธิอันดามัน นำโดย นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน นายอะเหร็น พระคง ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง พร้อมตัวแทนเครือข่ายจาก 5 อำเภอ ได้ร่วมหารือกับคณะนักวิชาการจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้ประสานงานโครงการฯ ติดแท็กพะยูน โดยมี นางรังสิมา ตัณฑเลขา ผอ.โปรแกรมความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นตัวแทนพูดคุย
 

 
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากกรณีที่ ดร.มาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หน.อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง พร้อมทีมนักวิจัย ได้ทำการติดสัญญาณดาวเทียมติดตามตัว หรือติดแท็กบริเวณส่วนหางของพะยูน ยาวประมาณ 3 เมตร จำนวน 3 ตัว ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการดำเนินการครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากครั้งแรกถูกคัดค้านอย่างหนักจากชมรมประมงพื้นบ้าน และชาวบ้านในพื้นที่ ถึงความไม่มั่นใจในวิธีการดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะกระทบ และเกิดอันตรายต่อพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์สงวนหายากในท้องทะเลไทย

โดยที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงปัญหาในการติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณดาวเทียมติดตามตัวพะยูน รวมทั้งความยาว และทุ่นสัญญาณที่ใช้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตราย และเสี่ยงต่อการตายของพะยูน อีกทั้งข้อมูลหลังจากการติดตั้งบอกเฉพาะวิถีชีวิตของพะยูนเฉพาะตัวที่ติดสัญญาณเท่านั้น ไม่มีนัยที่สำคัญต่อความรู้เกี่ยวกับพะยูนตัวอื่นในทะเลตรัง เช่นเดียวกับการเก็บตัวอย่างพันธุกรรมของพะยูนทั้ง 3 ตัว ก็เป็นจำนวนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างพันธุกรรมพะยูนที่มีมากกว่า 200 ตัว
 

 
นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน กล่าวว่า จากการที่ชาวบ้านชุมชนชายฝั่ง ได้ร่วมกันจัดทำเขตอนุรักษ์มาตั้งแต่ปี 2550 ทำให้มีแหล่งหญ้าทะเลเพิ่มขึ้นจาก 7,000 ไร่ เป็นกว่า 9,000 ไร่ และล่าสุด การบินสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็พบพะยูนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการจัดทำงานวิจัยติดแท็กพะยูนดังกล่าวก็ขาดการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ และชาวบ้านชุมชนชายฝั่งไม่ได้มีส่วนร่วม จึงร้องขอให้ สวทช.ทำการปลดแท็กพะยูนทันที และให้ยุติโครงการดังกล่าว

นายอิสมาแอล เบ็ญสะอาด ประธานชมรมการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ลิบง จ.ตรัง กล่าวว่า การติดแท็กพะยูนที่ผ่านมาส่งผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะวิถีชีวิตของพะยูน และอาจถึงตายได้หากยังปล่อยให้มีการติดสัญญาณดาวเทียมต่อไป จึงได้มีการส่งจดหมายเปิดผนึกไปยัง 3 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อให้มีการยกเลิก หรือทบทวนโครงการติดแท็กพะยูนทันที
 

 
ด้าน นางรังสิมา ตัณฑเลขา ผอ.โปรแกรมความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนชมรมประมงพื้นบ้าน และสมาชิกเครือข่ายแล้วเห็นว่า โครงการติดแท็กพะยูนควรจะต้องมีการชะลอไปก่อน เพื่อให้นักวิชาการทั้งใน และต่างประเทศศึกษาความเป็นไปได้ให้ดีที่สุด พร้อมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นความล้มเหลว แต่นับเป็นบทเรียนที่ดีของการทำวิจัยเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนต้องมีส่วนร่วม

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการนี้ทาง สวทช.ได้สนับสนุนงบประมาณให้ปีละกว่า 1,000,000 บาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการเบิกจ่ายใดๆ ซึ่งก็คงต้องยกเลิกไปก่อน ส่วนจะมีการปลดแท็กพะยูนเมื่อใดอย่างไรนั้นคงต้องรอผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง
 

กำลังโหลดความคิดเห็น