xs
xsm
sm
md
lg

2016 อาร์กติกทำสถิติร้อนที่สุด นักวิทย์ยืนยันไม่ใช่การเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นี่ไม่ใช่ภาพตัดต่อแสงเหนือ แต่เป็นภาพประกอบข่าวที่บอกว่าปี 2016 นี้อาร์กติกทำสถิติร้อนที่สุด กระตุ้นให้เกิดการละลายของน้ำแข็งครั้งใหญ่ และยังส่งผลต่อฤดูกาลที่ผิดเพี้ยนด้วย (OLIVIER MORIN / AFP )
นักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ เผยอาร์กติกทำลายสถิติร้อนที่สุดในปี 2016 กระตุ้นให้เกิดการละลายของน้ำแข็งครั้งใหญ่ นักวิทยาศาสตร์ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองสหรัฐฯ

การประเมินนี้มาจากบันทึกรายงานอาร์กติก 2016 (Arctic Report Card 2016) ขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือโนอา (NOAA) ซึ่งได้แจกจ่ายให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก 61 รายร่วมวิพากษ์วิจารณ์

รายงานของโนอานี้ครอบคลุมตั้งแต่เดือน ต.ค.2015- ก.ย.2016 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รายงานระบุว่าอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยตลอดปีเหนือพื้นดินของอาร์กติกนั้นสูงที่สุดเท่าที่บันทึกมา โดยเอเอฟพีระบุว่า รายงานดังกล่าวเปิดเผยภายในการประชุมสหพันธ์ธรณีฟิสิกส์อเมริกัน ณ ซานฟรานซิสโก เมื่อเร็วๆ นี้

เจเรมี มาธิส (Jeremy Mathis) ผู้อำนวยการโครงการวิจัยอาร์กติกของโนอา กล่าวว่า รายงานปีนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีสัญญาณบ่งบอกถึงความร้อนที่มากขึ้นและชัดเจนขึ้นกว่าปีก่อนๆ ที่มีการบันทึกการสำรวจ ซึ่งย้อนกลับไปถึงปี 1900 และปรากฏการณ์ความร้อนที่มากขึ้นนี้ได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสภาพแวดล้อม

จากรายงานระบุว่าอุณหภูมิของอากาศเหนือพื้นดินอาร์กติกของปี 2016 นั้นสูงกว่าเมื่อปี 1900 อยู่ 6.3 องศาเซลเซียส

โดนัลด์ เปโรวิช (Donald Perovich) ผู้ร่วมการศึกษารายงานครั้งนี้ และทำงานที่วิทยาลัยวิศวกรรมธาเยอร์ (Thayer School of Engineering) ของมหาวิทยาลัยดาร์มมัธ (Dartmouth College) ในรัฐนิวแฮมเชียร์ สหรัฐฯ กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมแย่ลงอย่างต่อเนื่องนับแต่นักวิทยาศาสตร์เริ่มทำรายงานประจำปี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 11 แล้ว

“ตอนเริ่มต้น คุณก็ต้องตั้งใจฟังให้ดีเพราะอาร์กติกกระชิบบอกเบาๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลง แต่ตอนนี้ไม่ใช่การกระซิบบอกอีกต่อไปแล้ว มันเป็นการบอกกล่าวว่ามีการเปลี่ยนแปลง มันกำลังตะโกนว่ามีการเปลี่ยนแปลง” เปโรวิชระบุ

ตอนนี้บริเวณแถบอาร์กติกกำลังร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยความเร็วมากกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกเป็น 2 เท่า ซึ่งคาดการณ์ด้วยว่าจะได้ระบุปีที่ร้อนที่สุดของทวีปนี้ในยุคสมัยใหม่

นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศระบุถึงเหตุผลที่ทำให้อุณหภูมิของอาร์กติกสูงขึ้นว่า เกิดจากทั้งการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งปลดปล่อยก๊าซที่กักเก็บความร้อนไว้ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงลมจากทางใต้ที่พัดเอาอากาศร้อนจากละติจูดที่อยู่ล่างๆ ขึ้นไป รวมถึงกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่สิ้นสุดไปเมื่อกลางปีด้วย

อุณหภูมิพื้นผิวทะเลในช่วงกลางฤดูร้อนเมื่อเดือน ส.ค.2016 นั้นแตะที่ 5 องศาเซลเซียส ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 1982-2010 ของทะเลบาเรนท์สและชุกชิ รวมถึงชายฝั่งตะวันตกและตะวันออกของกรีนแลนด์

เปโรวิชกล่าวว่าอุณหภูมิร้อนของอากาศและมหาสมุทรเมื่อฤดูใบไม้ร่วงนั้น ทำให้เกิดความล่าช้าเป็นประวัติการณ์ของฤดูใบไม้ร่วงที่หนาวเย็นเป็นน้ำแข็ง พร้อมทั้งชี้ว่าช่วงที่ทะเลอาร์กติกลดน้อยที่สุดตั้งแต่ช่วงกลาง ต.ค.-ปลาย พ.ย.ที่ผ่านมานี้ ลดต่ำที่สุดนับแต่เริ่มมีการบันทึกด้วยดาวเทียมเมื่อปี 1979 และยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดือน ต.ค.ของปี 1981-2010 ประมาณ 28%

นอกจากนี้น้ำแข็งที่จับตัวในฤดูหนาวของอาร์กติกนั้นยังบางกว่าปกติ และเกิดจากการหิมะที่ทับถมเพียงปีเดียว แทนที่จะเป็นชั้นหิมะหนาที่สะสมต่อเนื่องหลายปี โดยเมื่อปี 1985 น้ำแข็งของทะเลอาร์กติกเกือบครึ่งหนึ่งคือประมาณ 45% นั้นเป็นน้ำแข็งที่เกิดจากการทับถมหลายปี แต่ตอนนี้เหลือเพียง 22% และที่เหลือเป็นน้ำแข็งที่สะสมเพียงปีเดียว

แผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ยังคงลดลงและสูญเสียมวลเหมือนทุกปีที่เกิดขึ้น นับแต่ปี 2002 ที่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลด้วยดาวเทียม และการละลายของน้ำแข็งยังเริ่มเร็วขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ถือเป็นสถิติการเริ่มละลายเร็วขึ้นเป็นอันดับ 2 นับแต่เริ่มบันทึกการสังเกตมา 37 ปี และยังใกล้เคียงกับปี 2012 ที่ทำสถิติการเริ่มละลายของน้ำแข็งเร็วที่สุด

นอกจากนี้หิมะในช่วงฤดูใบไม้ผลิยังแถบอาร์กติกของอเมริกาเหนือยังทำสถิติลดต่ำลงในเดือน พ.ค. เมื่อพื้นที่มีหิมะตกลดต่ำกว่า 4 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นครั้งแรกนับแต่เริ่มการสำรวจด้วยดาวเทียมเมื่อปี 1967

การละลายของน้ำแข็งเมื่อรวมเข้ากับหดขนาดลงของน้ำแข็งทะเล ยังส่งผลให้แสงอาทิตย์ลอดผ่านชั้นบนของมหาสมุทร และกระตุ้นให้เกิดสาหร่ายบูมกระจายเป็นวงกว้าง ขณะเดียวกันทั้งคนและสัตว์ที่อาศัยอยู่แถบอาร์กติกก็เดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนี้ด้วย

มหาสมุทรที่เป็นกรดยิ่งซ้ำเติมสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรที่จำเป็นต้องใช้แคลเซียมคาร์บอนเนตเพื่อสร้างเปลือกและกระดอง และส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบดังกลาว ซึ่งต้องอาศัยสัตว์น้ำเป็นอาหาร และยังมีรายงานว่าหนูชรูว (shrew)สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กนั้นติดเชื้อปรสิตมากขึ้น ซึ่งเป็นปรสิตที่ก่อโรคในนกตามชายฝั่ง นั่นแสดงว่ามีการเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิตบางชนิดขึ้นสู่ขั้วโลกเหนือมากขึ้น
เปโรวิชกล่าวว่า อาร์กติกจะไม่มีน้ำแข็งเลยในช่วงฤดูร้อนภายในปีทศวรรษ 2040s และเสริมว่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

เมื่อนักข่าวถามว่ารายงานนี้ถูกตบแต่งเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองสหรัฐฯ ในขณะนี้หรือไหม? เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่าการอ้างเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นเป็นเรื่องลวงจากจีน รวมทั้งเตรียมแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาซึ่งมีผู้ปฏิเสธเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรวมอยู่ด้วย

เมธิสปฏิเสธชัดเจนว่าไม่ และบอกว่ารายงานฉบับนี้เป็นงานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่พวกเขาจะทำได้ และอยู่เหนือการถูกติทั้งปวง






InClips:โลกจับตา“อีวังกา ทรัมป์”หลังคุยโลกร้อนกับ “อัล กอร์” โนเบลสันติภาพ An Inconvenient Truth  ร่วมกับพ่อ “ว่าที่ปธน.สหรัฐฯ” บนตึกบัญชาการรบทรัมป์ ทาวเวอร์
InClips:โลกจับตา“อีวังกา ทรัมป์”หลังคุยโลกร้อนกับ “อัล กอร์” โนเบลสันติภาพ An Inconvenient Truth ร่วมกับพ่อ “ว่าที่ปธน.สหรัฐฯ” บนตึกบัญชาการรบทรัมป์ ทาวเวอร์
เป็นกระแสไปทั่วหลังมีภาพปรากฎระหว่างอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯพรรคเดโมแครต อัล กอร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2007 ผู้เปิดปัญหาภาวะโลกร้อน ข้ามค่ายเดินทางไปทรัมป์ทาวเวอร์ นิวยอร์ก ในวันจันทร์(5 ธ.ค)พบกับ อีวังกา ทรัมป์ ลูกสาวและว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน ที่เคยทวีตปี 2014 ท่ามกลางวิกฤตโพลาร์ วอร์เทกซ์ มีความหนาวเยือกติดลบ 50 องศาเซลเซียส ตั้งคำถาม “พวกเรากำลังผจญกับภัยความหนาวมากที่สุดในรอบกว่า 20 ปี ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยประสบมาก่อน แล้วยังจะ “ภาวะโลกร้อน” กันอยู่อีกไหม???” และการพบกันทำให้สื่อสหรัฐฯสนใจและจับตาถึงบทบาทของอีวังกา และอำนาจต่อการทำนโยบายสหรัฐฯในรัฐบาลทรัมป์
กำลังโหลดความคิดเห็น