xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดที่ประชุม กนง.วันที่ 9 พ.ย. จะมีมติคง ดบ.ที่ระดับ 1.50%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดที่ประชุม กนง.นัดหน้า 9 พ.ย. จะมีมติให้คงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.50% เพื่อรอประเมินสถานการณ์หลังเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยมองว่าความเสี่ยงจากประเด็นการเมืองสหรัฐฯ ที่กำลังมีน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งตลาดกำลังจับตาเพื่อรอดูความชัดเจน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 พ.ย.59 จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่อง เพื่อรอประเมินปัจจัยต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ อาทิ สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงเหลือของปีนี้ และปีหน้า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ รวมไปถึงท่าทีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ซึ่งคงจะทยอยมีรายละเอียด และความชัดเจนมากขึ้นหลังการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย.นี้ผ่านพ้นไป

ทั้งนี้ มองว่าความเสี่ยงจากประเด็นการเมืองสหรัฐฯ ที่กำลังมีน้ำหนักมากขึ้นในช่วงนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ทุกภาคส่วนเฝ้าติดตามนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลังจากนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากท่าที และนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่จะมีผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมไปถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสหรัฐฯ ที่พลิกผัน สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยปรับดีขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา น่าจะเอื้อให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในรอบเดือน ธ.ค.59

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง.น่าจะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินในรอบการประชุมวันที่ 9 พ.ย.นี้ โดยมองว่า กนง.น่าจะรอทิศทางที่ชัดเจนจากปัจจัยข้างต้น ก่อนที่จะมีการประเมินถึงระดับนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย. และไตรมาส 3/59 หลายตัวยังคงให้ภาพการทยอยฟื้นตัวดีขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัว 5 เดือนติดต่อกัน อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวยังคงสามารถรักษาระดับการขยายตัวได้ดีอยู่ ขณะที่ภาคการส่งออกที่เคยเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กลับเริ่มมีสัญญาณที่ฟื้นตัวขึ้น

ดังนั้น ด้วยภาพการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายส่วนที่ยังสามารถประคองการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่แรงหนุนจากมาตรการทางการคลังของภาครัฐ อาทิ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรอบใหม่ (ซึ่งคงเป็นอีกปัจจัยช่วยให้ความเสี่ยงด้านลบของภาคการบริโภคมีจำกัด) ก็คงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ และเพียงพอในการรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยสำหรับทั้งปี 59 ให้เติบโตใกล้เคียง 3.3% ได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ว่าการส่งสัญญาณถึงจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ที่เข้ามาใกล้มากขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลให้เกิดความผันผวน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการไหลออกของเงินทุนจากตลาดประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งไทย อันส่งผลให้สภาพคล่องในระบบทยอยปรับตึงตัวขึ้น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลของการลดลงของสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกต่อไทย คงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยสภาพคล่องคงค้างในตลาดการเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมสัญญาว่าจะขายคืน หรือซื้อคืน (Repo Market) ของไทยยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยมีมูลค่าธุรกรรมคงค้างกว่า 1.6 ล้านล้านบาท เพียงพอต่อการสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อ รวมทั้งความต้องการระดมทุนของภาครัฐฯ และเอกชนในช่วงปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังเปิดช่องให้สถาบันการเงินที่เป็นไพรมารี ดีลเลอร์ สามารถยกเลิก/คืนธุรกรรม Bilateral Repo (BRP) ก่อนครบกำหนด อันเป็นหลักประกันในการสร้างความมั่นใจต่อความเพียงพอของสภาพคล่องในระบบการเงินไทยอีกทางหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น