xs
xsm
sm
md
lg

ระบุ‘ปูติน’แค้น‘คลินตัน’ สั่งการตรง‘แฮก’เลือกตั้งUSเพื่อให้‘ทรัมป์’ชนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<i>วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซีย (ซ้าย)  ทักทาย ฮิลลารี คลินตัน ในตอนที่เธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ  เอ็นบีซีนิวส์ของเครือข่ายทีวียักษ์ใหญ่อเมริการะบุว่า เวลานี้ฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯเชื่อว่า ปูตินมีบทบาทโดยตรงในการสั่งเผยแพร่ข้อมูลลับที่แฮกได้จากพรรคเดโมแครต ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้คลินตันพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดี </i>
เอเอฟพี/MGRออนไลน์ – พวกเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองของสหรัฐฯเวลานี้เชื่อว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการแฮกและเผยแพร่ข้อมูลลับซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในอเมริกา โดยเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของผู้นำหมีขาวผู้นี้ที่จะตอบโต้แก้แค้นฮิลลารี คลินตัน เอ็นบีซีนิวส์ ของเครือข่ายทีวียักษ์ใหญ่สหรัฐฯรายงานเรื่องนี้ในคืนวันพุธ (14 ธ.ค.)

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็มีข่าวว่า จากการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิเสธแบบมะนาวไม่มีน้ำต่อข้อสรุปของซีไอเอในเรื่องมอสโกแทรกแซงการเลือกตั้งอเมริกัน แถมไม่สนใจรับฟังรายงานสรุปด้านข่าวกรอง กำลังทำให้เกิดรอยร้าวฉานระหว่างว่าที่ประธานาธิบดีผู้นี้ กับหน่วยงานซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข่าวลับและปฏิบัติงานจารกรรมทั่วโลกอันทรงความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการกำหนดนโยบาย

รายงานข่าวของเอ็นบีซีนิวส์ซึ่งอ้างเจ้าหน้าที่อาวุโส 2 รายที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้บอกว่า ปูตินเป็นผู้สั่งการด้วยตนเองว่าจะนำเอาข้อมูลลับซึ่งแฮกได้จากพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ มาแอบปล่อยเผยแพร่และใช้ประโยชน์กันอย่างไร โดยที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ “มีความเชื่อมั่นในระดับสูง” เกี่ยวกับการประเมินครั้งใหม่คราวนี้

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เป็นผู้ที่เสนอข่าวว่า สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ได้จัดทำรายงานประเมินซึ่งระบุว่า รัสเซียได้แฮกอีเมลของตัวบุคคลและสถาบันต่างๆ ของสหรัฐฯ โดยมุ่งใช้เป็นวิธีหนึ่งในการปั่นการเลือกตั้งคราวนี้ให้เป็นผลดีต่อทรัมป์ ผู้สมัครของพรรครีพับลิกัน ซึ่งในที่สุดเขาก็สามารถเอาชนะคลินตันได้อย่างสุดช็อกในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน

ปูตินนั้นถูกระบุว่าไม่เคยเลยที่จะยอมยกโทษให้คลินตัน ซึ่งในตอนที่เธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ตั้งคำถามอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าการเลือกตั้งรัฐสภาในรัสเซียเมื่อปี 2011 ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม รวมทั้งเขายังกล่าวหาเธอว่าเป็นผู้หนุนหลังส่งเสริมให้มีการประท้วงตามท้องถนนในแดนหมีขาวด้วย

เจ้าหน้าที่ข่าวกรองเหล่านี้บอกกับเอ็นบีซีนิวส์ว่า เป้าหมายของปูตินในการปฏิบัติการแฮกข้อมูลคราวนี้ เริ่มต้นขึ้นด้วยความต้องการที่จะแก้แค้นคลินตัน

แต่ต่อมามันก็ถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นความพยายามอันมีจุดมุ่งหมายกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม นั่นคือต้องการแสดงให้เห็นว่าโลกแห่งการเมืองสหรัฐฯนั้นอุดมด้วยการทุจริตคดโกงกัน โดยที่เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งใช้คำพูดว่า เพื่อ “สร้างความแตกแยกในหมู่พันธมิตรสำคัญๆ ของอเมริกัน ด้วยการสร้างภาพให้เห็นไปว่า (ประเทศอื่นๆ) ไม่สามารถที่จะพึ่งพาสหรัฐฯในฐานะผู้นำโลกที่น่าเชื่อถืออีกต่อไปแล้ว”

ข่าวของเอ็นบีซีนิวส์ยังอ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯหลายคนกล่าวว่า ทางด้านสหรัฐฯกำลังมีการตระเตรียมสำหรับการตอบโต้แก้เผ็ดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการที่หน่วยงานข่าวกรองต่างๆ ของอเมริกากำลังเพิ่มความเข้มข้นในการสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับความร่ำรวยส่วนตัวของปูติน
<i>ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ บอกว่า “น่าหัวเราะ” ต่อข่าวที่ว่าซีไอเอทำรายงานประเมินว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อให้ตัวเขามีชัยหนือ ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครของพรรคเดโมแครต </i>
อย่างไรก็ดี สำหรับว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมปีหน้านั้น กลับเป็นผู้ที่พูดถึงปูตินอย่างเป็นมิตรชิดเชื้อ และปฏิเสธไม่ยอมรับข้อกล่าวหาที่ว่ารัสเซียคือผู้อยู่เบื้องหลังการแฮกระบบคอมพิวเตอร์ของคณะกรรมการแห่งชาติของพรรคเดโมแครต ตลอดจนบุคคลผู้มีความใกล้ชิดกับคลินตัน โดยกล่าวอย่างไม่ให้ราคาว่า ข้อกล่าวหาเช่นนี้ “น่าหัวเราะเยาะ” ถึงแม้สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯชั้นนำหลายคน รวมทั้งจากพรรครีพับลิกันของทรัมป์เองด้วย เห็นว่าข้อกล่าวหานี้มีความสำคัญและเป็นเรื่องอันตรายร้ายแรง ควรที่จะต้องสืบสวนสอบสวนให้กระจ่าง

อดีตเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของซีไอเอหลายคนกล่าวว่า การที่ทรัมป์ปฏิเสธการประเมินของซีไอเอเช่นนี้ แล้วอาจสร้างความเสียหายอย่างที่สุดให้แก่การกำหนดโยบายอันสำคัญยิ่งต่างๆ ของสหรัฐฯ เว้นแต่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกันกับหน่วยงานแห่งนี้จะสามารถคืนดีราบรื่นขึ้นมาใหม่ในอนาคต

พวกเขาบอกว่าทรัมป์กำลังทำให้ความสัมพันธ์ย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ ทั้งด้วยการหัวเราะเยาะซีไอเอ และด้วยการบอกปัดมองไม่เห็นความจำเป็นของการปฏิบัติอันเป็นประเพณีแต่ไหนแต่ไรมาที่ประธานาธิบดีต้องคอยรับฟังรายงานสรุปประจำวันจากพวกที่ปรึกษาด้านความมั่นคงระดับท็อปของเขา

“ผมคิดว่าท่านว่าที่ประธานาธิบดีเป็นชาวอเมริกันคนสำคัญยิ่งเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ยังไม่ยอมรับว่าพวกรัสเซียได้ดำเนินการรณรงค์แผ่อิทธิพลอย่างลับๆ แต่ใหญ่โตมโหฬารเพื่อเล่นงานสหรัฐฯ” ไมเคิล เฮย์เดน อดีตผู้อำนวยการซีไอเอ บอกกับโทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นในวันพุธ (14)

เฮย์เดน พร้อมกับ เลียน เพเนตตา อดีตผู้อำนวยการซีไอเออีกคนหนึ่ง ต่างได้เตือนว่าการที่ทรัมป์เพิกเฉยไม่ใยดีต่อหน่วยงานนี้ บ่งบอกให้เห็นถึงความลำบากติดขัดตั้งแต่เริ่มต้นในความสัมพันธ์อันสำคัญยิ่งยวดนี้ ทั้งนี้ซีไอเอเป็นหน่วยงานซึ่งกุมงานข่าวลับและการจารกรรมทั่วโลกของอเมริกา
<i>ไมเคิล เฮย์เดน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการซีไอเอ ในช่วงประธานาธิดบีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ต่อมาจนถึงสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา </i>
“ข่าวกรองควรเป็นสิ่งที่ถูกเรียกมารายงาน เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานและการกำหนดขนาดขอบเขตสำหรับทางเลือกต่างๆ อันสมเหตุสมผลทางด้านนโยบาย” เฮย์เดนกล่าว

“ทว่าโอกาสที่เรื่องอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ดูเหมือนมืดมนลงหลังจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา และเรากำลังเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ผิดพลาด”

เฮย์เดนกล่าวด้วยว่า จากการปฏิเสธไม่ยอมรับทัศนะของซีไอเอ ย่อมมีผลเท่ากับว่าทรัมป์เลือกที่จะเห็นพ้องกับปูติน ซึ่งเป็นผู้ที่ผู้คนส่วนใหญ่ที่สุดในแวดวงวอชิงตันมองว่าเป็นปรปักษ์ที่มีอันตราย

“ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคราวนี้ สิ่งที่มิสเตอร์ทรัมป์พูดถึงมัน คือสิ่งเดียวกันกับที่มิสเตอร์ปูตินพูดถึงมัน”

ทรัมป์บอกว่าทัศนะของซีไอเอ “น่าหัวเราะ”

ในการให้สัมภาษณ์ออกอากาศทางโทรทัศน์เมื่อวันอาทิตย์ (11) ทรัมป์ประทับตราข้อสรุปของซีไอเอในเรื่องซีไอเอแทรกแซงการเลือกตั้งว่า “น่าหัวเราะ” และกล่าวแก้อย่างง่ายๆ ว่านี่คือความโกรธเกรี้ยวของทางฝ่ายเดโมแครตจากการที่ปราชัยการเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายน

“พวกเขาไม่ได้มีไอเดียหรอกว่ามันเป็นฝีมือของรัสเซียหรือของจีนหรือของใครสักคนหนึ่ง มันอาจจะเป็นของใครสักคนซึ่งกำลังนั่งอยู่บนเตียงที่ไหนสักแห่งก็ได้” ทรัมป์กล่าว

เวลาเดียวกันนั้น ทีมงานรับมอบตำแหน่งของเขาก็ออกคำแถลงที่กระแทกกลับอย่างเจ็บแสบยิ่งกว่าตัวทรัมป์เสียอีก ในการปฏิเสธความคิดเห็นของซีไอเอ

“พวกเขาเหล่านี้ก็คือพวกเดียวกับที่เคยพูดว่า ซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธทำลายร้ายแรงนั่นเอง” ทีมงานของทรัมป์แถลงเช่นนี้
<i>ห้องโถงของสำนักงานใหญ่ซีไอเอ ในเมืองแลงลีย์ รัฐเวอร์จิเนีย  </i>
อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอหลายรายเรียกคำแถลงนี้ว่า “แสดงความดูหมิ่น” และเตือนว่ามันสร้างความเสียหายให้แก่ขวัญกำลังใจของหน่วยงานแห่งนี้ ซึ่งมีความภาคภูมิใจในเรื่องการออกรายงานประเมินที่ไม่เอนเอียงเข้าข้างใดในทางการเมือง

แจ๊ก ดีไวน์ ผู้มีประสบการณ์อยู่ในซีไอเอมาถึง 32 ปีและเป็นอดีตรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของสำนักงานแห่งนี้ บอกกับเอเอฟพีว่า สิ่งที่ทรัมป์กำลังทำอยู่ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ “ไม่เคยปรากฏมาก่อน”

“ผมคิดว่ามันเป็นความผิดพลาดใหญ่ที่เหยียดหยามผลิตภัณฑ์ทางข่าวกรองชิ้นนี้ต่อหน้าสาธารณชน และยังขยายมาถึงสถาบันแห่งนี้ด้วย” เขากล่าว

ดีไวน์ ซึ่งเวลานี้เป็นประธานของ “อาร์คิน กรุ๊ป” บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงในนิวยอร์ก ย้ำว่า ซีไอเอเป็นสถาบันซึ่งทรัมป์จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยในทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง

“ผมเป็นห่วงว่าการถ่มน้ำลายใส่ต่อหน้าสาธารณชนคราวนี้ อาจนำไปสู่ประเด็นปัญหาด้านขวัญกำลังใจภายในสำนักงาน ผู้คนจะพากันลาออกกันก่อนเวลาอันควร มันมีผลต่อเนื่องหลังจากนี้”

เฮนรี ครัมป์ตัน อดีตเจ้าหน้าที่มากประสบการณ์อีกคนหนึ่งของซีไอเอ ก็มองว่า ไม่ใช่ถึงกับเป็นเรื่องผิดปกติหรอกสำหรับการที่ทำเนียบขาวกับซีไอเอจะมีข้อสรุปที่แตกต่างกันจากข่าวกรองเรื่องเดียวกัน โดยตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือเรื่องอิรัก ในช่วงคณะบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช

“สิ่งที่ผิดกว่าธรรมดามากอยู่ตรงที่ว่าที่ประธานาธิบดีกำลังพูดถึงความเห็นแตกต่างจากประชาคมข่าวกรองนี้ด้วยเสียงดังลั่นและในลักษณะที่ไม่ให้ความเคารพและแสดงการดูหมิ่น” เขาบอกกับเอเอฟพี
<i>ไมก์ ปอมเปโอ ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเสนอชื่อเพื่อเป็นผู้อำนวยการซีไอเอ เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ </i>
ทำลายความน่าเชื่อถือของซีไอเอ

พวกนักวิจารณ์ชี้ว่า ทรัมป์ไม่เพียงแค่ปฏิเสธข่าวกรองเรื่องรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งเท่านั้น เขายังเชิดหน้าใส่ซีไอเอด้วยการปฏิเสธไม่ทำตามประเพณีในการรับฟังการบรรยายสรุปด้านข่าวกรองประจำวันของหน่วยงานนี้

“ผมจะเรียกมา (บรรยายสรุป) เมื่อผมจำเป็นต้องใช้” เขากล่าว “อย่างว่าแหละ ผมนะเป็นคนฉลาดเฉียงแหลม ผมไม่ต้องการที่จะได้รับการบอกเล่าเรื่องเดียวกันและคำพูดอย่างเดียวกันในแต่ละวันทุกๆ วันตลอดช่วง 8 ปีข้างหน้าหรอก”

ตามความเห็นของครัมป์ตัน จุดยืนเช่นนี้ทำให้ ส.ส.ไมก์ ปอมเปโอ ซึ่งทรัมป์ระบุเสนอชื่อให้เป็นผู้อำนวยการซีไอเอของเขา อยู่ในฐานะที่ลำบากมาก ทั้งในด้านการสร้างความปรองดองกับพวกเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน และในการทำให้ทรัมป์เคารพเชื่อถือหน่วยงานนี้

ครัมป์ตันกล่าวว่า มันไม่ใช่เป็นเพียงแค่ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับขวัญกำลังใจและความเคารพเชื่อถือเท่านั้น เพราะในสายบังคับบัญชาแล้ว โดยผ่านทางผู้อำนวยการซีไอเอ ประธานาธิบดีก็คือผู้ที่สั่งการปฏิบัติการปิดลับทั้งหลายในภาคสนาม

“นี่จำเป็นต้องมีความไว้วางใจกันและความเชื่อมันกัน” เขาบอก

ยิ่งกว่านั้น จากการที่ทำเนียบขาวไม่ได้มองเห็นคุณค่า ยังอาจสร้างความเสียหายให้แก่ชื่อเสียงเกียรติคุณของหน่วยงานนี้ในระดับทั่วโลกอีกด้วย

“ประธานาธิบดีคือลูกค้าหมายเลขหนึ่งของข่าวกรองซีไอเอ” ครัมป์ตันชี้

“ถ้าประธานาธิบดีปฏิเสธไม่ยอมรับข่าวกรองเหล่านี้ บางทีมันก็จะก่อให้เกิดความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของหน่วยงานนี้ ในหมู่หน่วยข่าวกรองต่างประเทศขึ้นมา”

กำลังโหลดความคิดเห็น