xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทย-สหรัฐฯ สวิงตรงข้าม เรามาถึงจุดนี้ได้ไง !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



หากพูดกันตามศัพท์แสงในสังคมโซเชียลยุคปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่า “เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร” สำหรับการเมืองในสหรัฐอเมริกา ที่ว่ากันว่า เละเทะวุ่นวายมากที่สุด และหลายฝ่ายยังเชื่อว่าความปั่นป่วนวุ่นวายยังคงมีอยู่ต่อไป ไม่ว่าผู้สมัครจากพรรคการเมืองใด นั่นคือ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน หรือ ฮิลลารี คลินตัน จากเดโมแครต จะชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธาธิบดีก็ตาม

การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นับเป็นการเลือกตั้งที่ถูกชาวโลกเฝ้ามองด้วยความรู้สึกหลายประเภท นั่นคือ ทั้งลุ้นว่าฝ่ายไหนจะชนะการเลือกตั้ง ใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ขณะที่คนอีกไม่น้อยมองดูด้วย “ความสมเพช” พร้อมกับตั้งคำถามว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ไปได้

ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าใครก็ตามที่แม้ว่าจะตั้งใจสนใจการเมืองของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ก็ตาม คงไม่เคยปรากฏการณ์แบบนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้สมัครคู่แข่งขันกันเป็นประธานาธิบดีจากทั้งสองพรรคที่มีแต่เสียง “ยี้” ทั้งจากคนอเมริกัน และจากคนทั่วโลก แม้ว่าในสมัยก่อนในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจะมีการขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวมาดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ครั้งนี้มันมีมากมายจนเรียกว่าสร้างความ “ด่างพร้อย” แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ระหว่างการหาเสียงก็มีเหตุวุ่นวาย มีประท้วง บางครั้งถึงขั้นจลาจลย่อมๆ และเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาจนถึงวันหย่อนบัตรลงหีบเลือกตั้ง มีทั้งก่อเหตุยิงกันจนมีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บ หรือการประท้วงผู้สมัครด้วยวิธีการแปลกๆ มีอยู่ตลอดเวลา

นี่ยังไม่นับกรณีที่มีเค้าลางว่าจะเกิดเหตุวุ่นวายตามมา หากผลการนับคะแนนแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ พ่ายแพ้ เพราะเขาประกาศเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า “มีการโกงการเลือกตั้ง” และมีแนวโน้มเป็นไปได้เหมือนกันว่าเขาจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน อีกด้าหนึ่งหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง มันก็จะวุ่นวายกันเหมือนกัน จึงทำให้เป็นที่จับตาอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ดี สำหรับผลการนับคะแนนก็คงทราบผลกันไปแล้วแม้ว่าคะแนนจะพลิกไปพลิกมากันในช่วงแรกๆ แต่ในที่สุดก็ต้องรู้ว่าใครคือผู้ชนะการเลือกตั้ง ล่าสุด มีรายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งโดยได้คะแนน “ผู้เลือกตั้ง” เหนือ ฮิลลารี คลินตัน 277 ต่อ 218 เสียง

ที่บอกว่า การเมืองสหรัฐฯมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ในความหมายไปในทางลบ เพราะเชื่อว่าใครที่ติดตามการเมืองและการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยเห็นบรรยากาศแบบนี้มาก่อน ภาพความวุ่นวาย ความศรัทธาที่มีต่อผู้สมัครคู่แข่งขันกันทั้งสองพรรค ก็ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน ขณะเดียวกัน ในสายตาของชาวโลก “ภาพของมหาอำนาจ” ที่เคยกำหนดความเป็นไปของโลกก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยยิ่งใหญ่คับโลก มาบัดนี้ก็มีมหาอำนาจหน้าใหม่เบียดขึ้นมาทาบรัศมี ไม่ว่าจะเป็นการหวนกลับมาของรัสเซีย และที่มาแรงที่สุด ก็คือ จีน และที่สำคัญ มหามิตรที่เคยกอดคอกันมากลับหันหลังให้หน้าตาเฉย ที่เห็นได้ชัดก็คือ ฟิลิปปินส์ในยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ สถานะทางเศรษฐกิจของตัวเองอยู่ในภาวะยอบแยบเต็มที ประเทศเต็มไปด้วยหนี้สินรุงรัง สภาพสังคมที่เริ่มแตกแยกมากขึ้นทุกที สิ่งเหล่านี้กำลังกลายเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศที่ใช้ระบอบ “ทุนนิยม” เต็มขั้น ประเทศที่เคยใช้ “ประชาธิปไตย” ด้วยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือนำหน้าในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นมาตลอดเวลา ทั้งที่เบื้องหลังล้วนเป็นเรื่อง “ผลประโยชน์” อันน่ารังเกียจของกลุ่มทุนที่กำลังทิศทางการเมืองภายในทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหนขึ้นมาสลับสับเปลี่ยนปกครอง

สำหรับประเทศไทยในยุคนี้หากสังเกตให้ดีจะพบว่าอาจเป็นครั้งแรกที่คนไทยไม่ค่อยให้ความสนใจกับการเลือกตั้งสหรัฐมากมายนัก เพราะเชื่อว่าไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับเรามากนัก ยกเว้นบรรดาสื่อมวลชนที่ยังเกาะติดกับผลการเลือกตั้งเท่านั้น

ขณะเดียวกัน คนไทยก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรนักกับผลการเลือกตั้ง เพราะไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีก็มีผลกับไทยน้อยมาก อย่างไรก็ดี ในอนาคตในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างประเทศโดยรวมๆบรรยากาศก็น่าจะดีขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่ผ่านมา สหรัฐฯสูญเสียมิตรไปไม่น้อย และหากยังต้องการเข้ามายุ่มย่ามในเขตเอเชีย ทะเลจีนใต้ต่อไป ก็ต้องหันมาญาติดีกับไทยมากขึ้นหลังจากระยะหลังเริ่ม “ไม่มีใครคบ” มากขึ้น

ที่ผ่านมา ประเทศไทยในยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับสหรัฐอเมริกา หลังจากมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ตึงเครียด เพราะสหรัฐฯลดระดับความสัมพันธ์ โดยก่อนหน้านี้ หนุนหลัง “ระบอบทักษิณ” จนออกนอกหน้า แต่เมื่อฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถยืนระยะได้อย่างมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ บรรยากาศก็เริ่มเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีเพียงไทยเท่านั้นที่วางท่าทีเฉยๆ กับสหรัฐฯ ในแบบที่ว่าแม้ว่า “เขาจะไม่ดีกับเราแต่เราไม่โกรธ” จะคบหรือไม่คบก็ได้ ขณะเดียวกัน ระดับผู้นำก็ไม่เคยไปแสดงความเห็นหรือวิจารณ์การเมืองของสหรัฐฯ

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังไม่ออกความเห็นในเรื่องดังกล่าว บอกว่า “อย่าไปยุ่งกับเรื่องของเรา เอาเรื่องภายในของเราให้สงบก่อน” มันจึงเป็นภาพชัด ผิดกับหลายประเทศที่เชียร์ผู้สมัครแต่ละคนแบบออกนอกหน้าและรังเกียจอีกฝ่ายหากชนะเลือกตั้ง

ดังนั้น หากพูดด้วยความมึนงงว่าการเมืองของสหรัฐฯมันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ก็คงตอบได้เพียงว่าทุกอย่างมันเป็นวงรอบของมัน มีสูงสุด มีต่ำสุด มีรุ่งเรืองก็มีเสื่อมหมุนเวียนไป ขณะที่ไทยแม้ว่ายังไม่รู้ว่าอนาคตจะไปทางไหนได้เต็มร้อย แต่เท่าที่พิจารณาดูในตอนนี้เราน่าจะ “ผ่านจุดต่ำสุด” มาแล้ว !!
กำลังโหลดความคิดเห็น