เสียงจากนาฬิกาข้อมือดังขึ้นตามเวลาที่ได้ตั้งเตือนปลุก ผมมองออกด้านนอกหน้าต่างท้องฟ้าดำมืด ดวงอาทิตย์คงยังไม่มีวี่แววจะโผล่พ้นขอบฟ้ามาทักทายในยามนั้น เพียงครึ่งชั่วโมงผ่านไปการเตรียมตัวก็พร้อมสำหรับการเดินทางจากที่พักนอนไปยังพื้นที่เป้าหมาย รถยนต์นำพาคณะแล่นฝ่าหลุมบ่อบนผิวถนนยางมะตอยผ่านทุ่งนาสุดลูกหูลูกตาสลับไร่มันสำปะหลัง ไม้ใหญ่สองข้างทางที่ผ่านเข้าสู่สายตาโดยมากเป็นต้นกระดาษหรือที่นักวิชาการรู้จักในชื่อ ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส สลับกับบ้านเรือนและวัดวาอารามที่ตั้งอยู่เป็นระยะ เวลาผ่านไปไม่นานนักเราก็มาถึงยังพื้นที่เป้าหมายที่ซึ่งครั้งนี้แตกต่างออกไปจากความคุ้นชิน
“ก่อนขึ้นรถออกไปในพื้นที่ สวมเสื้อกับหมวกนิรภัยและเปลี่ยนรองเท้าก่อนครับ” พี่สุนทรเจ้าหน้าที่ดูแลชุดสำรวจแจกแจงข้อปฎิบัติให้ทราบก่อนเข้าพื้นที่ “เป็นกฎเคร่งครัดครับ ต้องปฏิบัติตามเพื่อความปลอดภัย ไม่อย่างนั้นจะไม่อนุญาตให้เข้าครับผม” พี่สุนทรเสริมต่อด้วยซุ่มเสียงที่เรียกได้ว่าไม่มีทางปล่อยผ่าน
ความมืดของท้องฟ้าถูกเจือจางด้วยแสงอาทิตย์บ้างแล้วเมื่อเดินทางมาถึงจุดสำรวจแรก ภาพทิวทัศน์เบื้องหน้าเริ่มปรากฏตัวสู่สายตา พื้นดินที่เรายืนอยู่ถูกก่อสูงขึ้นมาคล้ายภูเขาขนาดย่อมจากพื้นที่ราบเรียบด้วยมวลดินปริมาณมหาศาล พื้นที่ตรงกลางเว้นว่างไว้เป็นบ่อพักน้ำและตะกอนจากกิจกรรมที่เกิดขึ้น รถบรรทุกดินขนาดใหญ่วิ่งไปมาขวักไขว่ขนย้ายดินจากจุดเดิมที่อาศัยอยู่มาเป็นล้านปีสู่บ้านหลังใหม่บนผิวพื้นดิน อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นพื้นที่ที่มาสำรวจในครั้งนี้แตกต่างออกไปจากความคุ้นเคย ที่นี่ไม่ใช่ ป่า แต่เป็น เหมืองเปิด
หมวกและเสื้อเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อนสีเขียวสะท้อนแสงกอปรด้วยรองเท้าบูทหัวเหล็กอันหนักอึ้งไม่ใช่ตัวเลือกที่ผมจะใช้ในการออกพื้นที่สำรวจความหลากหลายของสัตว์ป่าอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในเมื่อเป็นกฎเหล็กหลักของสถานที่และเพื่อความปลอดภัยโดยส่วนรวม การตัดสินใจไม่รับฟังหรือไม่ยอมปฏิบัติตามคำแนะนำเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าฉลาดน้อยแล้วนั้น ยังเป็นการกล่าวอ้างเกินความเป็นจริงไปเป็นอย่างมาก
แสงสีทองสาดจากขอบก้อนเมฆสะท้อนผิวน้ำกลางบ่อระยิบยับสวยงามตา พื้นที่รอบๆ สว่างขึ้นมากพอที่จะแยกแยะสิ่งต่างๆ ออกจากกันและเริ่มมองเห็นได้ชัดเจนก็ถึงเวลาเริ่มงานสำรวจแล้ว ครั้งนี้เราใช้วิธีการสำรวจแบบ point count อันเป็นการสำรวจโดยกำหนดจุดจำนวนหนึ่งในพื้นที่เป็นตัวแทนแทนการสำรวจให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ด้วยเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ เวลาและจำนวนแรงงานที่ใช้ โดยจะกำหนดพื้นที่เป็นรูปวงกลมที่มีรัศมีประมาณ 50 เมตร และกำหนดเวลาตายตัวในการเก็บข้อมูลจุดละ 10 นาที การสำรวจจะบันทึกสัตว์ป่าทุกชนิดทุกกลุ่มที่พบเห็นแต่ในครั้งนี้จะเน้นการสำรวจสัตว์ป่าในกลุ่มนกเป็นหลัก โดยจะบันทึกข้อมูลทั้งชนิดพันธุ์ จำนวน ระยะห่างจากจุดศูนย์กลางจุดสำรวจและกิจกรรมของสัตว์ป่าที่พบเห็น ซึ่งเมื่อเรานำข้อมูลมาคำนวนตามหลักสถิติแล้วสามารถบอกได้ถึงความหลากหลาย ความมากมายและความหนาแน่นของสัตว์ป่าแต่ละชนิดที่เราทำการสำรวจพบในพื้นที่ อย่างไรก็ตามถ้าพบนกชนิดอื่นระหว่างหรือนอกจุดสำรวจหรือสัตว์ป่าในกลุ่มอื่นๆ ก็บันทึกเช่นกัน เพียงแต่จะทำการบันทึกลงไปในส่วนของชุดข้อมูลที่เป็นลิสต์รายชื่อของสัตว์ป่าที่พบนอกจุดสำรวจ
ระยะเวลาในการสำรวจต้องให้คลอบคลุมทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น ดังนั้นเมื่ออากาศสดชื่นยามเช้าหายไปจากการมาเยือนของดวงอาทิตย์และความระอุร้อนในเวลาเที่ยงวัน การสำรวจความหลากหลายของสัตว์ป่าในเหมืองช่วงเช้าจึงเสร็จสิ้นลง ส่วนการสำรวจในช่วงบ่ายนั้นชุดสำรวจดำเนินการสำรวจเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วในช่วงบ่ายของวันแรกที่เราเดินทางมาถึง
สองช่วงเวลาของสองวันที่ทำการสำรวจ ข้อมูลที่ได้รับค่อนข้างจะเหนือความคาดหมายส่วนตัว ตั้งแต่รู้ตัวว่าจะต้องดำเนินการสำรวจในพื้นที่เหมืองผมไม่คิดว่าเราจะพบสัตว์ป่ามากนักในพื้นที่ที่เรียกได้ว่ามนุษย์สร้างขึ้นอีกทั้งยังคงมีการรบกวนจากกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงและตลอดเวลา ไม่ได้เป็นพื้นที่ทิ้งไว้รกร้างห่างผู้คน ต้นไม้โดยรอบเช่น กระถินณรงค์ ยูคาลิปตัสต่างเป็นพืชต่างถิ่นโตเร็ว ที่ถูกปลูกขึ้นและมีเพียงไม่กี่ชนิด อีกพื้นที่โดยรอบก็เป็นพื้นที่เกษตรกรรมจำพวกพืชไร่ล้มลุก เช่น อ้อยและมันสำปะหลัง เป็นต้น แต่เมื่อมาดูข้อมูลที่ได้มาถึงแม้ว่าสัตว์ป่าที่เราพบเห็นก็เป็นสัตว์ป่าที่สามารถอยู่อาศัยในพื้นที่เปิดโล่ง แต่ก็เป็นชนิดพันธุ์ที่ไม่ได้พบเห็นกันง่ายดายนัก ยกตัวอย่าง เช่น เหยี่ยวปีกแดง เหยี่ยวด่างดำขาว นกกระแตผีเล็ก นกกิ้งโครงแกลบหลังม่วงดำ นกกิ้งโครงแกลบหัวเทา นกกระติ๊ดแดงและพังพอนธรรมดา ส่วนชนิดพันธุ์อื่นๆ ที่สำรวจพบ ยกตัวอย่าง เช่น นกจาบคาเล็ก นกปรอดสวน นกนางแอ่นบ้าน นกหัวโตเล็กขาเหลือง นกกาน้ำเล็ก นกตีนเทียน นกปากห่าง นกเป็ดผีเล็ก นกเป็ดแดง นกแซงแซวหางปลา นกกระจิบธรรมดา นกขี้หมา นกพิราบป่า นกเขาใหญ่ นกกระจอกบ้าน งูสิงธรรมดาและงูทางมะพร้าวก็สามารถพบได้เป็นจำนวนมากและอาศัยอยู่ทั่วไปในพื้นที่เหมือง
ถึงแม้จะเป็นพื้นที่เหมืองเปิดขนาดใหญ่และพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม อีกทั้งการอาศัยในพื้นที่เหล่านี้ไม่สามารถเทียบได้กับพื้นที่ป่าธรรมชาติดั้งเดิมก็ตามที อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบกับพื้นที่ป่าดั้งเดิมนั้นคงไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่เหลือพื้นที่เหล่านั้นอีกแล้ว และไม่ได้มีการสำรวจมาก่อนการเปลี่ยนแปลงไปของพื้นที่ แต่สิ่งมีชีวิตก็สามารถที่จะปรับตัวให้ใช้ชีวิตและคงเผ่าพันธุ์เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่รุนแรงจนเกินไป
อย่างน้อยเมื่อผมเหลียวทางขวาแลมองทางซ้ายเห็นสัตว์ป่าหลากชนิดสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ก็สร้างความชื้นใจให้ผมอยู่บ้างว่าบนท้องฟ้ายังคงมีนกโบยบิน
ผมมองกลับลงมายังพื้นดิน นกเขาไฟตัวน้อยสร้างรัง วางไข่และกกกอดอนาคตของเผ่าพันธุ์อยู่บนท่อส่งตะกอนเหลวจากใจกลางเหมืองดูเหมือนจะทำให้แน่ใจได้ว่าพวกมันจะยังคงมีโอกาสที่จะโบยบินอยู่ต่อไป
แต่จะได้ต่อไปอีกนานเท่าไหร่นั้น เป็นคำถามที่ผมถามตัวเองดังอยู่ในใจ ...
เกี่ยวกับผู้เขียน
จองื้อที
แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ
"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"
พบกับบทความ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน