xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักไหม... “กลไกกลืนกินตัวเอง” ผลงานรางวัลโนเบลแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โยชิโนริ โอซูมิ เมื่อครั้งนำเสนองานวิจัยที่กระทรวงศึกษาของญี่ปุ่น (JIJI PRESS / AFP)
เริ่มต้นฤดูกาลโนเบลก่อนใครเป็นประจำทุกปีสำหรับรางวัลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ซึ่งเรียกกันง่ายๆ ว่าโนเบลแพทย์ สำหรับปี 2016 นี้ รางวัลตกเป็นของ “โยชิโนริ โอซูมิ” นักวิจัยญี่ปุ่นที่รับเงินรางวัลไปเต็มๆ

“โยชิโนริ โอซูมิ” ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีโตเกียว (Tokyo Institute of Technology) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี 2016 จากผลงานการค้นพบกระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์ (autophagy)

หลังประกาศผลเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2016 ทางเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของรางวัลโนเบลก็ได้เปิดโหวตคำถามว่ามีใครเคยได้ยินเกี่ยวกับ “กระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์” หรือไม่ ซึ่งมากถึง 30% ของผู้ร่วมตอบคำถามไม่รู้จักหรือเคยได้ยินเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าวมาก่อน

รายงานจากเอเอฟพีอ้างถึงอธิบายของคณะกรรมการรางวัลโนเบล ซึ่งระบุว่าหากกระบวนการกลืนกินตัวเองนี้ถูกขัดขวางก็จะเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสันหรือโรคเบาหวานได้

ทั้งนี้ กระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์ เป็นกระบวนการพื้นฐานทางสรีรศาสตร์ของเซลล์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพและการเกิดโรคต่างๆ ในมนุษย์ กระบวนการนี้เป็นหัวใจของการเสื่อมสลายไปอย่างเป็นระบบ และเป็นการรีไซเคิลส่วนที่เสียหายของเซลล์ อีกทั้งเชื่อว่าหากกระบวนการรีไซเคิลเซลล์ส่วนที่เสียหายนี้ไม่ทำงาน จะเป็นสาเหตุของการความชราและความเสียหายของเซลล์

นักวิจัยสังเกตพบกระบวนการกลืนกินตัวนี้ในช่วงทศวรรษ 1960 โดยเห็นว่าเซลล์นั้นสามารถทำลายส่วนประกอบของเซลล์เองได้จากการหุ้มส่วนเหล่านั้นเข้าไปในเยื่อเมมเบรน แล้วลำเลียงสู่ส่วนรีไซเคิลที่เรียกว่า “ไลโซโซม” (lysosome)

ความยากในการศึกษาปรากฏการณ์กลืนกินตัวเองของเซลล์นี้ทำให้เรามีองค์ความรู้เกี่ยวเรื่องนี้น้อยมาก จนกระทั่ง โยชิโนริ โอซูมิ ได้สร้างชุดการทดลองที่ยอดเยี่ยมในช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยเขาได้ใช้ยีสต์สำหรับอบขนมจำแนกยีนเพื่อการกลืนกินตัวเองโดยเฉพาะ

จากนั้นโอซูมิได้เดินหน้าอธิบายถึงกลไกที่ซ่อนอยู่ของกระบวนการกลืนกินตัวเองในเซลล์ยีสต์ และแสดงให้เห็นกลไกอันซับซ้อนแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในเซลล์มนุษย์

“การค้นพบของโอซูมินำไปสู่กรอบใหม่ในความเข้าใจว่า เซลล์รีไซเคิลส่วนประกอบของตัวเองอย่างไร … การกลายพันธุ์ในยีนกลืนกินตัวเองนั้นเป็นสาเหตุของโรคได้ และกระบวนการกลืนกินตัวเองนี้นำไปสู่ความเข้าใจถึงการเจ็บป่วยต่างๆ รวมถึงมะเร็งและโรคทางเส้นประสาทได้” คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุ

โอซูมิซึ่งปัจจุบันอายุ 71 ปีแล้ว เกิดที่เมืองฟูกูโอกะเมื่อปี 1945 เขาได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ในญี่ปุ่น เมื่อปี 1974 ทั้งนี้เขาจะได้รับเงินรางวัลทั้งหมด 8 ล้านโครน หรือ 32 ล้านบาท

สำหรับการประกาศผลรางวัลโนเบลถัดไปตามเวลาประเทศไทย คือสาขาฟิสิกส์ในวันที่ 4 ต.ค.เวลา 16.45 น. และสาขาเคมีในวันที่ 5 ต.ค.เวลา 16.45 น. ละประกาศรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในวันที่ 7 ต.ค. รางวัลสุดท้ายในสาขาเศรษฐศาสตร์วันที่ 10 ต.ค. ส่วนสาขาวรรณกรรมจะกำหนดวันประกาศอีกครั้ง
คณะกรรมการรางวัลโนเบลเผยแพร่ภาพสาธิตผลงานของ โยชิโนริ โอซูมิ (JONATHAN NACKSTRAND / AFP)
ภาพอธิบายการค้นพบของ โยชิโนริ โอซูมิ  (JONATHAN NACKSTRAND / AFP)
จากการศึกษายีสต์ทำให้ ศ.โยชิโนริ ค้นพบยีนการกลืนกินตัวเองของเซลล์  (JONATHAN NACKSTRAND / AFP)
ภาพอธิบายกลไกการทำงานของกระบวนการกลืนกินตัวเอง (JONATHAN NACKSTRAND / AFP)

แผนภาพอธิบายผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อกระบวนการกลืนกินเซลล์ทำงานผิดพลาด (JONATHAN NACKSTRAND / AFP)
ภาพเปรียบเทียบเพื่ออธิบายถึงการค้นพบของโยชิโนริ (JONATHAN NACKSTRAND / AFP)
โยชิโนริแถลงข่าวที่โตเกียวหลังทราบผลรางวัล ( Credit Toru YAMANAKA / AFP)
โยชิโนริรับช่อดอกไม้แสดงความยินดี หลังได้รับรางวัลโนเบล (STR / JIJI PRESS / AFP)
โยชิโนริเมื่อ 25 มี.ค.2015 ระหว่างแถลงข่าวที่กระทรวงศึกษาของญี่ปุ่น (JIJI PRESS / AFP)









กำลังโหลดความคิดเห็น