xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางสุดท้ายของ “โรเซตตา” ก่อนโหม่งดาวหางปิดฉากตลอดกาล (คลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอีซาที่เผยแพร่มาตั้งแต่ 3 ธ.ค.2012 เป็นภาพวาดจำลองขณะยานโรเซตตาโคจรรอบดาวหาง 67พี โดยตัวยานพร้อมแผงโซลาร์เซลล์นั้นกว้าง 32 เมตร ขณะที่นิวเคลียสของดาวหางกว้าง 4 กิโลเมตร แต่ภาพนี้ไม่ได้วาดตามสัดส่วนที่เป็นจริง (C. CARREAU / ESA / AFP)
“โรเซตตา” ยานอวกาศจากยุโรปที่สร้างประวัติศาสตร์ส่งยานลงจอดดาวหางได้เป็นครั้งแรก เดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายในวันที่ 30 ก.ย.2016 และจะปิดฉากไปตลอดกาล

ตามกำหนดการ ในเวลา 17.40 น. ของวันที่ 30 ก.ย.2016 ตามเวลาประเทศไทย “โรเซตตา” (Rosetta) ยานอวกาศจากองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) หรืออีซา (ESA) จะพุ่งโหม่งดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก (67P/Churyumov-Gerasimenko) ที่ติดตามประกบมาเป็นเวลาเกือบ 2ปี

คลิปนี้คือเส้นทางสุดท้ายนับจากวันที่ 20 ก.ย. ก่อนปิดฉากการทำงานในวันที่ 30 ก.ย. โดยกระบวนการสู่จุดจบกินเวลานาน 14 ชั่วโมง



ยานโรเซตตาได้รับคำสั่งจากห้องควบคุมบนโลกให้ตกอิสระลงบนดาวหาง 67พี ซึ่งกระบวนการสุดท้ายเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยานใช้เวลา 14 ชั่วโมงเพื่อการเดินทางครั้งสุดท้ายเป็นระยะทาง 19 กิโลเมตรก่อนถึงจุดจบ

อีซาซึ่งใช้เวลาทั้งคืนประเมินให้แน่ใจว่าการพุ่งชนจะเป็นไปตามกำหนดคือ 17.38 น.ตามเวลาเวลาประเทศไทย แต่อาจเร็วหรือช้ากว่านั้น 2 นาที และใช้เวลาอีก 40 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่โรเซตตาใช้สื่อสารกับโลก เพื่อยืนยันปฏิบัติการโหม่งดาวหางสำเร็จ

ขณะโรเซตตาพุ่งชนดาวหางจะได้ภาพดาวหางระยะใกล้ และภาพเหล่านั้นจะถูกส่งกลับมายังโลก รวมถึงข้อมูลก๊าซของโคมา (coma) บนดาวหาง ข้อมูลอุณหภูมิและแรงโน้มถ่วงในระยะใกล้ที่สุด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ในห้องควบคุมต่างใจจดใจจ่อรอข้อมูลสุดท้ายอันล้ำค่านี้

โรเซตตาช่วยวงการอวกาศยุโรปสร้างประวัติศาสตร์ในการส่งยานไปลงจอดดาวหางได้เป็นครั้งแรก โดยยานได้ส่งยานลูก “ฟิเล” (Philae) ลงยานดาวหาง 67พี เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2014 แต่ยานลูกก็ติดหล่มดาวหางจนไม่สามารถรับพลังงานแสงอาทิตย์ให้มีพลังงานมากพอจะส่งข้อมูลกลับมายานแม่ได้ และสามารถติดต่อกลับมาได้บางครั้งคราวเท่านั้น

อย่างไรก็ตามโรเซตตาไม่ได้ถูกออกแบบมาให้พุ่งชนดาวหาง และขณะที่ยานจะพุ่งชนดาวหางนั้น ทางห้องควบคุมจะออกคำสั่งให้ยานปิดสวิตซ์การทำงาน

แมตต์ เทย์เลอร์ (Matt Taylor) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการโรเซตตาบอกเอเอฟพีว่า สมาชิกทีมบางคนภายในห้องควบคุมจะมีความรู้สึกอ่อนไหวต่อจุดจบของยานมากเป็นพิเศษ เพราะพวกเขาต้องคอยตรวจตราให้โรเซตตาอยู่ในสภาพที่ดี แต่สุดท้ายต้องคำสั่งให้ยานถึงวาระสุดท้าย

ทว่าหลังจากยานโรเซตตาสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ แต่ภารกิจของทีมนักวิทยาศาสตร์ซึ่งรวมถึงเทย์เลอร์เองด้วยยังไม่จบ พวกเขายังมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากที่ได้จากยาน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปีหรือหลายทศวรรษต่อจากนี้ ซึ่งนับเป็นภารกิจที่น่าตื่นเต้น


(อ่าน...เจอแล้ว “ยานฟิเล่” ที่หายไปในซอกหลืบดาวหาง)

โรเซตตาและฟิเลถูกส่งขึ้นจากฐานปล่อยของศูนย์อวกาศเกียนา (Guiana Space Centre) ในเมืองกูรู เฟรนซ์ เกียนา เมื่อปี 2004 โดยมีเป้าหมายเพื่อพิสูจน์ต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิตจากการวิเคราะห์ฝุ่นที่ได้จากดาวหาง 67พี ซึ่งเปรียบเสมือนแคปซูลเวลาที่เก็บข้อมูลกำเนิดระบบสุริยะของเราไว้

รายงานจากเอเอฟพีระบุว่า โรเซตตาถูกตั้งโปรแกรมให้พุ่งเข้าหาดาวหาง 67พีด้วยความเร็ว 90 เซ็นติเมตรต่อวินาที หรือคิดเป็นหน่วยความเร็วที่คนขับรถคุ้นเคยได้ 3.24 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนดาวหางนั้นท่องอวกาศด้วยความเร็ว 14 กิโลเมตรต่อวินาที หรือ 50,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำหรับปฏิบัติในการโคจรและลงจอดดาวหางนี้ได้รับการรับรองเมื่อปี 1993 โดยมีเป้าหมายเพื่อสำรวจกำเนิดระบบสุริยะเมื่อ 4.6 พันล้านปีก่อน ซึ่งโรเซตตาและฟิเลใช้เวลา 10 ปีท่องอวกาศเป็นระยะกว่า 6 พันล้านกิโลเมตร ก่อนจะไปถึงดาวหาง 67พี ในเดือน ส.ค.2014

เมื่อเดือน พ.ย.ของปีเดียวกันยานฟิเลก็ถูกปล่อยสู่พื้นผิวดาวหาง และกระเด็นกระดอนอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังรวบรวมข้อมูลจากจุดลงจอดรวม 60 ชั่วโมงกลับมายังโลกได้ก่อนเข้าสู่โหมดสแตนบาย

หลังจากไล่ตามดาวหาง 67 พีที่โคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เรื่อยๆ อยู่นาน 10 ปี โรเซตตาก็ฟิเลเข้าสู่วงโคจรของดาวหางเป้าหมายได้สำเร็จ และตลอดเวลาเกือบ 2 ปีที่ยานโรเซตตาได้เข้าไปอยู่ในวงโคจรของดาวหาง ยานอวกาศจากยุโรปก็ได้วิเคราะห์และบันทึกภาพดาวหางจากทุกมุม

เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่าข้อมูลที่ได้จากโครงการอวกาศมูลค่าหลายหมื่นล้านของยุโรปนี้ บอกเราว่าหากดาวหาง 67พี พุ่งชนโลก สิ่งที่ดาวหางจะนำมาด้วยคือกรดอะมิโน แต่ไม่มีน้ำนำมาด้วยอย่างแน่นอน

โครงการโรเซตตานี้เป็นโครงการที่ใช้เวลาถึง 23 ปี ใช้งบประมาณ 5.45 หมื่นล้านบาท โดยมี 14 ประเทศในยุโรปเข้าร่วม รวมถึงสหรัฐฯ ก็มีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้วย







กำลังโหลดความคิดเห็น