“มอส” นักศึกษา ปี 2 วิศวกรรมเครื่องกล จาก มจธ.เปิดประสบการณ์ส่งไอเดียให้มนุษย์อวกาศญี่ปุ่นนำการทดลองที่ออกแบบเพื่อศึกษาการโค้งของผิวของเหลวขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศ โดยเด็กไทยเจ้าของไอเดียยังได้ร่วมชมการถ่ายทอดสดจากศูนย์อวกาศในญี่ปุ่น และร่วมฝึกหลักสูตรมนุษย์อวกาศระยะสั้น 1 วันร่วมกับเยาวชนจากอีก 4 ประเทศ
เมื่อวันที่ 14 ก.ย.59 ที่ผ่านมาเป็นอีกวันสำคัญของ นายวรวุฒิ จันทร์หอม นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หรือมอส เพราะเป็นวันที่การทดลองซึ่งเขาออกแบบเอง ได้ถูกนำไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติโดย นายทะกุยะ โอะนิชิ มนุษย์อวกาศจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency) หรือ แจกซา (JAXA)
การโค้งของผิวของเหลวในอวกาศ (Capillary in Zero gravity) คือการทดลองที่วรวุฒิออกแบบเอง และถูกนำไปทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยระหว่างที่นายทะกุยะมนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่นได้ทำการทดลองดังกล่าวนั้น วรวุฒิได้ชมการถ่ายทอดสดการทดลองทางวิทยาศาสตร์จากสถานีอวกาศนานาชาติผ่านห้องบังคับการที่ศูนย์อวกาศสึคุบะ (Tsukuba Space Center) ของแจกซาด้วย
การทดลองเพื่อศึกษาผิวโค้งของเหลวในอวกาศที่วรวุฒิออกแบบนั้นเป็นผลงานที่ได้รับคัดเลือกจาก 2 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ซึ่งดำเนินการร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ โครงการ Try Zero-G 2016 เพื่อเปิดรับแนวคิดการทดลองวิทยาศาสตร์จากเยาวชนไทย ส่งให้มนุษย์อวกาศญี่ปุ่นเลือกนำไปใช้ทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนสถานีอวกาศนานาชาติ
นอกจากผลงานของเยาวชนไทยแล้ว ยังมีผลงานของเยาวชนจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น นิวซีแลนด์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ปากีสถาน ร่วมทั้งหมด 28 เรื่องที่ส่งเข้าร่วมโครงการดังกล่าวของแจกซา โดยผลงานของเยาวชนไทยเรื่องการทดลองการโค้งของผิวของเหลวในอวกาศเป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับเลือก และยังมีการทดลองของเยาวชนจากอีก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และนิวซีแลนด์ ที่ได้เลือกไปทดลองในอวกาศ โดยเยาวชนที่ได้รับเลือกยังได้ร่วมกิจกรรมหลักสูตรฝึกมนุษย์อวกาศระยะสั้น 1 วัน
ล่าสุดนายวรวุฒิได้เผยประสบการณ์ดังกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษที่จัดขึ้นโดย สวทช. เมื่อวันที่ 20 ก.ย.59 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเขาเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทดลองนี้มาจากการทำการทดลองในห้องเรียน ซึ่งผมสังเกตว่าของเหลวที่อยู่ในภาชนะที่มีลักษณะเป็นหลอด ผิวของน้ำจะมีลักษณะแตกต่างกัน บางผิวมีลักษณะเว้าขึ้น บางผิวมีลักษณะเว้าลง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการอ่านข้อมูล
"ผมจึงเริ่มหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาสนับสนุนการทดลองในครั้งนี้ และพบว่าความเว้านูนของน้ำขึ้นอยู่กับแรงยึดติด (adhesive ) และแรงเชื่อมแน่น (cohesive) ซึ่งในสมการจะมีแรงเนื่องจากแรงโน้มถ่วงอยู่ในสมการ ผมจึงสงสัยว่า ถ้าทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก ลักษณะของผิวของเหลวจะเป็นอย่างไร โดยการทดลองจะนำของเหลวต่างชนิดกันมาบรรจุในเข็มฉีดยา (Plastic syringe) จากนั้นสังเกตผิวของของเหลวแล้วนำมาเปรียบเทียบกับการทดลองบนโลก” วรวุฒิเผยถึงที่มาของการทดลองที่ออกแบบ
การทดลองวรวุฒิศึกษาของเหลว 3 ชนิด คือ น้ำเปล่า น้ำผลไม้ และน้ำมัน ซึ่งหลังจากที่มนุษย์อวกาศญี่ปุ่นได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาการโค้งของผิวของเหลวในอวกาศแล้ว วรวุฒิได้ข้อสังเกตว่า เมื่ออยู่บนพื้นโลก น้ำเปล่าและน้ำผลไม้ที่บรรจุในเข็มฉีดยาพลาสติกมีลักษณะราบเรียบไม่มีการโค้งนูน ส่วนน้ำมันมีลักษณะพื้นผิวเว้าลงเล็กน้อย แต่เมื่อนำไปทดลองบนสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง พบว่าน้ำเปล่าและน้ำผลไม้มีลักษณะโค้งขึ้นเล็กน้อยซึ่งมีความแตกต่างจากบนโลก ส่วนน้ำมันมีลักษณะโค้งลงอย่างเห็นได้ชัด
"จึงสรุปได้ว่าของเหลวทั้งสามชนิดเมื่ออยู่ในสภาวะที่แตกต่างกันจะมีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะพื้นผิวที่ไม่เหมือนกัน จากการทดลองในครั้งนี้ได้พบอีกว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการโค้งนูนของของเหลวมีหลายปัจจัย คือ ชนิดของของเหลว ความเข้มข้นของของเหลว เส้นผ่านศูนย์กลางของภาชนะที่บรรจุของเหลว และชนิดของภาชนะที่บรรจุ หลังจากการทดลองได้ทราบว่า ผลการทดลองเป็นไปตามสมมติฐานที่ได้ตั้งไว้ และจะเป็นการต่อยอดในการสร้างสมการใหม่ต่อไป” วรวุฒิสรุป