นักวิจัยไทยเปิดตัว “แคลเซียมแบบชงดื่ม” ดูดซึมง่ายขึ้น ทั้งสูตรสำหรับแม่ให้นมลูก และแคลเซียมจากเกล็ดปลา เตรียมพร้อมสำหรับตลาดผู้สูงอายุในอนาคต พร้อมเผยคนไทยไม่จำเป็นต้องกินแคลเซียม หากรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงเป็นปกติ
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 20 ก.ย.59 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล โดยภายในงานได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม ซึ่งเป็นผลงานของศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ด้วย
ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สังกัดหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก และภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า จากการพัฒนานานกว่า 5 ปี ขณะนี้ได้พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมสำหรับแม่ที่กำลังให้นมลูก เป็นเครื่องดื่มชนิดผงที่ปรับสูตรให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และรสชาติดีรับประทานได้ง่าย พร้อมจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว
ผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นจาก สกว.และมหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ทดสอบในสัตว์ทดลองและมนุษย์ นอกจากนี้ ดร.นพ.นรัตถพลยังทำวิจัยเพื่อมุ่งส่งเสริมสุขภาพกระดูกที่ดีของคนไทย ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของลำไส้ในการดูดซึมแคลเซียมและแร่ธาตุต่างๆ
นอกจากนี้หนึ่งปีที่ผ่านมากลุ่มวิจัยของ ดร.นพ.นรัตถพลพบว่า การดูดซึมเหล็กที่ลำไส้จะรบกวนการดูดซึมแคลเซียม ทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมน้อยลง ดังนั้นการรับประทานอาหารอาหารเสริม หรือยาที่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบ ต้องทิ้งระยะเวลาให้ห่างจากการรับประทานแคลเซียม และยังพบโรคกระดูกพรุนได้ในโรคทางกายและจิตเวชหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคธาลัสซีเมีย และโรคเครียด ซึ่งมีพยาธิกำเนิดต่างจากกระดูกพรุนทั่วไป และต้องรักษาโดยวางแผนอย่างเจาะจง อีกทั้งยังค้นพบบทบาทของฮอร์โมนชนิดใหม่ๆ เช่น ไฟโบรบลาสต์โกรทแฟคเตอร์-23 ซึ่งอาจเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพว่ารับประทานแคลเซียมเพียงพอหรือไม่
ขณะที่ ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. ซึ่งได้ทำงานวิจัยใน “โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีแคลเซียมและคอลลาเจนสูงและวัสดุนาโนคอมโพสิตจากเกล็ดปลา” เผยว่า ได้ทราบวิธีการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การเพิ่มกรดอะมิโนหรือเปปไทด์บางชนิดในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม นอกจากนี้ยังพัฒนาเครื่องดื่มเสริมแคลเซียมจากเกล็ดปลา ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อจดสิทธิบัตร โดยงานวิจัยบางส่วนมีความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเล และบริษัทมหาชนด้านการแปรรูปอาหารทะเล เป็นต้น
ด้าน ศ.ดร.นพ.นรัตถพล ระบุว่า ผู้ที่มีความจำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมเสริม คือ กลุ่มผู้สูงวัยโดยเฉพาะหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งระดับฮอร์โมนจะลดลงเร็วกว่าผู้ชาย และมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน 1 ใน 3 นอกจากนี้ยังควรลดอาหารที่มีออกซาเลตและไนเตรทในปริมาณสูงๆ รวมถึงน้ำกระด้าง โดยกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญและช่องว่างทางการตลาดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม เนื่องจากปัจจุบันมีประชากรกลุ่มนี้มากถึงร้อยละ 13 ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ทั้งนี้ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำให้คนไทยรับประทานต่อวัน คือ 800 มิลลิกรัม แต่คนไทยส่วนใหญ่จะได้รับเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น โดยคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมเสริม เพราะต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำและราคาค่อนข้างสูง แต่สามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากนม ปลาตัวเล็กตัวน้อย งาดำ ผักใบเขียว เช่น คะน้า ก็เพียงพอแล้ว ส่วนผู้ที่ดื่มนมแล้วท้องเสียแนะนำให้ดื่มนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลน้อยแทน” ศ.ดร.นพ.นรัตถพล สรุปทิ้งท้าย