xs
xsm
sm
md
lg

เจอแล้ว “ยานฟิเล่” ที่หายไปในซอกหลืบดาวหาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพยานฟิเล่ที่ติดอยู่ในซอกของดาวหาง (HO / EUROPEAN SPACE AGENCY (ESA) / AFP)
อีซาเผยภาพ “ยานฟิเล่” ที่หายไปในซอกหลืบดาวหาง หนึ่งในภารกิจยานแม่ “โรเซตตา” ที่ใกล้จะปลดระวางในสิ้นเดือนนี้ และภาพยังเผยทิศทางของยานลูกซึ่งทำให้การสื่อสารระหว่างสองยานเป็นไปอย่างยากลำบาก หลังยานลงจอดตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

องค์การอวกาศยุโรป (อีซา) เผยภาพยานลงจอดฟิเล่ (Philae) ที่ติดอยู่ในซอกมืดของดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก (67P/Churyumov–Gerasimenko) ซึ่งบันทึกโดยยานแม่ “โรเซตตา” (Rosetta) ด้วยกล้องมุมแคบโอซิริส (OSIRIS) กล้องความละเอียดสูงที่ติดอยู่บนยาน

ภาพดังกล่าวถูกบันทึกเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2016 ขณะยานโรเซตตาโคจรที่ความสูง 2.7 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดาวหาง และภาพได้เผยให้เห็นขา 2 ข้างจากทั้งหมด 3 ข้างของยานฟิเล่ ซึ่งอีซาระบุว่าทิศทางของยานลงจอดเป็นสิ่งที่พิสูจน์ถึงสาเหตุที่การสื่อสารระหว่างยานแม่และยานลูกเป็นไปอย่างยากลำบาก หลังจากยานฟิเล่ลงจอดดาวหางตั้งแต่ 12 พ.ย.2014

ด้าน เซซิเลีย ทูเบียนา (Cecilia Tubiana) หนึ่งในสมาชิกทีมกล้องโอซิริส และเป็นคนแรกที่ได้เห็นภาพดังกล่าวหลังจากดาวน์โหลดข้อมูลจากโรเซตตาเมื่อ 4 ก.ย.2016 เผยว่าทีมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ในที่สุดก็สามารถบันทึกภาพยานฟิเล่ได้ และได้เห็นภาพที่ให้รายละเอียดอย่างเหลือเชื่อ โดยที่เหลือเวลาสำหรับภารกิจของยานโรเซตตาอีกไม่ถึงเดือน

“หลังจากหลายเดือนของการทำงาน ด้วยเบาะชี้เป้ายานลงจอดที่ใกล้ขึ้นเรื่อยๆ ผมตื่นเต้นและระทึกมากที่เราได้ภาพที่สำคัญที่สุดของยานฟิเล่จอดอยู่ที่หุบเอบิดอส” ลอเรนซ์ โอ'รูร์เก (Laurence O’Rourke) จากอีซา ผู้ร่วมค้นหาร่องรอยยานฟิเล่ที่อีซาเป็นเวลาเดือนกว่า พร้อมกับทีมโอซิริสและทีมจากศูนย์นำร่องและปฏิบัติการวิทยาการลงจอด (Lander Science Operations and Navigation Center : SONC, CNES)
ภาพจำลองยานฟิเล่ลงจอดดาวหางที่อีซาเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ (MEDIALAB / ESA / AFP)
ภาพสุดท้ายของยานฟิเล่ที่เห็นก่อนหน้านี้คือภาพขณะยานลงจอดสัมผัสแรกที่บริเวณอากิลเกีย (Agilkia) บนดาวหาง แล้วกระเด็นกระดอนอยู่นาน 2 ชั่วโมง ก่อนจะไปหยุดอยู่ที่ตำแหน่งที่เรียกว่า “เอบิดอส” (Abydos) ซึ่งเป็นหุบเล็กๆ บนดาวหาง หลังจากแบตเตอรีหลักของยานลงจอดทำงานอย่างหนักหน่วงอยู่ 3 วัน ยานฟิเล่ก็เข้าสู่โหมดจำศีล ก่อนที่จะฟื้นขึ้นมาอีกครั้งและสื่อสารกับยานแม่โรเซตตาเป็นเวลาสั้นๆ ในเดือน มิ.ย.และ ก.ค.2015 ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางโคจรเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้ยานมีพลังงานมากพอที่จะสื่อสารกลับมา

ก่อนที่จะได้ภาพความละเอียดสูงนี้อีซาก็ยังไม่ทราบตำแหน่งที่แน่ชัดของยานฟิเล่ แม้ว่าจะมีข้อมูลวิทยุที่ชี้ตำแหน่งของยานเป็นพื้นที่หลายสิบเมตร แต่ข้อมูลจากภาพถ่ายความละเอียดต่ำที่บันทึกจากระยะไกลก็ไม่ได้ให้รายละเอียดที่มากนัก กระทั่งกล้องมุมแคบโอซิริสของยานโรเซตตาได้บันทึกภาพที่ระยะห่าง 2.7 กิโลเมตร และให้ภาพความละเอียด 5 เซ็นติเมตรต่อพิกเซล จึงเผยให้เห็นรูปทรงของยานฟิเล่ที่มีขนาดเพียง 1 เมตร พร้อมกับขาของยานได้

ด้าน แมทท์ เทย์เลอร์ (Matt Taylor) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการโรเซตตาของอีซา กล่าวว่า การทราบตำแหน่งบนพื้นดาวหางที่ชัดของยานฟิเล่จะช่วยเพิ่มเติมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของยานที่ปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 3 วัน

ส่วน โฮลเกอร์ เซิร์กส์ (Holger Sierks) หัวหน้าทีมปฏิบัติการหลักของกล้องโอซิริส กล่าวว่าการค้นหาตำแหน่งยานลงจอดนั้นเสร็จสิ้นแล้ว และตอนนี้พวกเขารู้สึกพร้อมแล้วสำหรับส่งยานโรเซตาลงจอด และมุ่งหน้าสู่การบันทึกภาพตำแหน่งลงจอดของยานโรเซตตาในระยะที่ใกล้ขึ้น

ตามกำหนดยานโรเซตตาจะลดระดับลงสู่พื้นผิวดาวหางในวันที่ 30 ก.ย.2016 แล้วจะส่งข้อมูลดาวหางในระยะใกล้ในภารกิจสุดท้ายกลับมา รวมถึงข้อมูลพื้นที่ “มาท” (Ma’at) ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าการสังเกตการณ์ที่เข้มข้นนั้นจะช่วยเผยความลับของโครงสร้างภายในดาวหางได้







กำลังโหลดความคิดเห็น