สำหรับช่วงนี้หลายคนคงประสบปัญหาท้องฟ้าที่มีแต่เมฆฝน หรืออยู่ในช่วงมรสุม ทำให้ไม่อดถ่ายภาพท้องฟ้ากันพักใหญ่ๆ แต่เราจะไม่ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ เพราะหากใครที่เคยได้ถ่ายภาพเส้นแสงดาวในอดีตทิ้งไว้แล้วหล่ะก็ ลองขุดภาพเก่าๆ เอามาลองโปรเซสใหม่ในเทคนิควิธีการใหม่ที่น่าสนใจมากกว่าเดิม
ในอดีตเรามักคุ้นกับภาพเส้นแสงดาวในรูปแบบเดิมๆ ที่เห็นดาวเป็นเส้นโค้งที่มีความหนาของเส้นแสงดาวเท่าๆกัน แต่สำหรับคอลัมน์นี้เราจะมาลองเรียนรู้เทคนิคใหม่ในการโปรเซทภาพเส้นแสงดาวในอีกรูปแบบที่น่าจะทำให้เราได้ภาพที่สวยขึ้นจากภาพเดิมๆ
โดยปกติเราจะต่อภาพถ่ายเส้นแสงดาวด้วยวิธีแบบปกติทั่วไป โดยใช้ฟังก์ชั่นการต่อภาพแบบ Lighten เพื่อให้ได้ภาพเส้นแสงดาวต่อกันเป็นเส้นทั่วไป แต่ในโปรแกรม StarStaX นั้นยังมีการทำภาพแบบดาวหาง ในฟังก์ชั่น Comet Mode และในคอลัมน์นี้เราจะนำเอาฟังก์ชั่นทั้ง 2 ที่กล่าวมาในข้างต้นมาใช้ร่วมกันในการโปรเซทภาพเส้นแสงดาวในอีกรูปแบบ ที่น่าจะทำให้ได้ภาพที่ “สวยจนแทบจะต้องร้องขอชีวิต” กันเลยทีเดียว
เทคนิคและวิธีการ
1.ใช้โปรแกรม StarStaX ซึ่งเป็น Freeware สำหรับ Mac OS X และ Windows ในการต่อภาพเส้นแสงดาว
2. แบ่งจำนวนภาพจากทั้งหมดออกเป็น 3 ส่วน ตัวอย่างเช่น ถ่ายภาพมาทั้งหมด 45 ภาพ ให้แบ่งภาพออกเป็น 3 ชุดดังภาพด้านล่าง ชุดละ 15 ภาพ เพื่อนำไปแยกโปรเซสในลักษณะที่แตกต่างกัน
3. นำภาพชุดที่ 1 หรือ 15 ภาพแรกที่เราเริ่มถ่ายเส้นแสงดาว มาต่อเป็นภาพเส้นแสงดาวแบบ Comet Mode ดังตัวอย่างด้านล่าง
หลังจากต่อภาพด้วยฟังก์ชั่น Comet Mode เสร็จแล้วเราจะได้ภาพชุดที่ 1 เป็นลักษณะของเส้นแสงดาวที่มีหางเรียวยาว คล้ายกับดาวหาง โดยมีทิศทางของหางจากขวาไปซ้ายดังภาพ
4. เลือกภาพชุดที่ 2 นำมาต่อภาพเส้นแสงดาวด้วยวิธีปกติ โดยการใช้โหมด Lighten และคลิกเอาฟังก์ชั่น Comet Mode ออกจากกระบวนการที่ทำในชุดแรกออก
หลังจากต่อภาพด้วยฟังก์ชั่นปกติ เสร็จแล้วเราจะได้ภาพชุดที่ 2 เป็นลักษณะของเส้นแสงดาวที่มีเส้นแสงดาวขนาดเท่ากันดังภาพข้างต้น
5. เลือกภาพชุดที่ 3 นำมาต่อเส้นดาวด้วยฟังก์ชั่น Comet Mode โดยในชุดสุดท้ายนี้ ให้คลิกเลือก Process images in reverse order เพื่อให้เส้นดาวมีทิศของหางสลับกับภาพชุดที่ 1
หลังจากต่อภาพด้วยฟังก์ชั่น Comet Mode เสร็จแล้วเราจะได้ภาพชุดที่ 3 เป็นลักษณะของเส้นแสงดาวที่มีหางเรียวยาว คล้ายกับดาวหาง โดยมีทิศทางของหางจากซ้ายไปขวาดังภาพ
6. หลังจากโปสเซสภาพทั้ง 3 ชุด เสร็จแล้ว โดยชุดที่ 1 ใช้โหมด Comet Mode(จากขวาไปซ้าย) ชุดที่ 2 เป็นการต่อแบบปกติ และชุดที่ 3 ใช้โหมด Comet Mode(จากซ้ายไปขวา)
นำภาพทั้ง 3 มาต่อกันอักครั้งโดยการใช้ฟังก์ชั่นการต่อภาพเส้นแสงดาวแบบปกติ Lighten ก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวในรูปแบบที่มีหางของเส้นดาวยาวเรียว สวยงามไม่ซ้ำแบบใครกันแล้วครับ
เพียงขั้นตอนง่ายๆ ที่ได้แนะนำข้างต้น เราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวในอีกรูปแบบที่ช่วยให้ภาพเส้นแสงดาวดูเรียวยาว จนบางครั้งอาจมองดูว่าเส้นแสงดาวของเราถ่ายมาได้นาน จนเห็นเหมือนเส้นดาวหมุนครบรอบ 360 องศากันเลยทีเดียว
โดยจริงๆแล้วการถ่ายภาพเส้นแสงดาวในทางดาราศาสตร์นั้น นอกจากความสวยงามแล้ว ภาพถ่ายเส้นแสงดาวในสถานที่ต่างๆ ยังสามารถบอกถึงคุณภาพของท้องฟ้าหรือค่าทัศนวิสัยของท้องฟ้าได้อีกด้วย ซึ่งภาพที่เส้นแสงดาวมีความสว่างสม่ำเสมอ เส้นไม่ขาด ก็แสดงให้เห็นว่าท้องฟ้าบริเวณนั้นๆ มีทัศนวิสัยท้องฟ้าที่ดีนั่นเองครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน