xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉากลงแล้วภาพสุดท้ายจาก “โรเซตตา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพพื้นผิวดาวหางที่ระยะ 51 เมตร ก่อนยานโรเซตตาจะโหม่งพื้น บันทึกด้วยกล่องมุมกว้าง โอไซริส (HO / ESA / AFP)
30 ก.ย.วันที่้ข้าราชการไทยหลายๆ คนเกษียณอายุราชการ และวันเดียวกันนี้ก็เป็นวันปิดฉากการทำงานของ “โรเซตตา” ยานอวกาศของยุโรปที่ติดตามดาวหางมานานกว่า 12 ปี เพื่อไขปริศนาของกำเนิดระบบสุริยะจากร่องรอยบนดาวหาง

องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) หรืออีซา (ESA) เผยภาพสุดท้ายที่บันทึกจากยานโรเซตตา (Rosetta) ก่อนพุ่งชนดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก (Comet 67P/Churyumov-Gerasimenko) เมื่อเวลาประมาณ 17.40 น. ของวันที่ 30 ก.ย.2016 ตามเวลาประเทศไทย

ภาพสุดท้ายที่โรเซตตาส่งมายังห้องควบคุมเป็นภาพขณะยานอยู่ห่างจากดาวหางที่ความสูง 51 เมตร ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่ยานจะโหม่งพื้นผิวดาวหาง ภาพดังกล่าวบันทึกด้วยกล้องมุมกว้างโอไซริส (OSIRIS) ที่ติดตั้งบนยาน

อีกภาพที่ส่งมาเป็นภาพบันทึกเมื่อเวลา 17.14 น. ที่ความสูงระยะ 1.2 กิโลเมตร ขณะยานพุ่งตัวลงสู่พื้นผิวดาวหาง โดยบันทึกด้วยกล้องมุมแคบโอไซริสที่ติดอยู่บนยานโรเซตตา

โรเซตตาถูกส่งขึ้นจากฐานปล่อยของศูนย์อวกาศเกียนา (Guiana Space Centre) ในเมืองกูรู เฟรนซ์ เกียนา เมื่อปี 2004 และมีฟิเล (Philae) ยานลูกประกบไปด้วย โดยเป้าหมายของยานคือดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก ซึ่งเชื่อว่าเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกำเนิดสุริยะไว้ และการวิเคราะห์ฝุ่นของดาวหางจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิตได้

โรเซตตาและฟิเลไปถึงดาวหาง 67พี เมื่อเดือน ส.ค.2014 หลังจากใช้เวลาเดินทางนานกว่า 10 ปี และในเดือน พ.ย.ของปีเดียวกันฟิเลได้ถูกสงไปลงจอดดาวหางเพื่อทำการสำรวจ แต่การลงจอดไม่ราบลื่นทำให้ยานลูกกระเด็นกระดอนอยู่หลายตลบก่อนที่จะส่งข้อมูลเท่าที่สภาพของยานอำนวยมาได้รวมเป็นข้อมูลยาว 60 ชั่วโมง
ภาพพื้นผวิดาวหางที่ระยะ 1.2 กิโลเมตร ขณะยานโรเซตตาลดระดับลงเรื่อยๆ บันทึกด้วยกล้องมุมแคบที่ติดตั้งบนยาน (HO / ESA / AFP)
ภาพหน้าจอให้ห้องควบคุม บ่งบอกว่ายนาโรเซตตาตัดขาดการติดต่อเมื่อเวลา 18.19 น.ของวันที่ 30 ก.ย.ตามเวลาประเทศไทย ทั้งนี้สัญญาณจากโรเซตตาใช้เวลา 40 นาที เพื่อมาถึงโลก (HO / ESA / AFP)







กำลังโหลดความคิดเห็น