อินเดียยิงจรวดลำเดียวปล่อยดาวเทียมพร้อมกัน 20 ดวง ทำสถิติใหม่ให้วงการอวกาศเมืองภารตะที่ขึ้นชื่อเรื่อง “โลคอสต์” แต่ยังได้กำไรงามจากส่วนแบ่งการปล่อยจรวดเชิงพาณิชย์
รายงานจากเอเอฟพีระบุว่า จรวดคาร์โตแซท-2 (CARTOSAT-2) ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organisation) หรือ อิศโร (ISRO) ได้บรรทุกดาวเทียม 20 ดวงทะยานขึ้นจากเขตศรีหริโคตร (Sriharikota) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2016 เพื่อนำส่งสู่วงโคจร
ดาวเทียมเหล่านั้นเป็นของลูกค้าจากสหรัฐฯ, เยอรมนี, แคนาดา และอินโดนีเซีย และส่วนใหญ่เป็นดาวเทียมที่มุ่งสำรวจและวัดชั้นบรรยากาศของโลก อีกส่วนที่เหลือเป็นดาวเทียมของผู้ให้บริการสัญญาณวิทุยสมัครเล่น
ในจำนวนดาวเทียม 20 ดวงนั้นเป็นดาวเทียมจากสหรัฐฯ ถึง 13 ดวง ซึ่งรวมถึงดาวเทียมของกูเกิล (Google) และยังมีดาวเทียมของมหาวิทยาลัยอินเดียในนั้นด้วย 2 ดวง
เอ เอส คิรัน คูมาร์ (A.S Kiran Kumar) ประธานบริหารของอิศโร ให้สัมภาษณ์เครือข่ายข่าวสาร NDTV ว่า ดาวเทียมดวงเล็กๆ แต่ละดวงที่ส่งขึ้นไปอวกาศนั้นไม่มีความข้องเกี่ยวกัน และตอบสนองกิจกรรมของเจ้าของดาวเทียมที่แตกต่างกัน และมีอายุการใช้งานอันยอดเยี่ยมตามกรอบเวลาที่กำหนด
เอเอฟพีระบุว่าธุรกิจการส่งดาวเทียมพาณิชย์ขึ้นสู่อวกาศโดยเก็บค่าบริการนั้นกำลังเติบโตขึ้นไปตามการเติบโตของโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต รวมถึงความต้องการของบริษัทและประเทศต่างๆ ที่กำลังมองหาการสื่อสารที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยและยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น
ในส่วนของอินเดียนั้นกำลังแข่งขันกันผู้เล่นจากประเทศอื่นๆ เพื่อแบ่งส่วนแบ่งจากตลาดการส่งจรวดเชิงพาณิชย์ ซึ่งอินเดียนั้นเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของโครงการอวกาศราคาประหยัด
แม้ว่าจะตามหลังรัสเซียที่มีสถิติการปล่อยจรวด 33 ครั้งเมื่อปี 2014 และองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่มีสถิตินำส่งจรวด 29 ครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีของอินเดียก็ระบุว่า การปล่อยจรวดของอินเดียเมื่อวันพุธที่ผ่านมานี้เป็น “ความสำเร็จที่มีความหมายต่อประวัติศาสตร์” และได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน
เมื่อเดือนที่ผ่านมาอินเดียก็เพิ่งส่งกระสวยอวกาศขนาดเล็กของตัวเองลำแรกขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันระดับโลกในการสร้างจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่
นอกจากนี้เมื่อปี 2013 อินเดียยังแสดงศักยภาพในการส่งจรวดไปโคจรรอบดาวอังคารด้วยงบประมาณเพียง 73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับนาซาที่ส่งปฏิบัติการโคจรรอบดาวอังคารมาเวนมาร์ส (Maven Mars) ด้วยงบประมาณถึง 671 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ความสำเร็จครั้งนั้นสร้างความภาคภูมิให้แก่อินเดียอย่างมากที่สามารถเบียดจีนขึ้นไปเป็นชาติแรกในเอเชียที่ไปถึงดาวอังคารได้ก่อน
ทางด้านนายกรัฐมนตรีของอินเดียยังยกย่องความสำเร็จของเทคโนโลยีอวกาศภายใต้งบประมาณอันจำกัดอยู่บ่อยครั้ง โดยในการส่งดาวเทียมให้แก่ลูกค้าต่างชาติ 4 ดวงขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2014 นั้น ใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างภาพยนตร์เรื่อง "Gravity" เสียอีก