xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


ภารกิจสำรวจความหลากหลายของกล้วยไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ทำให้ผมต้องเดินทางเข้าไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าที่อยู่ลึกเข้าไปจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์ฯ ประมาณ 30 กิโลเมตร เดือนที่ผ่านมาจนกระทั่งช่วงนี้เป็นเวลาที่เหมาะสำหรับการสำรวจกล้วยไม้เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังผลิดอก ฝนที่กระหน่ำลงมาเมื่ออาทิตย์ก่อนก็น่าจะมีส่วนมากในการกระตุ้นให้กล้วยไม้ดินอันเป็นเป้าหมายหลักของการสำรวจในครั้งนี้เริ่มแทงช่อดอกหรือมีดอกให้เห็นแล้ว

การสำรวจในครั้งนั้นใช้วิธีการเดินและการมองหาสอดส่องระหว่างเส้นทาง ทั้งบนยอดไม้ คาคบไม้ กิ่ง ลำต้น บนพื้นดิน กระทั่งขอนไม้ล้มทั้งเก่าและใหม่เพื่อหากล้วยไม้ที่กำลังมีดอกเบ่งบานอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากดอกเป็นส่วนสำคัญที่ใช้จำแนกชนิดพรรณและใช้เป็นสิ่งยืนยันการมีตัวตนของกล้วยไม้ชนิดนั้นๆ ในที่พื้นที่ที่ทำการศึกษา ดังเช่นที่หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวไว้

เชือกรองเท้าถูกรัดแน่นจนถึงข้อเท้าและมัดผูกเป็นปม อุปกรณ์ถ่ายรูปถูกตรวจสอบและจัดใส่กระเป๋าพร้อมสำหรับการนำออกมาใช้ เมื่อทุกอย่างพร้อมทีมสำรวจอันประกอบไปด้วยหัวหน้าชุดสำรวจ ผมและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอีกสองคนก็ออกเดิน การสำรวจตามเส้นทางรถยนต์ในช่วงเช้าผ่านพื้นที่ไร่ซากเก่าปรากฏแต่เพียงชนิดพรรณเดิมที่เคยสำรวจพบไปแล้วก่อนหน้า เราจึงตัดสินใจเดินตัดไร่ซากเข้าไปประชิดขอบป่าโปร่งติดทุ่งหญ้าคาเพื่อมองหากล้วยไม้ชนิดอื่นๆ

ใช้เวลาเพียงไม่นานเราก็พบกล้วยไม้ที่ออกดอกเบ่งบานซึ่งเป็นชนิดพรรณที่ยังไม่เคยสำรวจพบในพื้นที่ มุมในการแหงนมองบ่งบอกถึงความยากลำบากในการเก็บตัวอย่างอย่างไม่ต้องมีข้อสงสัย แต่มันช่างง่ายดายเสียเหลือเกินเมื่อคนที่ออกแรงปีนป่ายไปตามลำต้นและกิ่งไม้นั้นคือ “สารท” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าวัยหนุ่มฉกรรจ์จากหมู่บ้านเซปะหละ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เขตรักษาพันธุ์ฯ และหนุ่มคนนี้ไม่เคยแสดงอาการอิดออดบ่ายเบี่ยงเลยเมื่อถูกร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งถ้าจะว่ากันตามตรงแล้วไม่มีทางเป็นไปได้สำหรับคนอย่างผมที่มีปัญหาเรื่องอาการปวดหลังเรื้อรังจะสามารถ

กว่าขั้นตอนการถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างจะเรียบร้อยผ่านพ้นไปก็เป็นช่วงใกล้เวลาเที่ยง แม้แสงแดดจะถูกหมู่เมฆบดบังไปบางส่วนแล้วก็ตาม วันนั้นยังคงเป็นวันที่อุณหภูมิอากาศนั้นสูงจนเกือบสุดที่ผมจะทานทน การเดินลัดเลาะไปตามไหล่เขา ขอบป่าและไร่ซาก อีกทั้งน้ำหนักกระเป๋าที่ถ่วงหลังทำให้ความสนุกในการทำงานลดลงไปจนเกือบหมด สภาพร่างกายและจิตใจผมเริ่มฟื้นคืนหลังจากที่เรามาหยุดพักร่มในหุบริมห้วยบริเวณชายป่าดิบแล้ง

"เต่าครับเต่า" เสียงจาก จอนวย เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอีกคนหนึ่งดังขึ้น พร้อมชี้ไปยังปลักโคลนเล็กๆ กลางห้วยใกล้จุดที่เราหยุดพัก ใจผมพองโตเมื่อมองตามไปยังตำแหน่งนั้น

เกล็ดกระดองสีดำขนาดใหญ่โดดเด่นอยู่ใต้กอต้นบอนสีเขียวสด "เต่าหก" เต่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทยกำลังแช่ปลักโคลนหลบร้อน นี่เป็นครั้งที่สองที่ผมพบกับเต่าชนิดนี้ในสภาพที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อเกือบสิบปีก่อน ที่ได้มีโอกาสไปช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยระดับปริญญาโทของรุ่นพี่ในห้องวิจัยเดียวกันนั้น เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับเต่าบกชนิดนี้ ความตื่นเต้นดีใจไม่ได้มากน้อยไปกว่ากันแตกต่างกันที่ครั้งก่อนหน้าเป็นเต่าเพศผู้และจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดเต่าที่พบตัวนี้เป็นเพศเมีย อย่างไรก็ตามความน่ายินดีที่เกิดขึ้นไม่ได้หักล้างประเด็นที่เป็นเป้าหมายหลักของการสำรวจในครั้งนี้ "กล้วยไม้ดิน"

การสำรวจดำเนินต่อหลังจากมื้ออาหารกลางวันง่ายๆ พื้นที่เดินสำรวจเปลี่ยนจากชายป่าโปร่งเข้าสู่ความหนาทึบของป่าดิบแล้งอันชุ่มชื้น แต่กระนั้นตลอดระยะทางไม่พบกล้วยไม้ดินเลยแม้เพียงชนิดเดียว ผิวหนังที่เบาแสบจากแสงแดดที่อ่อนแรง ท้องฟ้ามืดจากเมฆดำครึ้ม สายลมอ่อนเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เราตัดสินใจเดินออกจากพื้นที่ป่าดิบด้วยเกรงไม้อาจจะล้มจากกระแสแรงลมที่พัด แต่เมื่อออกมาสู่ที่โล่งเราก็ต่างเร่งเดินกลับเข้าหน่วยพิทักษ์ป่าฯ จากความหวั่นไหวที่มีให้กับเสียงครืนที่เริ่มสะเทือนจากเบื้องบน ตลอดระยะทางที่เดินกลับ ดวงตา 4 คู่ที่ชำเลืองมองหากล้วยไม้ดินก็ยังคงผิดหวังอยู่เช่นเดิม

ระหว่างที่ผมกำลังจัดแจงธุระส่วนตัว ควันลอยคลุ้งทั่วโรงครัวเมื่อพี่ๆ เจ้าหน้าที่เริ่มวุ่นวายกับการเตรียมมื้ออาหารเย็น “เจ้าเดี่ยว” เก้งเพศผู้เขาเดียวเจ้าประจำโป่งดินริมชายป่ากำลังสะบัดหางไปมาอย่างสบายใจ เสียงร้องเรียกของหัวหน้าทีมสำรวจดังขึ้นที่หน้าบ้านพักบอกให้ผมเตรียมอุปกรณ์ถ่ายรูปและเดินตามไปยังพื้นที่โล่งริมห้วยใกล้กับหน่วยพิทักษ์ป่าฯ

ช่อดอกขนาดเล็กสีขาวนวลแทงตั้งโผล่ขึ้นมาจากพื้นผิวดินที่มีใบไม้ปกคลุมเล็กน้อย "กล้วยมด" เป็นชื่อระบุเรียกของกล้วยไม้ดินชนิดนี้ สีที่ซีดขาวบ่งบอกได้ว่า ตัวมันเองนั้นไร้ซึ่งคลอโรฟิลด์ไม่สามารถสังเคราะห์แสงสร้างอาหารเองได้ แต่จากการศึกษาทำให้เราทราบว่า กล้วยไม้ดินชนิดนี้ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการมีความสัมพันธ์กับเชื้อราในรูปแบบที่เป็นปรสิตอีกทอดหนึ่ง จากการพบช่อดอกแรกสู่ช่อดอกที่สอง ช่อดอกที่สาม ช่อดอกที่สี่และเพิ่มมากขึ้นจนเห็นได้ทั่วบริเวณเมื่อกวาดสายตาไปโดยรอบ เป็นเรื่องที่น่าปิติถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ

เสียงจากกระจกสะท้อนและชัตเตอร์ของกล้องที่ดังจากการถ่ายภาพ เสียงหยาดฝนที่เริ่มรินลงมาจากฟ้าตกกระทบผิวใบและผืนดิน เสียงความคิดของผมลั่นดัง

"เสาะหาแสนไกล ใกล้เพียงใส่ใจมอง"

เกี่ยวกับผู้เขียน

จองื้อที

แต่เดิมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากภาคตะวันออก มุ่งมั่นเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยความสนใจส่วนตัวและถูกชักชวน จึงเลือกเข้าศึกษาในภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ สาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสช่วยเก็บข้อมูลงานวิจัยสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น จึงได้เข้ามาศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทต่อมาถึงในระดับปริญญาเอก และยังคงมีสถานภาพเป็นนิสิตอยู่ในปัจจุบันขณะ

"เราพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้งเราไม่ได้รู้อะไรเลย"

พบกับบทความ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน










กำลังโหลดความคิดเห็น