ส่อง "เทคนิคซ่อมบ้านพังจากแผ่นดินไหว" ที่วิศวกรชำนาญการต่างต้องยกนิ้วให้เหล่าช่างท้องถิ่นชาวเชียงราย หลังธรณีพิบัติภัยถล่มยับครบ 2 ปี ที่แม้จากนอกสูตรวิชาการไปบ้าง แต่สำหรับการใช้งานถือว่าเหมาะสม
แม้จะมีเทคนิคการซ่อมแซมบ้านหรืออาคารที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวโดยนักวิชาการมากมาย แต่ในชีวิตจริงชาวบ้านตาดำๆ อาจไม่สามารถทำได้เช่นนั้น ด้วยสาเหตุหลายประการ ทั้งด้านทุนทรัพย์ที่มีจำกัด เครื่องไม้เครื่องมือที่ไม่เพียบพร้อม และความรู้ของวิศวกรท้องถิ่นที่ยังมีไม่พอ การซ่อมแซมบ้านเรือนที่เห็นจึงเป็นไปตามอัตภาพด้วยภูมิปัญญาของช่างท้องถิ่น แต่แข็งแกร่งไม่น้อยไปกว่าสูตรของนายช่างใหญ่ในตำรา
เมื่อไม่นานมานี้ ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์มีโอกาสได้ลงพื้นที่ย้อนรอยแผ่นดินไหวเชียงรายครบ 2 ปี ร่วมกับคณะนักวิจัยในโครงการเผยแพร่ความรู้การก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนต้านแผ่นดินไหว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างอาคารต้านแผ่นดินไหวมาถ่ายทอดให้วิศวกรและช่างชุมชนได้เรียนรู้กันแบบถึงที่ในลักษณะการเวิร์คช๊อป ซึ่งก่อนจะเริ่มภารกิจได้นำทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ลงพื้นที่สำรวจบริเวณที่เคยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว และติดตามการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนด้วยเทคนิคต่างๆ ที่แม้จะไม่ได้เป็นไปตามหลักวิศวกรรมศาสตร์มาก แต่ก็พอจะเป็นตัวอย่างสำหรับการซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหายที่คล้ายคลึงกันได้
จุดที่ 1 เริ่มต้นที่บ้านป่ากอดำ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ของนางนวล คำสาน บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ใกล้รอยเลื่อนแม่ลาวบริเวณศูนย์กลางไม่เกิน 1 กิโลเมตร เมื่อเกิดแผ่นดินไหว บ้านทั้ง 2 หลังที่อยู่ในบริเวณเดียวกันจึงได้รับความเสียหายพอสมควร โดยบ้านหลังสีส้มเสาปูนแตกกระเทาะทั้งหมดพราะเสามีขนาดเล็กเกินไป ส่วนบ้านหลังเล็กเกิดรอยร้าวทั่วบริเวณโดยเฉพาะส่วนล่างของตัวบ้านที่แตกออกจนเห็นเป็นรอยอ้า
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ หัวหน้าโครงการฯ ได้พูดคุยกับเจ้าของบ้านแล้วอธิบายว่า บ้านหลังนี้ได้ดำเนินการซ่อมแซมด้วยการเสริมเสาทั้งหมดด้วยเหล็กเส้นแล้วพอกปูนใหม่ จนเสาที่ได้มีขนาดใหญ่มากกว่าเดิมถึง 1 เท่า ทำให้เสาดูแข็งแรงจนเบื้องต้นประเมินว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกบ้านหลังนี้จะไม่ได้รับการกระทบกระเทือน โดยแนะนำด้วยว่าการเสริมอาคารในลักษณะนี้ค่อนข้างเหมาะสม เพราะทำง่ายเพียงแค่นำเหล็กเส้นมาสานเป็นกรง หรือพันในแนวนอนเพื่อรองรับแรงเบ่งแตกแล้วกรอกปูนเพื่อพอกเท่านั้น เหมาะสำหรับบ้านหรืออาคารที่มีลักษณะไม่สูงมากนัก
ออกรถต่อไปอีกไม่กี่ร้อยเมตร ก็ถึงจุดที่ 2 ของการลงพื้นที่ ณ บ้านสันกะนแฮ้ว อ.แม่ลาว บ้านหลังนี้มีความโดดเด่นมากตรงที่กำแพงของบ้านพังเสียหายเกือบทั้งหมดแต่เจ้าของบ้านอย่างนายเงิน วรรณา ไม่ซ่อม ขอเก็บไว้ดูเป็นที่ระลึกว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหว เพราะบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวเพียงแค่ 1 กิโลเมตร นอกจากกำแพงที่เสียหาย รอยร้าวภายในตัวบ้านที่ถูกฉาบทับด้วยปูนยังปรากฎทั่ว แต่ที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นพื้นบ้านที่มีแนวการแตกเป็นรอยยาว ซึ่งในจุดนี้ ศ.ดร.อมร ได้เปิดแผนที่เข็มทิศและแผนที่ดาวเทียมเทียบกับแนวการเกิดแผ่นดินไหวแม่ลาวในครั้งนั้นให้ทีมข่าวดูซึ่งปรากฎเป็นร่องรอยที่ขนานกัน นักวิจัยจึงฟันธงว่ารอยดังกล่าวเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว ซึ่งรอยแยกดังกล่าวชาวบ้านก็ได้ซ่อมแซมด้วยกันฉาบปูนแล้วเช่นเดียวกัน
สำหรับจุดที่ 3 เราขับรถห่างมาจากจุดก่อนๆ พอสมควรเพื่อเดินทางไปยังบ้านท่ามะโอ อ.แม่ลาวก่อนรถจะจอดลงที่หน้าบ้านไม้หลังหนึ่ง ซึ่งสวยงามตระการตามากจนไม่มั่นใจว่าเป็นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวหรือไม่ แต่ก็เป็นเรื่องจริงเพราะบ้านหลังใหม่ที่เห็นเป็นบ้านที่ นายอุดม สันดอนทอง สร้างขึ้นมาใหม่ด้วยงบประมาณกว่า 2.2 ล้านบาท เพื่อแทนบ้านไม้หลังเดิมที่โดนแผ่นดินไหวโจมตีจนราบเป็นหน้ากลอง โดยบ้านหลังนี้เจ้าของบ้านได้ลงมือออกแบบด้วยความพิถีพิถันเป็นพิเศษ โดยยังคงโครงสร้างให้เป็นไม้ทั้งหลังแต่ทำเสาให้ใหญ่ขึ้น ทำเหล็กโครงคานให้ละเอียดขึ้น และใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านด้วยการใช้น๊อตยึดกับไม้ โดยใช้ไม่แผ่นรองอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ให้คานติดกับเสาได้อย่างแข็งแรง
ศ.ดร.อมร เผยว่า การสร้างบ้านในลักษณะนี้เป็นวิธีที่ดีมาก แต่ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงอีกเล็กน้อย เพราะคานกับน๊อตยังยึดกันไม่แข็งแรงพอ ต้องทำการเสริมเหล็กยืน ใช้น๊อตใหญ่ขึ้น หลีกเลี่ยงการยึดคานกับเสาบริเวณรอยต่อของแผ่นไม้เพราะจะทำให้การออกแรงทำได้ไม่ดี และควรเพิ่มน้อตยึดเป็นข้างละ 4 จุดจึงจะต้านแรงเฉือนจากการเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างสมบูรณ์
การสำรวจยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงบ้านหลังที่ 4 บ้านที่มีหน้าต่างคล้ายกับรีสอร์ท ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านดงมะดะ อ.แม่ลาว จุดที่ได้รับความเสียหายหนักที่สุดจากการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่ง นายกษิดิษ เงินแก้ว เจ้าของบ้านเผยว่า หลังเกิดเหตุบ้านได้รับความเสียหายมากโดยเฉพาะเสาที่เนื้อปูนแตกจนเห็นเหล็กเส้นด้านในเพราะเดิมใส่เหล็กเส้นน้อยมาก เพื่อแก้ปัญหาในช่วงแรกจึงใช้ถุงทรายคำยัน และทำการพอกเสาเสริมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 50x50 เซนติเมตรสำหรับเสาเดี่ยว ส่วนเสามุมจะสร้างเสาอีก 2 เสาขนาบกับเสาเดิมในรูปตัวแอล เพื่อรับแผ่นดินไหวได้ 2 ทิศทางกำลังในทิศทาง โดยเสาทุกค้นจะมีการเสริมเหล็กปลอกอย่างแน่นหนาแล้วพอกทับด้วยปูน ทำให้ รศ.ดร.ไพบูลย์ ปัญญาคะโป นักวิจัยในโครงการฯ อีกคนถึงกับยกนิ้วให้ว่าเป็นวิธีที่ดีมากแต่ก็เตือนด้วยว่าเสาต้นที่เตี้ยที่สุดยังคงมีความเสี่ยง
สำหรับบ้านหลังที่ 5 ณ บ้านหนองเก้าฮ้อง ต.ดงมะดะ ซึ่งเป็นบ้านสองชั้นหน้าตาธรรมดา แต่นักวิจัยเผยว่าเป็นหลังที่ใช่เทคนิคการซ่อมดีและถูกที่สุดเพราะใช้งบประมาณไปกับวัสดุไม่กี่พันบาท ส่วนค่าแรงฟรี เพราะชาวบ้านในละแวกช่วยกันซ่อมด้วยน้ำพักน้ำแรง เจ้าของบ้านเผยว่า หลังเกิดแผ่นดินไหว เสาของบ้านก็ได้รับความเสียหายพอสมควรจนต้องตัดไม้มาค้ำยันเอาไว้กันบ้านถล่ม ส่วนการซ่อมก็ทำด้วยหลักง่ายๆ เพียงนำเหล็กเส้นหุ้มเหล็กปลอกมาดามที่เสา จากนั้นจึงใช้อิฐบล๊อกมาวางโดยรอบ ก่อปิดเสาให้เป็นเสมือนไม้แบบ จากนั้นจึงกรอกซีเมนต์เป็นอันเสร็จทำให้เสาใหม่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งนักวิจัยเผยว่าน่าจะใช้งบประมาณไม่เกินต้นละ 1,000 บาท
หลังการเยี่ยมชม ศ.ดร.อมร เผยว่า วิธีการนี้แม้จะดูง่ายแต่เป็นวิธีที่ถูกต้องและใกล้เคียงกับแบบเสริมความแกร่งอาคารที่ได้จากงานวิจัย จึงค่อนข้างแนะนำวิธีการนี้มากที่สุด อย่างไรก็ดีวิธีการนี้ก็มีข้อเสียตรงที่เสาไม่สวยงามเท่าที่ควร ซึ่งเขาได้แนะนำเพิ่มว่าสามารถตีอิฐบล๊อกออกได้หากอยากได้ความสวย เพราะลำพังเหล็กและปูนด้านในก็เสริมกำลังได้พอสมควร ขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านว่าจะต้องการหรือไม่
มาถึงจุดที่ 6 จุดเกือบสุดท้ายของการสำรวจ เราหยุดรถกันที่วัดดงมะดะ ต.ดงมะดะ อีกหนึ่งศาสนสถานที่ได้รับความเสียหายหนักจากแผ่นดินไหว โดยเฉพาะซุ้มศาลาทางเดินที่อยู่รายรอบพระอุโบสที่ปูนกระเทาะเหล็กแตกออกมา ซึ่งขณะนี้กลับมาใช้ได้เหมือนเดิมแล้วด้วยการซ่อมแซมแบบกระเทาะปูนเก่าออกแล้วหล่อปูนใหม่เข้าไป แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทีมข่าวไม่สามารถเข้าไปถ่ายให้เห็นรายละเอียดภายในได้ เนื่องจากวัดปิด แต่ก็ได้เก็บเกี่ยวความสวยงามของสถาปัตยกรรมและแนวพระอุโบสถมาฝากกัน
มาถึงบ้านหลังสุดท้าย เป็นบ้านของนายสุวรรณ และนางอรุณี มโนใจ เจ้าของบ้านวัย 72 ปี บ้านหลังนี้ถือเป็นบ้านที่ค่อนข้างโชคร้ายในโชคดี เพราะในขณะที่เริ่มก่อสร้างได้ยังไม่ถึง 30% ก็เกิดแผ่นดินไหว ทำให้ผนังและเสาของชั้น 2 แตกร้าวแยกจากตัวบ้าน จนเห็นเป็นช่องขนาดใหญ่ที่สามารถสอดฝ่ามือเข้าไปได้ นอกจากนั้นยังมีรอยแตกแบบเฉือนกระจายทั่วผนัง เนื่องจากไม่มีคานคอนกรีตยึดหัวเสา เป็นเหตุให้เสาเกิดการแยกตัวออก ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานคณะนั้นวิจัยของ รศ.ดร.ไพบูรณ์ ปัญญาคะโป นักวิจัยในชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหว สกว.ได้ลงพื้นที่พอดี จึงเข้าช่วยเหลือและประเมินการแก้ไขให้ โดยใช้วิธีเสริมผนังใหม่ให้ติดกันทั้งผืน และเพิ่มความแข็งแรงด้วยการติดตะแกรงเหล็กฉีกด้วยตัวยึดติด แล้วฉาบปูนทับอีกครั้ง เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่ผ่านการวิจัยมาแล้วว่าเป็นวิธีการเสริมแกร่งแผ่นดินไหวที่ได้ผลที่สุด โดยไม่ต้องเพิ่มงบประมาณมาก เพียงตารางเมตรละ 440 บาท
"จากการ สำรวจอาคารบ้านเรือนทึ่ได้รับความเสียหายจะเห็นว่าเสาและกำแพงถือเป็นโครงสร้างสำคัญที่คอยรับน้ำหนักและแรงสั่นสะเทือน ฉะนั้นการออกแบบอาคารใหม่ วิศวกรจึงต้องให้ความสนใจกับการเสริมความแกร่งโดยเฉพาะเสาที่นอกจากจะช่วยค้ำยันบ้าน ยังช่วยคำ้ยันชีวิตให้คนที่อยู่ในบ้านนั้นปลอดภัย เพราะแผ่นดินไหวไม่ได้ฆ่าคน คนที่ตายส่วนใหญ่ตายจากสิ่งก่อสร้างหล่นลงมาทับ และเทคนิคของชาวบ้านที่เราเห็นวันนี้แม้ว่าจะไม่ได้เป็นไปตามตำรามากนักแต่ก็เป็นวิธีที่วิศวกรอย่างพวกผมยอมรับได้ เป็นสิ่งที่ดีที่ประชาชนจะได้รู้ไว้เพราะเราไม่รู้เลยว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ " ศ.ดร.อมร กล่าวทิ้งท้าย