หนึ่งในปัญหาการศึกษาไทยคือการรักษาครุภัณฑ์ทางการศึกษาไว้อย่างดีจนนักเรียนเข้าถึงยาก แต่สำหรับ “กล้องโทรทรรศน์” ที่ สดร.มอบให้โรงเรียนนั้น กลับยินดีหากอุปกรณ์เพื่อศึกษาดาราศาสตร์นี้ถูกใช้งานจนพัง และยังใจดีซ่อมให้ฟรีด้วย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เพิ่งมอบกล้องโทรทรรศน์ในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์เปิดโอกาสการเรียนรู้” แก่ตัวแทนจากโรงเรียนทั่วประเทศอีก 50 ตัว พร้อมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อใช้งานกล้องโทรทรรศน์ระหว่างเกิดปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกเมื่อ 3-5 มิ.ย.59 ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา
รศ.บุญรักษา สุทนธรรม ผู้อำนวยการ สดร.กล่าวว่า ในปี 2559 สถาบันฯ ได้มอบกล้องโทรทรรศน์ให้แก่โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศใน 61 จังหวัด จำนวน 100 ตัว โดยแบ่งเป็น 50 ตัวที่ได้มอบไปก่อนหน้านี้ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ล่าสุดมอบที่ฉะเชิงเทราอีก 50 ตัว
“ตั้งเป้าหมายว่าจะมอบกล้องโทรทรรศน์และอบรมให้แก่โรงเรียนเครือข่ายใน61 จังหวัดเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นเครือข่ายในการทำกิจกรรมต่างๆ ของ สดร. เมื่อมีปรากฏการณ์ต่างๆ ก็จะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเพื่อให้โรงเรียนจัดกิจกรรมร่วมกัน คาดหวังให้โรงเรียนนำกล้องไปใช้ศึกษา ดูดาว ตั้งชมรมดาราศาสตร์ และในอนาคตเรายังโครงการสนับสนุนให้ทำ 'มุมดาราศาสตร์ในโรงเรียน' (Astro Corner) โดยเราจะมอบสื่อการเรียนรู้ให้โรงเรียน นอกจากนี้ยังอบรมการใช้กล้องเป็นระยะ เราอยากให้เด็กได้มาสัมผัสการใช้กล้อง เสียก็ไม่เป็นไร ส่งมาซ่อมที่ สดร.ได้แต่ต้องใช้” รศ.บุญรักษาระบุ
เช่นเดียวกับ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สดร.ซึ่งย้ำให้ตัวแทนโรงเรียนต่างๆ ที่รับมอบกล้องโทรทรรศน์ไปนั้นให้นำไปใช้งานให้เต็มที่ เพราะหากไม่ใช้งานจะทำให้กล้องพังเร็วขึ้น เพราะจะเกิดเชื้อราขึ้นในกล้อง แต่หากมีการใช้งานกล้องก็จะไม่พังเร็วเท่าการเก็บกล้องไว้ในกล่อง และหากหากใช้งานแล้วพังก็ส่งไปให้ สดร.ซ่อมให้ได้ และหากโรงเรียนนำไปใช้สร้างประโยชน์ได้เยอะ โครงการมอบกล้องโทรทรรศน์แก่โรงเรียนนี้ก็จะมีต่อไปในอนาคต
“พังเราซ่อมให้ อย่าหายเป็นพอ ถ้า รา ฝ้า ขึ้นจากการใช้งาน ไม่ต้องกลัว เราซ่อมให้ แต่อย่าใส่ไว่ในกล่อง รากับฝ้าจะมา ตั้งไว้เลย เวลาเอาไปใช้ก็ยกไปใช้ได้สะดวก จะใช้บ่อยๆ จนกระจกเคลื่อนก็ได้ ถ้าใช้งานไป 4-5 ปี กระจกขึ้นรา เราจะเคลือบให้ใหม่ เพราะเรามีเครื่องเคลือบกระจกขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน เคลือบกระจกได้ทีละ 20-30 บ้านต่อชั่วโมง” ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร.กล่าว
สำหรับกล้องที่ สดร.มอบให้แก่โรงเรียนนี้เป็นกล้องโทรทรรศน์ดอปโซเนียน (Dopsonian Telescope) กล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง ซึ่งมีกำลังขยายสูงสุด 100 เท่า และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของกระจกสะท้อนแสง 10 นิ้ว และขนาดดังกล่าวนั้น ศุภฤกษ์ระบุว่า สามารถใช้งานได้หลากหลาย โดยขนาดกระจกยิ่งมากยิ่งมีกำลัง ยิ่งมีกำลังรวมแสงมาก
ศุภฤกษ์กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาไม่เคยใช้กล้องดอปโซเนียนส่องดาวอังคารขณะใกล้โลกเลย ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ช่วงนี้จะใช้กล้องดอปโซเนียนส่องปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ และหากท้องฟ้าใสเคลียร์แล้วจะสังเกตเห็นขั้วน้ำแข็งของดาวอังคารได้ อีกทั้งสังเกตดาวเสาร์ได้ดี โดยกล้องโทรทรรศน์ที่มีกระจก 4 นิ้วขึ้นไปก็ใช้ดูดาวเสาร์ได้แล้ว โดยกล้องกำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไปก็ช่วยให้เห็นวงแหวนได้ชัดเจนแล้ว
“จุดเด่นของกล้องสะท้อนแสงคือใช้กระจกทำให้ไม่มีการเหลือมสีที่ตรงขอบ และมีราคาถูกที่สุด ทำให้เราสามารถจัดสรรงบประมาณให้ทำกล้องขนาดใหญ่เพื่อใช้สังเกตการณ์ในงานวิจัยได้ กล้องที่เรามอบให้ใช้สังเกตดาวเคราะห์ได้เพราะกำลังขยายถึง 100 เท่า มีกำลังรวมแสงสูงใช้สังเกตวัตถุท้องฟ้าห้วงอวกาศลึก (deep-sky object) และใช้ดูดวงจันทร์ในช่วง 8 ค่ำได้ดีมาก อนาคตยังสามารถดัดแปลเพิ่มเติมได้” ศุภฤกษ์กล่าว
ด้าน พวงน้อย บิลมาศ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เผยกับทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า มาอบรมครั้งนี้มีความมุ่งหมายที่จะนำความรู้ไปเผยแพร่แก่นักเรียน โดยมีครูฟิสิกส์ของโรงเรียนอีก 2 คนมาเข้ารับการอบรมเพื่อนำความรู้กลับไปสอนต่อ
เมื่อปี 2558 สดร.ได้มอบกล้องโทรทรรศน์แก่โรงเรียนทั่วประเทศ 60 ตัว เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทางโรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก ได้ขอมาด้วยแต่ไม่ได้รับเลือก จึงเตรียมพร้อมใหม่สำหรับการแจกกล้องโทรทรรศน์ 100 ตัวในปี 2559 แล้วก็ได้รับเลือกในรอบที่ 2
“ที่โรงเรียนไม่มีกล้องโทรทรรศน์เลย เราเลยยื่นหลักฐานการทำกิจกรรมดาราศาสตร์เพื่อขอรับกล้องโทรทรรศน์ ที่เราได้รับมอบกล้องเพราะเรามีกิจกรรมการเข้าค่ายดาราศาสตร์ กิจกรรมทางด้านดาราศาสตร์ตลอดทั้งปี ครั้งนี้เราเตรียมพร้อมมาดี เก็บรวบรวมหลักฐานการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งตอนยังไม่มีกล้องเราก็ทำกิจกรรมด้วยการดูแผนที่ดาว” พวงน้อยกล่าว
เมื่อกลับไปโรงเรียนครูพวงน้อยและครูฟิสิกส์อีก 2 คนจะนำกล้องโทรทรรศน์ไปมอบให้ผู้อำนวยการเป็นผู้รับมอบหน้าเสาธง และจากการอบรมเชิงปฏิบัติการจาก สดร.ทำให้ทราบว่าช่วงกลางวันก็สามารถสังเกตท้องฟ้าได้ โดยพิธีมอบกล้องหน้าเสาธงนั้นจะตั้งกล้องโทรทรรศน์ให้ทุกคนได้สังเกตดูดวงอาทิตย์
หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก กล่าวอีกว่า นอกจากทำกิจกรรมที่โรงเรียนแล้ว หากเป็นไปได้ก็จะขยายการทำกิจกรรมไปยังโรงเรียนอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียง และตั้งใจไว้ว่าหากมีปรากฏการณ์อื่นๆ ในอนาคต ก็จะนำกล้องโทรทรรศน์ไปให้บริการแก่ชุมชนด้วย อนาคตก็ตั้งใจว่าจะขอกล้องโทรทรรศน์เพิ่มด้วย