xs
xsm
sm
md
lg

1 ปีไม่เคยเงียบเหงา “หอดูดาวฯ ฉะเชิงเทรา” ขวัญใจชาวบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อาคารหอดูดาวประกอบด้วยโดมไฟเบอร์กลาสทรงเปลือกหอยภายในมีกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร เป็นส่วนที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด เพราะสังเกตดวงดาวได้รอบทิศทาง
เปิดให้บริการด้านดาราศาสตร์แก่ประชาชนอย่างไม่เป็นทางการมานานนับปีแล้ว สำหรับ “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา”หอดูดาวภูมิภาคแห่งแรกของประเทศที่กำลังกลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของภูมิภาค ในโอกาสที่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ลงพื้นที่ เราจึงร่วมพูดคุยกับ “นายชูชาติ แพน้อย” ผู้อำนวยการหอดูดาวฯ ถึงผลตอบรับจากประชาชน

“คุณเชื่อไหม? หอดูดาวแห่งนี้กลายเป็นที่รวมตัวกันของประชาชนเวลาเกิดปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ .. ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าชาวบ้านละแวกนี้มีความกะตือรือร้น และรักหอดูดาวไม่ต่างไปจากเด็กๆ นักเรียน นักศึกษาเลย” คำตอบประโยคแรกจากผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ถูกเอ่ยขึ้นด้วยเสียงนุ่มลึกเอ่ยขึ้นแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เมื่อเราถามถึงความตื่นตัวของชาวบ้านผู้มาใช้บริการหอดูดาว

นายชูชาติ แพน้อย ผู้อำนวยการหอดูดาวฯ ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หอดูดาวฯ ฉะเชิงเทรา เริ่มเปิดให้บริการประชาชนมาตั้งแต่ช่วงต้นปี'58 แม้ว่าการก่อสร้างจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% เหลือการปรับปรุงทัศนียภาพ โดยในช่วง 1 ปีกับอีก 5 เดือนที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะมีประชาชน ครู นักเรียน นักศึกษา ทะยอยมาทำกิจกรรมที่หอดูดาวฯ อย่างล้นหลาม แม้ว่า ณ ตอนนี้จะมีบุคลากรอยู่เพียง 10 คน โดยแบ่งเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ที่คอยประจำการเพื่อทำวิจัยและให้ความรู้จำนวน 4 คน

นายชูชาติ กล่าวว่า หอดูดาวฯ ฉะเชิงเทราเป็นหนึ่งในโครงสร้างทางดาราศาสตร์ของชาติที่มีมาตรฐานและศักยภาพสูง โดยมีเป้าหมายหลักให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับประชาชนและสถานศึกษาในท้องถิ่น และเป็นหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนดาราศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยนักเรียน นักศึกษา และประชาชนจะได้ใช้กล้องโทรทรรศน์และเครื่องมือทางดาราศาสตร์คุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักและตื่นตัวด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของ จ.ฉะเชิงเทรา โดยถือเป็นหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ส่วนภูมิภาคแห่งที่ 2 ถัดจากหอดูดาวฯ นครราชสีมา ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 พ.ย.57
“หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าจังหวัดเล็กๆ แบบฉะเชิงเทรา มาเป็นตัวแทนพื้นที่สำหรับจัดตั้งหอดูดาวได้อย่างไร เริ่มแรกสุดต้องยกความดีให้กับความพร้อมด้านดาราศาสตร์ของคนในพื้นที่ เพราะฉะเชิงเทรามีปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ ความชำนาญด้านดาราศาสตร์ มีโรงเรียนที่มีบุคลากรและนักเรียนที่มีความพร้อมด้านดาราศาาสตร์ดีที่สุดหลายโรงเรียน เช่น เบญจมราชรังสฤษฎิ์ โรงเรียนแปลงยาว ซึ่งมีครูที่มีศักยภาพมาก ฉะเชิงเทราจึงถูกหยิบขึ้นมาเป็นโมเดลสำหรับการสร้างหอดูดาวภูมิภาคแห่งแรกด้วยพื้นที่ธรณีสงฆ์กว่า 36 ไร่ และต่อยอดจนเกิดเป็นโครงการหอดูดาวอีก 4 แห่งเป็นทั้งหมด 5 แห่งทั่วประเทศ แต่ในส่วนการก่อสร้างหอดูดาวฯ นครราชสีมาได้ก่อสร้างเสร็จและเปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี'57 โดยเราคาดว่าหลังจากนี้จะเร่งเก็บงานปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้ทันเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี' 60” ผู้อำนวยการหอดูดาวฯ ฉะเชิงเทรากล่าว

ถึงตอนนี้ นายชูชาติ ได้นำทีมข่าวฯ เดินชมแต่ละส่วนของหอดูดาวด้วยตัวเอง เริ่มตั้งแต่ส่วนจัดแสดงนิทรรศการความรู้ทางดาราศาสตร์ ด้วยโมเดลและคำบรรยายที่กระชับแต่รอบด้านของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่เราคุ้นเคยกัน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก เรื่อยไปจนถึงดาวพลูโต ดาวเคราะห์ ดาวหางและวัตถุในระบบสุริยะไปจนถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่สามารถสังเกตเห็นได้บนโลกเช่น แสงออโรรา หรือสุริยุปราคา ที่ถูกจัดแสดงเรียงลำดับไปตามแนวอาคารทรงโค้งที่ในช่วงท้ายจะไปบรรจบกับส่วนของอาคารฉายดาว

ผอ.หอดูดาวฯ ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า อาคารฉายดาวถือเป็นไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งของหอดูดาวนี้ เนื่องจากเป็นอาคารฉายดาวที่ประกอบด้วย โดมฉายดาวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ที่มีการติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบฟูลโดมดิจิทัลความละเอียด 25 ล้านพิกเซล ซึ่งภายในมีการออกแบบให้เป็นโทนสีฟ้าสบายตา ติดตั้งเก้าอี้โซฟาเอนนอนในแนวระนาบสำหรับดูดาวจำนวน 56 ที่นั่งเพื่อให้บริการฉายดาวและภาพยนต์วิทยาศาสตร์แก่ผู้สนใจทั่วไป ซึ่งในช่วงนี้หากไม่มีผู้มาติดต่อเพื่อขอเข้าชมเป็นคณะใหญ่จะเปิดให้ใช้บริการได้ในช่วงเย็นของทุกวันศุกร์

หลังจากชมการฉายดาวเสร็จ ผอ.หอดูดาวฯ ได้นำทีมข่าวไปสำรวจอาคารหอดูดาว ซึ่งถือเป็นไฮไลท์และส่วนที่ประชาชนชื่นชอบที่สุด โดยให้ข้อมูลว่า ในอาคารหอดูดาวนี้ประกอบด้วยโดมไฟเบอร์กลาสทรงเปลือกหอยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ฟุต ที่สามารถเปิดออกได้ 180 องศาสังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ภายในติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เมตรพร้อมอุปกรณ์สำหรับงานวิจัยทางดาราศาสตร์ เช่น เครื่องถ่ายภาพซีซีดีสเปคโตโทรกราฟ และเครื่องมือทางดาราศาสตร์อื่นๆ ส่วนระเบียงดาวภายใต้หลังคาเลื่อนก็มีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์ขนาดเล็กอีกจำนวน 5 ชุดสำหรับให้บริการสังเกตวัตถุท้องฟ้าและจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ ส่วนพื้นที่ขั้นบันไดรูปทรงแปลกตานั้น นายชูชาติ เผยว่า เป็นลานอัฒจันทร์ลักษณะขั้นบันไดรูปครึ่งวงกลมที่มีที่นั่งลดหลั่นกันสำหรับจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์กลางแจ้ง

“เปิดมาปีกว่าสังเกตได้ว่าอาคารดูดาวเป็นส่วนที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด หลายคนอายุเยอะแล้วแต่ไม่เคยเห็นดาว เช่น ดาวอังคาร หรือดาวเสาร์ พอได้มาส่องกล้องเห็นกับตาตอนแรกเขาก็ไม่เชื่อหาว่าเราเอากระดาษไปแปะไว้ที่ปลายกล้องหลอกเขา แต่เมื่อปล่อยให้ส่องเขาก็เชื่อจนคราวนี้ดูกันไม่วางตาเป็นภาพที่น่าประทับใจมาก ซึ่งการที่เราเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงอุปกรณ์ง่าย ทำให้เขาเปิดใจและอยากจะมาเป็นส่วนหนึ่งกับเรา ทำให้ตอนนี้มีผู้เข้าชมหอดูดาวเดือนละประมาณ 2-3 พันคน และจะเยอะมากถึงพันคนในวันที่มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์สำคัญเช่นเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 59 ที่มีการเกิดสุริยุปราคาบางส่วน”
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา จะเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 60
นายชูชาติ แพน้อย ผู้อำนวยการหอดูดาวฯ ฉะเชิงเทรา
ภาพดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่ถูกนำมาใช้เป็นจุดเริ่มต้นของส่วนนิทรรศการดาราศาสตร์
โมเดลดาวหางถูกทำขึ้นอย่างสมจริง เพื่อให้ประชาชนที่เข้าชมนิทรรศการเกิดภาพการเรียนรู้
บรรยากาศภายในส่วนจัดแสดงความรู้ทางดาราศาสตร์
ผนังของอาคารนิทรรศการฯ ถูกออกแบบให้เป็นรูปของกลุ่มดาว
ปร่ากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญก็ถูกนำมาจัดแสดงและอธิบายด้วยถ้วยคำง่ายๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจดาราศาสตร์ได้ดีขึ้น
มีเก้าอี้ปรับเอนนอนอย่างดีติดตั้งเป้นแนวยาวกว่า 54 ตัวไว้คอยรองรับประชาชน
ระบบฉายภาพแบบดิจิทัล ความคมชัดระดับ 4K ทำให้ส่วนของท้องฟ้าจำลองดูน่าสนใจและสมจริง
ภาพฉายในท้องฟ้าจำลองแสดงให้เห็นที่มาของชื่อดาวในจักรราศีต่างๆ
นักเรียนยุววิจัยเดินขึ้นไปยังส่วนของอาคารหอดูดาวเพื่อเก็บข้อามูลวิจัย
อาคารหอดูดาวฯ เป็นส่วนที่ประชาชนชื่นชอบที่สุด เพราะทำให้ได้เห็นดาวของจริง
หอดูดาวฯ ฉะเชิงเทรา มีกล้องโทรทรรศน์หลากหลายประเภทรองรับการทำงานวิจัยของนักดาราศาสตร์
กล้องโทรทรรศน์หลากหลายประเภท ถูกจัดเก็บไว้ในอาคารหอดูดาวที่มีหลังคาเลื่อนเปิด-ปิด จะเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปด้วยเมื่อเกิดปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์









กำลังโหลดความคิดเห็น