xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก 3 จรวดของ “เอเรียนสเปซ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จรวดทั้ง 3 รุ่นของเอเรียนสเปซ (ซ้ายไปขวา) เอเรียน 5, โซยุซ และเวกา (เอเรียนสเปซ)
นอกจากองค์การอวกาศทั่วโลกที่ทำให้คนทั่วโลกได้ตื่นเต้นกับการค้นสิ่งใหม่ๆ ในอวกาศแล้ว ผู้ให้บริการภาคเอกชนก็เป็นอีกฟันเฟื่องที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศไปสู่ชีวิตประจำวันของคนทั่วไป

เอเรียนสเปซ (Arianespace) เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการนำส่งดาวเทียมแถวหน้าของโลก ซึ่งเริ่มนำส่งดาวเทียมเชีงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2523 โดยนำส่งดาวเทียมแล้วกว่า 500 ดวง และอีกก้าวสำคัญคือบริษัทจะนำส่งดาวเทียมสื่อสาร “บีอาร์ไอแซท” ให้แก่ พีที แบงค์ รักยัต อินโดนีเซีย (บีอาร์ไอ) ในอินโดนีเซีย และจะกลายเป็นดาวเทียมดวงแรกในโลกที่เป็นของธนาคาร

บีอาร์ไอแซทจะให้การสื่อสารด้านการธนาคารที่มีความปลอดภัยขั้นสูงแก่ธนาคาร 10,600 สาขาของธนาคารบีอาร์ไอ ทั่วหมู่เกาะต่างๆ ของอินโดนีเซีย เพื่อบริการให้แก่ลูกค้าของธนาคารประมาณ 53 ล้านคน โดยดาวเทียมจะถูกปล่อยจากฐานปล่อยจรวด ณ ศูนย์อวกาศเกียน่า ในเมืองกูรู เฟรนซ์เกียน่า ด้วยจรวดเอเรียน 5 วันที่ 8 มิ.ย.59 นี้

เอเรียนสเปซมีจรวดนำส่งดาวเทียมทั้งหมด 3 รุ่น คือ จรวดเอเรียน 5 (Ariane 5) ซึ่งถือเป็นจรวดชั้นเยี่ยมของเอเรียนสเปซ ที่สามารถนำส่งดาวเทียมได้ทุกประเภท โดยจรวดรุ่นนี้แบ่งออกเป็น 2 ชุด คือ จรวดเอเรียน 5 อีซีเอ (Ariane 5 ECA) ซึ่งนำส่งสัมภาวะได้มากกว่า 10 ตันขึ้นสูงวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary transfer orbit) และจรวดเอเรียน 5 อีเอส (Ariane 5 ES) ซึ่งเหมาะสำหรับการนำส่งในวงโคจรต่ำและวงโคจร เช่น การให้บริการนำส่งสู่สถานีอวกาศนานาชาติ หรือ การนำส่งดาวเทียมระบุพิกัด

เอเรียน 5 มีความสูงประมาณ 17 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 5.4 เมตร จึงนับเป็นจรวดที่ค่อนข้างใหญ่สำหรับการนำส่งดาวเทียมเชิงพาณิชย์ โดยสามารถนำส่งดาวเทียมที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ทุกประเภท รวมถึงดาวเทียมที่พัฒนาขึ้นในอนาคตด้วย และใช้เวลาไต่สู่วงโคจรค้างฟ้า 25-35 นาที ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการแยกชิ้นส่วนระหว่างไต่วงโคจร

โซยุช (Soyuz) เป็นจรวดขนาดกลางของเอเรียนสเปซ ซึ่งเริ่มให้บริการนำส่งดาวเทียมจากฐานปล่อยในศูนย์อวกาศเกียน่าเมื่อปี 2554 เพื่อนำส่งดาวเทียมขนาดกลางที่มีทั้งดาวเทียมสำรวจ ดาวเทียมวิจัยและดาวเทียมชุด

ความสูงของจรวดโซยุซอยู่ที่ 11.4 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.11 เมตร สามารถนำส่งสัมภาระได้ถึง 5 ตันขึ้นสูงวงโคจรต่ำ หรือ 3 ตันสู่วงโคจรค้างฟ้า นอกจากนี้ยังมีศักยภาพในการส่งได้ถึงดาวอังคาร และมีโครงสร้างที่สามารถนำส่งยานอวกาศหรือสัมภาระได้พร้อมกัน 6 ลำ จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับการส่งดาวเทียมชุด

สุดท้ายคือจรวดเวกา (Vega) จรวดขนาดเล็กที่ออกมาเพื่อนำส่งดาวเทียมวิจัยหรือดาวเทียมสำรวจโลกขนาดเล็ก มีความจุในการนำส่งสัมภาระ 1.5 ตันขึ้นสู่วงโคจรต่ำ สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลากหลาย มีฐานปล่อยจรวดเฉพาะสำหรับจรวดรุ่นนี้ในศูนย์อวกาศเกียน่า และเป็นจรวดรุ่นเล็กที่มีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานสำหรับจรวดอื่นๆ ในรุ่นเดียวกันนี้

เวกาตอบสนองความต้องการของตลาดดาวเทียมพาณิชย์รุ่นใหม่ ที่ต้องการจรวดขนาดเล็กเพื่อนำส่งดาวเทียมขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่มีน้ำหนักเบาขึ้นสู่วงโคจร และยังนำส่งดาวเทียมได้หลายระดับความสูง โดยผนวกความได้เปรียบในการนำส่งจรวดจากฐานปล่อยใกล้เส้นศูนย์สูตรที่เมืองกูรู และความสามารถของท่อนจรวดขับเคลื่อน ทำให้ส่งสัมภาระหนัก 2,500 กิโลกรัม ขึ้นสู่วงโคจรที่ความสูง 200 กิโลเมตร หรือสัมภาระหนัก 1,300 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจร 800 กิโลเมตรได้









กำลังโหลดความคิดเห็น