xs
xsm
sm
md
lg

หยุดฝายไม่อยู่ ธารจะจมน้ำตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"มณฑาธาร ในวันที่ธารกำลังจะจมน้ำตาย" โดย ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม

########################

วันที่ 16 มิถุนายน 2559 ณ น้ำตกมณฑาธาร

วันนี้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมการสร้างฝายที่มณฑาธาร ซึ่งอยู่บริเวณดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ บริเวณนี้ เป็นป่าดิบแล้งซึ่งมีต้นไม้ใหญ่สมบูรณ์ ลำธารของน้ำตกแห่งนี้ เป็นลำธารเล็กๆความกว้างไม่เกิน 2-3 เมตร ปรกติแล้วมีน้ำตลอดปี ฟังว่าเพิ่งมีปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่น้ำแห้งจนหมด ลำธารนี้มีฝายเก่าที่สร้างไว้เป็นสิบปีแล้ว หลายฝาย บางฝายเริ่มพังแล้ว แต่เมื่อเกิดความแห้งแล้งในช่วงที่ผ่านมาจึงทำให้เกิดกระแสการสร้างฝาย ขุดลอกขึ้นมา ไม่ได้นับแต่เข้าใจว่ามีการสร้างและซ่อมแซมฝายเดิมในลำธารสายหลักรวมแล้วเป็นสิบฝาย และจะมีการสร้างและซ่อมกันอีกในวันที่ 17 มิถุนายน 2559 ก่อนที่จะมีการสร้างฝายในวันพรุ่งนี้ ผมจึงอยากจะให้ข้อมูลของฝายในปัจจุบันว่ามีผลกระทบยังไงต่อระบบนิเวศลำธารของมณฑาธารบ้างครับ

ทั้งนี้ต้องบอกว่า ข้าพเจ้ามองผลกระทบของฝาย ในมุมมองของการทำลายระบบนิเวศลำธาร การใช้ฝายในการกักเก็บน้ำหรือกักเก็บตะกอนนั้น แน่นอนว่าสร้างให้สูงให้ใหญ่ ยังไงก็กักเก็บได้อยู่แล้ว คำถามที่ควรถามคือ "เราควรจะทำเช่นนั้นหรือไม่?" ซึ่งในมุมมองของผม ซึ่งคลุกคลีสำรวจลำธารมามากคนหนึ่ง คิดว่าเราไม่ควรใช้ลำธารเพื่อประโยชน์นั้น เนื่องจากลำธารเป็นระบบนิเวศเฉพาะที่มีขนาดเล็กและมีความเปราะบางมาก มีสัตว์และพืชหลายชนิดที่อาศัยและใช้ระบบนิเวศนี้เท่านั้น ซึ่งจากภาพที่เห็นที่มณฑาธารวันนี้ ชัดเจนว่าฝายกำลังทำให้ระบบนิเวศลำธารเสื่อมสภาพและตายลงอย่างช้าๆ กล่าวคือ
1. ตะกอนที่ตกทับถมอยู่หลังฝาย ทับซอกเหลือบของหินและทับถมหินไปจนสัตว์หลายชนิดที่ชอบอาศัยอยู่ใต้ก้อนหินหรือเกาะอยู่บนหินไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ อยากยกตัวอย่างเช่นเต่าปูลู เป็นเต่าที่อาศัยอยู่ตามลำธารเท่านั้น จึงต้องอาศัยหลบซ่อนอยู่ซอกหลืบของหินก้อนใหญ่ๆ ส่วนปูที่เป็นอาหารหลักของเต่าก็อาศัยอยู่ตามซอกหลืบของก้อนหินเช่นกัน การที่ตะกอนตกทับถมซอกหินเสียหมดทำให้เต่าปูลูและอาหารของเต่าสูญเสียที่อาศัยไปหมด หรือในส่วนของพืช ต้นว่านน้ำหรือที่นักเล่นว่านจะเรียกกันว่าเสน่ห์จันทน์หอม จะชอบขึ้นอยู่ตามก้อนหินในลำธารที่ได้รับความชื้นจากการไหลของน้ำในลำธาร ตรงไหนที่น้ำลึกท่วมหินและตะกอนถมหินไปหมด ต้นไม้ชนิดนี้ก็ขึ้นไม่ได้
2. น้ำที่ลึกขึ้น กลายเป็นระบบนิเวศน้ำเกือบนิ่งและลึกซึ่งไม่ใช่ลักษณะน้ำที่สัตว์ลำธารชอบอาศัยอยู่ ยกตัวอย่างปูลำธารและเต่าปูลู ซึ่งจะไม่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำลึกและนิ่ง
3. การสร้างฝายที่สูงเป็นการปิดกั้นการเคลื่อนย้ายที่ของสัตว์น้ำต่างๆ ยกตัวอย่างปูและเต่าปูลูอีกนั่นแหล่ะ
4. การอ้างว่าฝายสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าในบริเวณนี้ เป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ฝายชุดนี้ไม่ควรสร้างคือ พื้นที่ตรงนี้เป็นป่าที่มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่ได้ต้องการความชุ่มชื้นจากฝายอีก นอกจากนั้นน้ำที่แผ่ขยายกว้างขึ้นยังทำลายระบบนิเวศริมลำธารที่มักจะมีต้นไม้กลุ่มหนึ่งที่ชอบอยู่แถวนี้ขึ้นอยู่
5. การอ้างว่าขังน้ำไว้ให้สัตว์ป่าใช้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามีน้ำไหลรินๆนิดเดียวสัตว์ป่าก็ใช้ดื่มกินได้แล้ว ไม่ต้องขังให้เป็นบ่อกว้างๆลึกๆ ในปีปรกติน้ำในมณฑาธารไม่เคยแห้ง ลำธารน้ำไหลเบาแค่ไหนสัตว์ก็ใช้พอดื่ม ในปีที่แล้งจนน้ำไม่ไหล เอาตามสภาพฝายที่เห็นซึ่งในปัจจุบันรั่วซึมน้ำไหลรอดใต้ฝาย น้ำหยุดไหลเมื่อไหร่ไม่กี่วัน น้ำในฝายก็ไหลหนีหมดเหมือนกัน ถ้ามีการซ่อมแซมจนน้ำไม่รอดใต้ฝายในที่สุดน้ำก็หมดคงไม่เหลือยาวหลายเดือน การจะช่วยสัตว์ในฤดูแล้งในปีที่ไม่ปรกติจึงไม่ใช่การสร้างฝายแล้วทำลายระบบนิเวศลำธารอย่างถาวร แต่เป็นการสร้างที่เก็บน้ำนอกเขตลำธารแล้วมีการนำน้ำมาเติมให้มีน้ำอย่างสม่ำเสมอมากกว่า

ต่อจากนี้ก็ขอบรรยายตามภาพให้ฟังนะครับ

นี่คือบางส่วนของลำธารที่ยังคงเหลือสภาพความเป็นลำธารดั้งเดิมอยู่ ถึงแม้เจ้าถิ่นจะบอกว่ามีทรายเพิ่มขึ้น จะเห็นว่า ลำธารไม่ได้กินเนื้อที่อะไรมากมาย มีพื้นเป็นกรวดทรายและหินใหญ่ น้ำไหลรินไม่ลึกไม่มีน้ำขัง ทางขวามือของภาพบนหาดกรวดจะเห็นกลุ่มต้นคล้าน้ำซึ่งเป็นต้นไม้ท้องถิ่นที่ชอบขึ้นริมลำธารขึ้นอยู่

ลองเปรียบเทียบภาพนี้กับภาพแรก ภาพบนเป็นภาพใต้ฝายลงไป ส่วนภาพนี้เป็นภาพเหนือฝาย มีสิ่งที่น่าสนใจในภาพนี้อยู่ 3 เรื่องด้วยกัน 1. สภาพของลำธารที่มีตะกอนดินตกทับถมจนเสียสภาพ (จมน้ำจมโคลนตาย) 2. กองดินทรายด้านซ้ายบนของภาพเป็นความพยายามในการขุดลอกก็ไม่ได้ช่วยให้ลำธารคืนสภาพกลับมาได้ 3. กองดินจากการขุดลอกฝายถูกนำไปกองทิ้งไว้ริมลำธาร ซึ่งไปทับลูกไม้ป่าที่ขึ้นอยู่และเนื่องจากกองอยู่ไม่ห่างจากลำธาร ฝนตกมาก็คงชะไหลกลับลงลำธารไปอีก

ฝายส่วนทางด้านซ้ายมือเป็นฝายเก่า เข้าใจว่าสร้างเพื่อกั้นแนวลำธารเดิมซึ่งมีความกว้างเท่านั้น (ซึ่งเป็นขนาดของลำธารดั้งเดิมบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่) การสร้างฝายทำให้เกิดการตกตะกอนทับถมเหนือฝาย ทำให้เสียสภาพในการระบายน้ำ น้ำจึงเอ่อสูงและกระจายกว้างกว่าแนวขอบของลำธารเดิม ซึ่งก็ทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งเพิ่มเติมและต่อมาน้ำก็หาทางไหล จึงไหลออกด้านข้างขยายความกว้างของลำธารออกไปจนต้องสร้างฝายส่วนใหม่ทางด้านขวามือ จะเห็นว่าการสร้างฝายนอกจากจะทับถมลำธารแล้ว ยังทำลายตลิ่งและระบบนิเวศริมน้ำด้วย

การสร้างฝายที่สูงมากๆ ทำให้น้ำไหลเอ่อท่วมพื้นทีี่ลำธารเดิมและเกินตะกอนตกทับถมจนลำธารเสียสภาพ

ตัวอย่างพืชที่ได้รับผลกระทบ ว่านน้ำเป็นพืชที่ชอบขึ้นเกาะอยู่กับหินเหนือลำธาร

การสร้างฝายยกระดับน้ำให้สูงขึ้นจนท่วมต้นว่านน้ำในภาพ (กำลังเน่าจะตายแล้ว)

ลำธารดั้งเดิมบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ จะเห็นว่ามีซอกหลืบตามใต้ก้อนหิน เป็นที่อาศัยหลบซ่อนของสัตว์มากมาย ถามจริงๆ ว่าอยากได้ลำธารแบบนี้?

ลำธารขนาดเล็กบนพื้นที่สูงอย่างมณฑาธารตามธรรมชาติจะไม่มีตะกอนดินแบบนี้ตกสะสมอยู่เลย

หรือลำธารจมน้ำจมโคลนแบบนี้?

สภาพลำธารใต้น้ำตกห้วยทรายแก้ว ถูกฝายกั้นทำให้ตะกอนตกทับถมจนกลายเป็นพื้นทราย และมีการตกตะกอนดินทับถมเหนือฝายจนมีหญ้าขึ้นกลายเป็นป่าหญ้าเสียสภาพลำธารไป

นอกจากฝายปูนแล้ว ฝายอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือการใช้กระสอบทราย ภาพนี้ถ่ายจากกระสอบทรายที่กองเหลืออยู่จากการสร้างฝายที่วัดผาลาด จะเห็นว่ามีเมล็ดพืชอยู่เต็มไปหมด การนำทรายจากนอกพื้นที่ป่าจึงเป็นการนำเมล็ดพันธุ์พืชอะไรก็ไม่รู้ (อาจจะเป็นพืชต่างถิ่นก็ได้) เข้ามาในพื้นที่ป่าเมื่อกระสอบผุพังลง ทรายก็จะตกไปถมอยู่ในลำธารอีกต่างหาก....








กำลังโหลดความคิดเห็น