จากข่าว จ.เชียงใหม่ เดินหน้าสร้างฝาย 720 ฝายบนดอยสุเทพและดอยปุย แม้ว่าจะมีเจตนาเริ่มต้นที่ดี แต่นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเผยมุมมองว่า สิ่งก่อสร้างของมนุษย์นี้อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบได้
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่โดย นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่งเป็นประธานเปิดกิจกรรม “สร้างฝายสร้างความชุ่มชื้นเฉลิมฉลองเชียงใหม่ 720 ปี” ณ ห้วยคอกม้า อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ครบ 60 รอบนักษัตร 720 ปี และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา ในปี 2559 นี้
กิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำ โดยในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จะดำเนินการสร้างฝายทั้งสิ้นจำนวน 720 ฝายนำร่อง จากทั้งหมด 7,200 ฝายที่จะดำเนินการทั่วพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (อ่านข่าว อุทยานฯ ดอยสุเทพ-ปุยนำร่องสร้าง 720 ฝายฉลองเชียงใหม่ 720 ปี เพิ่มชุ่มชื้นกักน้ำแก้ภัยแล้ง
อย่างไรก็ตาม ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม และเว็บไซต์ www.siamensis.org ได้ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการสร้างฝายจำนวนมากดังกล่าว ผ่านบทความ “ฝายดอยสุเทพ ควรสร้างไหม?” โดยตั้งข้อสังเกตจากฝายที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เมื่อช่วงเดือน เมษายนหรือพฤษภาคมที่ผ่านมา ดังนี้
“1.ดู บรรยากาศรอบๆ เป็นป่าดิบเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว พื้นที่แบบนี้ไม่ได้ต้องการฝาย เพราะสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นได้อยู่แล้ว การสร้างฝายในพื้นที่แบบนี้เป็นการนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในระบบนิเวศ ซึ่ง ไม่ควรกระทำ
2.ร่องน้ำหรือลำธารที่เห็นเป็นร่องน้ำชั่วคราวตื้นๆ มีน้ำในฤดูฝน ไม่มีน้ำในฤดูแล้ง เป็นไปตามธรรมชาติของเขา ไม่มีความจำเป็นต้องมีฝายแต่อย่างใด การสร้างฝายแบบนี้ พอถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจะพัดเอาตะกอนดินทรายมาตกทับถมอยู่หลังฝาย ทำให้ลำธาร/ร่องน้ำ ตื้นเขิน สูญเสียความสามารถในการเป็นทางน้ำ และกักเก็บน้ำ น้ำจะไหลล้นออกนอกทางน้ำซึ่งจะกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบ ทรายจะตกทับถมซอกหิน ซอกดินต่างๆซึ่งเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตหลายๆชนิดด้วย
3.ไม้ ที่ใช้ทำฝาย ส่วนหนึ่งเป็นไม้ล้มเก่า ส่วนที่เป็นต้นขาวๆ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญมาแล้วว่าน่าจะเป็น “ต้นก่อ” เป็นพันธุ์ไม้ของป่าดิบเขา ต้นในภาพเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-15 เซนติเมตร น่าจะอายุราวๆ 10 ปี สภาพต้นใหม่เอี่ยม ไม่ใช่ไม้เก่าไม้ล้มแน่ๆ แต่ไป “ตัด” มาสร้างฝาย ซึ่งผิดหลักการในการสร้างฝาย ที่ไม่ควรตัดไม้ยืนต้นแบบนี้มาสร้าง (ทั้งนี้ถ้าไม่ได้ตัดมาแต่เป็นไม้ล้มก็ขออภัยครับ)
4.หิน ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของฝาย เป็นหินที่น่าจะได้จากในท้องร่องของลำธาร อันนี้เป็นอีกอันที่ไม่ควรไปแตะต้องเลย หินพวกนี้อยู่ในร่องตรงนั้นมานานแล้วเป็นส่วนหนึ่งของร่องน้ำที่มีความสมดุล การไปรื้อไปแงะหินออกมาจากจุดที่เคยอยู่ เกิดผลเสีย 2 ข้อใหญ่
ข้อแรกคือการทำให้ท้องร่องเสียสมดุล พอถึงช่วงที่น้ำไหลแรง ท้องร่องและตลิ่งตรงนี้จะพยายามที่จะกลับเข้าสู่สภาวะสมดุลอีกครั้ง จะเกิดการกัดเซาะหน้าดินและตลิ่งพังเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ข้อสองคือพื้นที่ใต้หินเหล่านี้มักเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์กลุ่มหนึ่งที่มี ถิ่นอาศัยเฉพาะเจาะจง การไปขุดย้ายมากองรวมกันที่ฝายทำให้สัตว์เหล่านี้สูญเสียถิ่นอาศัย (ทั้งนี้ถ้าไม่ใช่หินที่มาจากร่องลำธารก็ขออภัยครับ)”
เหตุผลที่ ดร.นณณ์เขียนบทความดังกล่าวขึ้นมา เนื่องจากมีข่าวว่าในวันที่ 28 พ.ค.59 จะมีการระดมสร้างฝายในเขตดอยสุเทพอีก โดยจะสร้างให้ถึง 7,200 ฝาย และยังจะมีสร้างในแหล่งน้ำถาวรซึ่งเป็นระบบนิเวศลำธารที่เปรอะบาง และไม่ควรสร้างฝายอย่างยิ่ง
“จึงขอเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหัวหน้าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ให้มีการทบทวนกิจกรรมดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเราทุกคนก็ต่างรักและหวงแหนด้วยกันทั้งนั้นด้วยครับผม” ดร.นณณ์ระบุถึงวัตถุประสงค์ถึงผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทบทวนการสร้างฝาย
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างฝาย โดย ดร.นณณ์ ผานิตวงศ์
“สร้างฝายดีไหม?”