xs
xsm
sm
md
lg

รู้ไหมว่า...ประชากรโลก 3 ใน 4 อยู่ใต้ม่านแสงที่บดบังแสงดาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพแสงไฟฟ้าจากหน้ารถยนต์บนทางหลวงในสก็อตแลนด์ ท่ามกลางดวงดาวในยามค่ำคืน (REUTERS/Russell Cheyne/File Photo)
ผ่านไปเพียงศตวรรษกว่าๆ ประชากรโลกได้ช่วยกันสร้าง “มลพิษทางแสง” ที่กลายเป็นม่านแสงปิดกั้นประชากรโลกถึง 3 ใน 4 จากความงามของ “ทางช้างเผือก” ในยามค่ำคืน

ท้องฟ้าที่ปราศจากดวงดาวอาจเป็นภาพที่ชินตาสำหรับหลายๆ คนในเมืองใหญ่ แต่ย้อนกลับไปเมื่อปี 1889 ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยแสงดาวของเมืองแซ็ง-เรมี (Saint-Rémy) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ “วินเซนต์ แวน โก๊ะ” (Vincent van Gogh) วาดภาพ “ราตรีประดับดาว” (The Starry Night) อันโด่งดัง

ทว่าท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดาวไม่ได้ฉายแสงให้ทุกคนบนโลกอีกต่อไป รายงานจากรอยเตอร์ระบุถึงงานวิจัยล่าสุดที่เผยว่า ประชากรทั่วโลกมากถึง 83% อยู่ในพื้นที่ที่มี “มลภาวะทางแสง” จากแสงไฟฟ้า ในจำนวนประชากรดังกล่าวเป็นประชากรในยุโรปและสหรัฐฯ 99%

รายละเอียดระบุว่าการเรืองแสงจากไฟฟ้าทำให้ประชากรโลกถึง 3 ใน 4 ซึ่งมีประชากรอเมริกาเหนือ 80% และประชากรยุโรป 60% รวมอยู่ด้วย ไม่สามารถเห็นแสงสว่างของทางช้างเผือก สัญลักษณ์ของค่ำคืนที่มนุษย์คุ้นเคยมายาวนาน

“มันน่าประหลาดว่าเพียงไม่กี่ทศวรรษที่ไฟฟ้าเรืองแสงขึ้นมา ทำให้เราได้บดบังมวลมนุษยชาติเกือบทั้งหมดด้วยม่านแสง ที่ซ่อนภาพน่าตื่นตาของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อย่างเอกภพไปได้อย่างไร” ฟาบริโอ ฟาลชิ (Fabio Falchi) จากสถาบันวิทยาการและเทคโนโลยีศึกษามลพิษทางแสง (Light Pollution Science and Technology Institute) ผู้นำทีมศึกษางานวิจัยมลภาวะทางแสงนี้กล่าว

ผลการศึกษาของฟาลชิได้ตีพิมพ์ลงวารสารไซน์แอดวานซ์ส (Science Advances) โดยเขายังระบุอีกว่า รากอารยธรรมของมนุษย์นั้น เชื่อมโยงกับท้องฟ้ายามค่ำคืนในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่งานวรรณกรรม ศิลปะ ปรัชญา ศาสนา และแน่นอนว่ารวมถึงวิทยาศาสตร์ด้วย

ส่วน คริสโตเฟอร์ ไคบา (Christopher Kyba) นักฟิสิกส์จากศูนยวิจัยเยอรมันด้านธรณีวิทยาจีเอฟแซด (GFZ German Research Centre for Geosciences) ในเยอรมนี เสริมว่าการหลงใหลในความงามเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์อย่างที่เป็น

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ใช้ดาวเทียมและข้อมูลความสว่างของท้องฟ้าเพื่อสร้างแผนที่มลภาวะแสงทั่วโลก และมลภาวะทางแสงนั้นได้กลบแสงดาวออกไปมหาศาล ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโดยมนุษย์ที่พบเห็นได้ทุกหนทุกแห่ง เช่นการเรืองแสงเหนือเมืองต่างๆ

“หลายประเทศแม้แต่ประเทศขนาดใหญ่อย่างอิตาลี สเปน ฝรั่งเศสหรือเยอรมนี ไม่มีแม้แต่จุดเดียวในอาณาเขตที่แสดงถึงท้องฟ้ายามค่ำที่ไม่ถูกรบกวนด้วยแสงไฟ” ฟาลชิเสริมข้อมูล

ส่วน แดน ดูริสโค (Dan Duriscoe) นักวิจัยจากสำนักอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ ให้ข้อมูลว่า แม้แต่พื้นที่เปิดขนาดใหญ่ของฝั่งอเมริกาตะวันออก ซึ่งกินพื้นที่เกือบครึ่งของอาณาเขตสหรัฐฯ ทั้งหมดยังมีกลางคืนที่เผชิญมลภาวะทางแสง ทางฝั่งตะวันออกยิ่งหนัก มีเพียงบางส่วนของรัฐเมนและเกาะตอนปลายของฟลอริดาคีย์สที่ยังพอมีท้องฟ้าที่มืดจริงๆ

ประเทศที่มีปัญหามลภาวะทางแสงมากที่สุดคือสิงคโปร์ ส่วนประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20 ที่มีปัญหามลพิษทางแสงมากที่สุดคืออิตาลีและเกาหลีใต้ ส่วนพื้นที่ที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากมลพิษทางแสงมีเพียงพื้นที่เล็กๆ ในยุโรปตะวันตก ส่วนใหญ่อยู่ในสก็อตแลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์ ขณะที่ออสเตรเลียและแอฟริกาเป็นทวีปที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดท่ามกลางทวีปที่มีประชากรอาศัยอยู่









กำลังโหลดความคิดเห็น