xs
xsm
sm
md
lg

ภาพสุริยุปราคาฝีมือไทยติดท็อปเทนสุดยอดโลกในยามมืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“Total Solar Eclipse from Svalbard”
ภาพถ่ายสุริยุปราคาฝีมือคนไทย ติด 1 ใน 10 ภาพชนะเลิศของ The World’s at Night จากความโดดเด่นในการลำดับภาพเหตุการณ์ต่อเนื่อง 39 ภาพ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพถ่ายสุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองนอร์เวย์ ฝีมือคนไทย ติด 1 ใน 10 สุดยอดภาพถ่าย จากการประกวด Earth & Sky Photo Contest ครั้งที่ 7 ประจำปี 2559 จัดโดยชมรม The World’s at Night หรือ TWAN


“Total Solar Eclipse from Svalbard” เป็นภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงตลอดปรากฏการณ์ เหนือท้องฟ้าเมืองลองเยียร์เบียน หมู่เกาะสฟาลบาร์ ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.58 ถ่ายโดย นายธนกฤต สันติคุณาภรต์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท Photo Sequence เป็นภาพลำดับเหตุการณ์ หนึ่งในภาพถ่ายประเภทสวยงาม (Beauty of the Night Sky) ของการประกวด The 7th Earth & Sky Photo Contest

ภาพดังกล่าวมีความโดดเด่นทางเทคนิคที่สมบูรณ์แบบ บันทึกภาพทุก 3 นาที ตลอดระยะเวลาของปรากฏการณ์ จากนั้นใช้เทคนิคการซ้อนภาพ จำนวน 39 ภาพ เป็นภาพชุดตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เหนือสภาพภูมิประเทศอันหนาวเหน็บของเมืองสฟาลบาร์ ประเทศนอร์เวย์

นายธนกฤต สันติคุณาภรต์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. เจ้าของผลงานกล่าวว่า เป็นหนึ่งในทีมงานที่เดินทางไปศึกษาและเก็บข้อมูลสุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่ 20 มีน.ค.58 ณ เมืองลองเยียร์เบียน หมู่เกาะสฟาลบาร์ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งภารกิจในครั้งนั้นเขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บันทึกภาพปรากฏการณ์ดังกล่าว เพื่อนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ และศึกษาการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้าบริเวณขั้วโลก

ทั้งนี้ หมู่เกาะสฟาลบาร์ ประเทศนอร์เวย์ เป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ และนับว่าเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบที่สุด เพราะสามารถมองเห็นได้ตลอดทุกช่วงตั้งแต่เริ่มจนถึงสิ้นสุดปรากฏการณ์ จึงส่งภาพดังกล่าวเข้าร่วมประกวด
ธนกฤต  สันติคุณาภรต์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.
นายธนกฤต กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า การที่เรามีโอกาสนำผลงานตัวเองไปแสดงใน TWAN ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและภูมิใจมาก ผลงานภาพถ่ายที่ได้รับคัดเลือกและถูกเผยแพร่โดยชมรม The World At Night หรือ TWAN เป็นแนววิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ ค่อนข้างมีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์และสวยงามมาก ช่างภาพดาราศาสตร์ทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นทั่วโลกต่างก็ให้การยอมรับ

ผมเชื่อว่ายังมีนักถ่ายภาพดาราศาสตร์คนไทยที่มีฝีมือดีอีกจำนวนมาก หากมีโอกาสก็อยากจะให้ลองส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกัน สำหรับในประเทศไทยเองก็มีการจัดประกวดภาพถ่ายในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จัดประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ หัวข้อ มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ เป็นประจำทุกปี เปิดรับผลงานเข้าร่วมประกวดในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม

ผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมหรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.NARIT.or.th
ข้อมูลอ้างอิงและติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://twanight.org/newTwan/news2016-2.asp
######
การประกวด The World at Night’s Earth & Sky Photo Contest จัดโดยชมรม The World at Night หรือ TWAN เริ่มขึ้นเมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ UNESCO ประกาศให้เป็นปีดาราศาสตร์สากล จัดขึ้นเพื่อใช้เป็นกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักในการลดมลภาวะทางฝุ่นควันที่ส่งผลเสียต่อสภาวะการมองเห็นในชั้นบรรยากาศโลกผ่านการประกวดภาพถ่าย ที่ผ่านมามีช่างภาพทางดาราศาสตร์มืออาชีพและสมัครเล่นส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก และในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 แล้ว แบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ประเภทสวยงาม (Beauty of the Night Sky) และ ประเภทเปรียบเทียบกับแสงเมือง (Against the Lights) แต่ละประเภทแบ่งออกเป็น 5 รางวัล ได้แก่ 1) ภาพชอตเดียว (Single Exposure) จำนวน 3 รางวัล 2) ภาพซ้อน (Photo Composites) จำนวน 1 รางวัล และ 3) ภาพลำดับเหตุการณ์ (Photo Sequence) จำนวน 1 รางวัล

ครั้งนี้มีผู้สนใจส่งผลงานจากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมประกวดมากกว่า 1000 ภาพ จาก 57 ประเทศ มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการถ่ายภาพจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมตัดสิน และประกาศผลการตัดสินไปเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผลงานภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทยติด 1 ใน 10 ภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลในปีนี้
ภาพผู้ชนะการประกวดภาพถ่าย The World at Night’s Earth & Sky Photo Contest ครั้งที่ 7 ประจำปี 2559









กำลังโหลดความคิดเห็น