สดร. ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์เสริมสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน สนองนโยบายรัฐ "ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้" นำเด็กดอยโชว์แนวคิดกิจกรรมดาราศาสตร์แสนสนุก พร้อมโชว์แหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ภาคประชาชนแบบครบวงจร ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ โคราชและฉะเชิงเทรา
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า เพื่อสนองตอบต่อนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้โรงเรียนต่างๆ เกิดการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ทางสดร.จึงได้เสนอกิจกรรม “ดาราศาสตร์นอกห้องเรียน” ด้วยการนำกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ มาสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ภายในโรงเรียนและชุมชนใกล้เคียง อาทิ การสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญ การสังเกตวัตถุท้องฟ้า การสังเกตจุดมืดบนดวงอาทิตย์ การทำโครงงานดาราศาสตร์
ในโอกาสที่ สดร.ได้นำกิจกรรมเสนอต่อหน้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้นำตัวแทนครูและนักเรียนจากโรงเรียนอินทนนท์วิทยา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีการริเริ่มโครงการดาราศาสตร์นอกห้องเรียนในชื่อว่า “เด็กดอยดูดาว”'' มาบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ และการผลิตสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์เพื่อใช้เองภายในโรงเรียน เช่น หนังสือนิทานดาราศาสตร์ บันไดงูดาราศาสตร์ โมเดลดาว เป็นต้น
ส่วนอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ รศ.บุญรักษา กล่าวว่า เป็นกิจกรรม “สนุกกับดาราศาสตร์ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ภูมิภาค” ซึ่งได้แก่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ที่เปิดให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้ดาราศาสตร์ผ่านชุดนิทรรศการความรู้ทางดาราศาสตร์ ในท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล ความละเอียดสูง 25 ล้านพิกเซล และเรียนรู้การดูดาวจากท้องฟ้าจริง ผ่านกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งในส่วนของดาวเคราะห์ กลุ่มดาว กระจุกดาว กาแล็กซี เนบิวลา ที่จะช่วยจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนมีความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะเป็นการเสริมสร้างกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุและผล อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้โครงการจัดทำกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็น 1 ใน 5 โครงการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ภายใต้คณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ ผ่านกระบวนการนำเสนอที่มีความน่าสนใจ สนุกสนาน และเข้าใจได้ง่าย ตามความสนใจของผู้เรียน โดยมีแนวคิดในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบ STEM Education ที่ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาการศึกษาในอนาคตของกระทรวง ศึกษาธิการ สนับสนุนการดำเนินนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต