xs
xsm
sm
md
lg

ปริศนาสถานที่กำเนิดของระกา

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


คนไทยที่อาศัยอยู่ในชนบทนิยมเลี้ยงไก่กันแทบทุกบ้าน ไก่ที่เลี้ยงมีหลายสายพันธุ์ เช่น ไก่ประดู่หางดำ ไก่เหลืองหางขาว ไก่ชี ไก่แดง ไก่แก่นทอง ไก่สร้อยนิล ไก่สร้อยเพชร ไก่ไข่มุกอีสาน รวมถึงไก่แก่นทอง ไก่สร้อยนิล ไก่อู ไก่ตะเภา และไก่แจ้ เป็นต้น

เพราะไก่เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่คนไทยได้เลี้ยงกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้น เราจึงมีสำนวนเกี่ยวกับไก่มากมาย ทั้งในภาษาพูด และภาษาเขียน เช่น “เขียนแบบไก่เขี่ย” หมายถึง เขียนยุ่ง โย้เย้ ไม่เป็นระเบียบ เหมือนไก่เวลาใช้กรงเล็บเขี่ยดินเพื่อคุ้ยหาอาหาร ลายมือลักษณะนี้จึงทำให้ไม่มีใครอ่านข้อความออก “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” หมายถึงสตรีสูงวัยที่มีเล่ห์เหลี่ยมจัด และมีลูกเล่นแพรวพราว จึงเป็นการเปรียบเปรยว่าชีเป็นคนที่จัดเจนโลก และมีมารยาสาไถยมาก ส่วน “ไก่อ่อนสอนขัน” นั้นใช้ในเชิงปรามาส หรือดูถูกผู้ฟังว่ายังไม่เก่งกล้าถึงระดับ แต่ริจะมาทาบรัศมีผู้เชี่ยวชาญ สำหรับ “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” นั้น ใช้ในกรณีที่ผู้พูดและผู้ฟังต่างก็รู้ดีว่า ไก่ไม่มีนม และงูไม่มีตีน แต่สำนวนนี้มีนัยว่า ทั้งสองรู้ความลับของกันและกัน คือรู้ทันและรู้ชั้นเชิงกันดี ส่วน “เจ้าชู้ไก่แจ้” หมายถึง ผู้ชายเจ้าชู้ที่มีลีลาเดินกรีดกราย อีกทั้งมีกริยากรุ้มกริ่มเวลาจีบสาว สำนวน “เวลาไปเหมือนไก่จะบิน” หมายถึง การออกอาการคึกคัก และดีใจที่จะได้ออกจากบ้านไปสูดอากาศข้างนอก “เสียงไก่ขัน” คือเสียงที่ใช้บอกเวลาฟ้าเริ่มสาง คนที่เป็น “ไก่อ่อน” คือคนที่ถูกคนอื่นหลอกลวงหรือต้มตุ๋นได้ง่าย เพราะเป็นคนที่ขาดประสบการณ์ชีวิต และไม่มีความชำนาญทางโลก “ไก่ได้พลอย” หมายถึงคนที่ได้ของมีค่าไป แต่ไม่ตระหนักรู้ในคุณประโยชน์ของสิ่งนั้น จึงไม่สามารถใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้ และกลับคิดไปว่า มีข้าวเปลือกก็ยังดีกว่ามีพลอย “ไก่ตื่น” หมายถึงออกอาการตกใจ อันเป็นธรรมชาติของไก่ “เป็ดขันประชันไก่” คือ การแข่ง “ขัน” ระหว่างคนที่ไม่เก่งกับคนที่เก่ง “ไก่รองบ่อน” หมายถึงการเป็นตัวสำรอง ซึ่งคนนั้นอาจถูกเรียกตัวมาใช้แทนเมื่อใดก็ได้ คนรองบ่อนจึงเป็นคนไม่จำเป็นหรือไม่มีความสำคัญ “งงเป็นไก่ตาแตก” คืองงจนทำอะไรไม่ถูก เหมือนไก่ที่ถูกคู่ต่อสู้ตีด้วยเดือย จนตาแตกเป็นแผล ทำให้เห็นไม่ชัด “ลูกไก่อยู่ในกำมือ” แสดงการตกอยู่ในฐานะที่ไม่มีทางสู้ “ไม่ใช่ขี้ไก่” หมายถึง ของสิ่งนั้นมีค่า ไม่ใช่ไร้ค่า “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” คือเป็นคนมีลักษณะไม่สู้งาน และชอบหยิบโหย่ง หนักก็ไม่เอา เบาก็ไม่สู้ “หมูไปไก่มา” หมายถึง การพึ่งพากันและกันในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และ “หมูเห็ดเป็ดไก่” คือ การมีอาหารอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น

สถิติการเลี้ยงสัตว์ทั่วโลกในปัจจุบันแสดงว่าไก่เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก คือ ประมาณ 20,000 ล้านตัว จึงนับว่ามากกว่าจำนวนแมว สุนัข หมู และวัวรวมกัน ข้อมูลนี้แสดงว่า มนุษย์เลี้ยงไก่โดยเฉลี่ยคนละ 3 ตัว

ในสหรัฐอเมริกาคนอเมริกันเลี้ยงไก่เพื่อกินเนื้อมากกว่ากินไข่ คือ กินเนื้อไก่ 18,000 ล้านกิโลกรัม ในปี 2014 สถิติการส่งออกไก่แสดงว่า อเมริกาส่งปีกไก่ไปขายในจีน ขนไก่ไปขายในอินโดนีเซีย ขาไก่ส่งไปรัสเซีย เครื่องในไก่ส่งไปแอฟริกาใต้ ส่วนตีนไก่นั้นส่งไปจีน ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า อวัยวะของไก่แทบทุกส่วนเป็นประโยชน์ และเป็นเงินเป็นทอง

ส่วนคนไทยเราเลี้ยงไก่เพื่อกินทั้งเนื้อและไข่ และความนิยมบริโภคเนื้อไก่นี้เองที่ทำให้คนเลี้ยงไก่พยายามหาวิธีเลี้ยงให้ไก่เติบโตเร็ว ซึ่งอาจนานถึง 7 สัปดาห์ ไก่จึงจะอยู่ในสภาพที่ใช้ฆ่ากินได้ ย้อนอดีตไปเมื่อ 60 ปีก่อนนี้ การเลี้ยงต้องใช้เวลานานถึง 10 สัปดาห์ คนเลี้ยงจึงจะสามารถนำไก่ไปฆ่าได้

นอกจากเราจะเลี้ยงไก่เป็นอาหารแล้ว คุณประโยชน์ของไก่ในด้านอื่นๆ ก็มีมากมาย เช่น จากการที่มันเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย และสืบพันธุ์เร็ว ดังนั้นนักชีววิทยาจึงสามารถติดตามวิวัฒนาการของไก่ได้สะดวกและเร็ว ยิ่งตัวอ่อนของไก่กับทารกในครรภ์ มีพัฒนาการของอวัยวะในร่างกายในลักษณะคล้ายกัน ดังนั้นการศึกษาตัวอ่อนของไก่ จึงช่วยให้นักสรีรวิทยารู้ขั้นตอนการถือกำเนิดของแขนและขาในคนด้วย หรือเวลาแพทย์ต้องการจะวิเคราะห์โรคทางพันธุ์กรรมบางโรค เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนเพลีย (muscular dystrophy) และโรคลมบ้าหมู (epilepsy) แพทย์นิยมใช้ไก่เป็นสัตว์ทดลอง เช่น F.P. Rous หลังจากที่ได้พยายามศึกษาโรคเนื้องอกในไก่ ก็ได้พบไวรัส Rous chicken-sarcoma ที่ทำให้ไก่เป็นมะเร็ง ผลงานนี้ทำให้ Rous ได้รับรางวัลโนเบลแพทย์ศาสตร์ประจำปี 1962

ในด้านพฤติกรรมของไก่นั้น T. Schjelder-Ebbe นักจิตวิทยาชาวนอร์เวย์ได้เคยศึกษาธรรมชาติของไก่ในประเด็นนี้ และพบว่า ถ้าฝูงไก่ประกอบด้วยตัวเมียล้วนๆ จะมีไก่ตัวหนึ่งตั้งตัวเป็นนางพญาที่สามารถจิกตีไก่ตัวอื่น ในฝูงได้ทุกตัว โดยไก่เหล่านั้นจะไม่ตอบโต้กลับ จากนั้นก็จะมีไก่อีกตัวหนึ่งที่มีตำแหน่งบริหารต่ำกว่านางพญาเล็กน้อย ซึ่งไก่ตัวรองตัวนี้สามารถจิกตีตัวอื่นๆ ได้หมด ยกเว้นนางพญา จากนั้นการไล่ลำดับสิทธิ์ในการจิกตีจะเกิดต่อไป จนกระทั่งถึงไก่ตัวสุดท้ายที่จะถูกไก่ตัวอื่นๆ ทุกตัวจิกตี สำหรับฝูงไก่ตัวผู้นั้นก็มีรูปแบบของการจัดอันดับในลักษณะเดียวกัน และเมื่อใดก็ตามที่มีไก่แปลกหน้าหลงมาอยู่ในฝูง การต่อสู้จะเกิดขึ้นระหว่างไก่แปลกหน้ากับไก่ตัวอื่นๆ จนกระทั่งไก่ทุกตัวรู้ว่า ไก่แปลกหน้าอยู่ในลำดับใดของฝูง เมื่อการจัดอันดับอภิสิทธิ์การจิกตีลงตัวแล้ว การต่อสู้กันเองของไก่ในเล้าก็จะยุติ

ไก่เป็นสัตว์ที่มีความจำสั้น ดังนั้นเวลามันถูกจับแยกกรง แล้วนำกลับเข้าไปในเล้าอีก มันก็จะเริ่มจิกตีกันอีกคำรบหนึ่ง เพราะมันลืมฐานันดรศักดิ์เดิมของมันหมดแล้ว Schjelder-Ebbe ยังพบอีกว่า ไก่ทุกตัวมีสันดานเถื่อนในตัว เพราะมันต้องการจะได้อภิสิทธิ์ในการกินอาหารก่อนตัวอื่นๆ อีกทั้งต้องการสิทธิ์เกาะคอนที่เป็นของเฉพาะตัว

ในการค้นหาถิ่นกำเนิดของไก่ เมื่อประมาณ 60 ปีก่อนนี้ นักชีววิทยาชาวอเมริกันคนหนึ่งได้เดินทางไปอินเดีย เพื่อนำไก่ป่าแดง (red jungle fowl) มาศึกษา และพบว่า อินเดียมีไก่ป่าแดงเหลืออยู่ประมาณ 10,000 ตัว และไก่สายพันธุ์นี้กำลังจะสูญพันธุ์ เพราะมันได้ผสมพันธุ์กับไก่บ้าน เขาจึงนำไก่ป่าแดงมาศึกษารหัสพันธุกรรม เพื่อจะได้รู้ อนุรักษ์ และพัฒนาสายพันธุ์ เพราะตระหนักดีว่าไก่เป็นสัตว์ปีกที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ ในการให้โปรตีน อีกทั้งเป็นสัตว์ที่ผู้คนนิยมเลี้ยง ไก่จึงเป็นสัตว์ปีกชนิดแรกของโลกที่ได้รับการถอดรหัสพันธุกรรม

งานวิจัยไก่ในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมานี้ เป็นการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมเพื่อให้นักชีววิทยาใช้ความรู้ที่ได้ในการปกป้อง ปรับปรุงสายพันธุ์ และตอบคำถามของ Charles Darwin ที่เคยตั้งปริศนาว่า มนุษย์นำไก่มาเลี้ยงเป็นครั้งแรก ณ ที่ใด เมื่อไร และเลี้ยงอย่างไร

ณ วันนี้นักวิจัยหลายคนมีความเห็นพ้องกันว่า ไก่ป่าแดงคือบรรพสัตว์ของไก่บ้าน ที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นครั้งแรกในเอเชียใต้ เมื่อประมาณ 8,000 ปีก่อน แต่นักวิจัยบางคนเชื่อว่า ผู้คนเริ่มเลี้ยงไก่เมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อนนี้เอง ข้อมูลเวลาที่แตกต่างกันมากนี้ ทำให้นักวิจัยพยายามค้นหาซากกระดูกไก่ป่าแดงที่มีในพิพิธภัณฑ์แถบเอเชียใต้มาจัดอันดับ DNA ของไก่ตัวที่ตายเป็นเวลานานที่สุด และในเวลาเดียวกันนักบรรพชีวินวิทยาก็กำลังพยายามสกัด DNA ที่หลงเหลืออยู่บนกระดูกไก่โบราณ เพื่อหาข้อมูลพันธุกรรม (ไก่มี DNA ประมาณ 1,000 ล้านคู่เบส และมียีนตั้งแต่ 20,000-23,000 ตัว)

ในอดีต Erasmus Darwin ซึ่งเป็นปู่ของ Charles Darwin และเป็นบุคคลแรกที่ได้เสนอความเห็นว่า ไก่ป่าแดงคือบรรพสัตว์ของไก่บ้าน (gallus gallus domesticus) แต่เมื่อถึงสมัยของ Charles Darwin หลังจากที่ได้ศึกษาไก่ และใช้ไก่เป็นสัตว์ตัวอย่างในการสร้างทฤษฎีวิวัฒนาการ โดยใช้ข้อมูลด้านรูปลักษณ์ Darwin ก็ได้เสนอความเห็นว่า คนอินเดียน่าจะเริ่มเลี้ยงไก่เป็นชนชาติแรก จากนั้นความนิยมเลี้ยงไก่ก็ได้แพร่หลายไปทั่วโลก แต่ Darwin ก็ได้เน้นว่าตนไม่มีหลักฐานเพียงพอที่สนับสนุนความเห็นนี้

ถึงยุคปัจจุบันนักชีววิทยาได้ศึกษาไก่ป่าแดง (gallus gallus) ที่ตามปกติมีถิ่นเลี้ยงตั้งแต่บริเวณเชิงเขาหิมาลัยทางทิศตะวันตกไปจนถึงเกาะสุมาตรา โดยตัวผู้นี้มีขนปีก และขนหางที่มีสีสันสวยงาม ด้านตัวเมียมีหงอนที่ไม่โดดเด่นมาก จะอย่างไรก็ตามทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างมีขาสีคล้ำ และสามารถบินได้ดีพอประมาณ และไก่ป่าแดงมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของไก่ Leghorn ขาว ตามปรกติการนำไก่ป่าแดงมาเลี้ยงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะมันเป็นสัตว์ขี้อาย ไม่ชอบเข้าใกล้คน ดังนั้นในระยะแรกๆ ในช่วงเวลากลางวัน มันจะคุ้ยหาอาหาร เช่น แมลง และผลไม้ป่ากิน ตกค่ำมันจะหลบไปนอนตามคบไม้เพื่อหนีศัตรู เวลาถูกจับมาเลี้ยงในเล้า มันจะปรับนิสัยให้เข้ากับชีวิตในเล้า และกินอาหารไม่เลือกชนิด ยิ่งเมื่อมีการพบว่า ไก่เป็นสัตว์อาหารในรูปของเนื้อและไข่ และอาจเป็นสัตว์ทดลองของนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ อีกทั้งยังเป็นสัตว์ในพิธีเซ่นไหว้ รวมถึงเป็นกีฬา (ไก่ชน) ที่หลายคนชอบ ไก่จึงได้กลายเป็นสัตว์ที่เลี้ยงกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก

แต่การค้นหาว่าสถานที่ใดเป็นที่ๆ มนุษย์เริ่มเลี้ยงไก่เป็นครั้งแรกนั้น มิใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนักโบราณคดีได้เคยขุดพบกระดูกไก่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ กระบวนการวัดอายุของกระดูกแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เริ่มเลี้ยงไก่ เมื่อ 6,000 ปีก่อนนี้ในอินเดีย ส่วนนักโบราณคดีจีนได้พบในปี 1988 ว่าคนจีนเลี้ยงไก่ก่อนชาวอินเดียประมาณ 2,000 ปี เมื่อข้อมูลมีความขัดแย้งเช่นนี้ นักวิชาการจึงต้องพึ่งพาเทคนิค DNA

แต่การเรียงลำดับรหัสพันธุกรรมของไก่ก็ไม่สามารถตัดสินความในประเด็นนี้ได้ ทั้งๆ ที่นักพันธุศาสตร์ใช้ mitochondria DNA (mtDNA) ในเซลล์ของไก่ตัวเมียเพื่อหาวิวัฒนาการของเซลล์ ข้อมูลปี 1994 ที่เจ้าชาย Akishinomiya Fumihito แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่นได้จากการศึกษา mtDNA ของไก่ป่าแดงในไทยแสดงให้เห็นว่า คนไทยโบราณเริ่มเลี้ยงไก่เป็นครั้งแรกก่อนชนชาติใดในโลก และการศึกษา mtDNA ของไก่บ้านในจีนอีก 4 ปีต่อมาก็ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันกับข้อสรุปของเจ้าชาย

จนกระทั่งปี 2006 ทีมวิจัยจาก Kunming Institute of Zoology ในจีนได้ศึกษา mtDNA ของไก่ ในหลายพื้นที่ คือ ทั้งในจีนตะวันออกเฉียงใต้ กับอินเดีย และได้พบว่า ผู้คนในหลายพื้นที่ของโลกได้เริ่มเลี้ยงไก่ในเวลาไล่เรี่ยกัน ข้อสรุปนี้จึงน่าสนใจ เพราะแสดงว่า ไก่บ้านถือกำเนิดในหลายพื้นที่ของโลกพร้อมๆ กัน โดยคนท้องถิ่นจะเลี้ยงไก่อย่างเป็นอิสระจากกัน กระนั้นนักชีววิทยาบางคนก็ยังเชื่อว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือแหล่งกำเนิดของไก่บ้าน

ถึงปี 2008 คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัย Uppsala ในสวีเดนก็ได้พบว่า ความเห็นของ Darwin เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของไก่ผิดพลาด โดยใช้ nuclear DNA ไก่ของไก่ป่าเทา (grey jungle fowl) ไม่ใช่ไก่ป่าแดง และพบว่าการนำไก่ป่ามาเลี้ยงเป็นไก่บ้านนั้นมีหลายขั้นตอน

ความยากลำบากในการหาแหล่งกำเนิดของไก่บ้าน เกิดจากการที่ไก่ผสมพันธุ์กันง่าย ไม่ว่าชาวบ้าน นายพราน หรือพ่อค้าจะนำไก่ไปที่ใด ดังนั้น ยีนของมันจึงไม่บริสุทธิ์เพราะมียีนอื่นปะปนมาก ถึงวันนี้เราไม่มียีนของไก่ป่าแดงที่บริสุทธิ์เป็นบรรทัดฐานเลย

ครั้นเมื่อ mtDNA ไม่สามารถช่วยการตอบปัญหานี้ได้ นักชีววิทยาจึงต้องหันไปศึกษากระดูกไก่แทน และได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในกรณีของสัตว์ใหญ่ เช่น แกะ แพะ การวิเคราะห์อายุ และรูปทรงของกระดูกได้แสดงให้เห็นว่า ตะวันออกกลางคือแหล่งกำเนิดของแกะบ้าน และแพะบ้านจริง เพราะกระดูกโบราณเหล่านั้นมีอยู่มากมายให้นักวิชาการได้ศึกษา แต่กระดูกไก่หรือกระดูกนกมีขนาดเล็ก จึงค้นหาได้ยาก เพราะแตกหักง่าย

กระนั้น การวิเคราะห์กระดูกที่พบในจีนก็แสดงให้เห็นว่า ไก่ป่าแดงเริ่มถูกนำมาเลี้ยงเมื่อ 6,000 ปีก่อนคริสตกาลที่อินเดีย และจีน แต่ข้อมูลที่ได้จากจีนยังมีปัญหาอีกเพราะนักวิจัยพบว่า มันมีสารอื่นปนเปื้อน จนทำให้ดูมีอายุมากกว่าที่เป็นจริง

ด้านนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Uppsala ที่กำลังวิเคราะห์กระดูกไก่ที่ขุดพบในไทย และวัดอายุได้ 3,500 ปี ก็พบว่าคำตอบอาจจะเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด ทั้งนี้เพราะอากาศที่ร้อนอบอ้าวในไทยอาจทำให้คุณภาพของกระดูกเสื่อม

จึงเป็นว่าแหล่งกำเนิดของไก่บ้านยังไม่มีข้อยุติ ประเด็นนี้จึงยังไม่มีการสรุป แต่ก็มีข้อมูลหนึ่งที่สรุปได้ คือ นักโบราณคดีก็ได้พบหลักฐานว่า คนเราเริ่มเลี้ยงไก่เพื่อความสนุกสนานคือให้มันชนกัน ก่อนที่จะพบว่ามันให้ไข่และเนื้อ และความนิยมนี้ก็ยังมีอยู่ในทุกวันนี้ ดังในเวียดนาม ซึ่งไก่ชนตัวผู้อาจมีราคาสูงหลายหมื่นบาท

ส่วนนักชีววิทยาก็ยังกังวลว่า ถ้าเราไม่อนุรักษ์ไก่ป่าทั้งแดงและเทา รวมถึงยีนของมัน เราจะไม่มีวันรู้ที่มาของไก่บ้าน ทั้งๆ ที่มันเป็นสัตว์ปีกที่สำคัญที่สุดในโลก

อ่านเพิ่มเติมจาก Why did the Chicken Cross the World? The Epic Saga of the Bird that Powers Civilization โดย Andrew Lawler จัดพิมพ์โดย Atria Books ปี 2014

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์














กำลังโหลดความคิดเห็น