xs
xsm
sm
md
lg

รองเลขาฯ ปส. ยันเกณฑ์การทิ้งกัมมันตรังสีรัดกุม เร่งตรวจสอบต้นตอต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองเลขาฯ ปส.แจง จะจัดเก็บหรือกำจัดกัมมันตรังสีต้องมีใบอนุญาตชัดเจน ตามพรบ.ปรมาณูเพื่อสันติ 2504 ยังไม่ฟันธง ถังกัมมตรังสีอิริเดียม42 ที่พหลโยธิน 24 เข้าข่ายผิด พรบ.หรือไม่ เพราะยังอยู่ในขั้นตรวจสอบ

เป็นข่าวใหญ่ครึกโครมที่สังคมจับตามองเป็นพิเศษ สำหรับการพบวัตถุอันตรายในซอยพหลโยธิน 24 ซึ่งหลังการตรวจสอบผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นถังบรรจุอิริเดียม -192 ซึ่งไม่มีกัมมันตรังสีหลงเหลือและไม่มีอันตราย ทว่าการค้นพบดังกล่าวก็ยังสร้างความเคลือบแคลงให้แก่สังคมว่าวัตถุอันตรายเช่นนี้อยู่ในพื้นที่ชุมชนได้อย่างไร และเหตุใดจึงไม่มีการนำไปจำกัดตามวิธีที่ถูกต้อง ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปยังรองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เพื่อสอบถามถึงเกณฑ์การจัดเก็บหรือจำกัดสารกัมมันตภาพรังสี

นายกิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โดยปกติการใช้งานสารกัมมันรังสี เครื่องมือ อุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ เกี่ยวกับกัมมันตรังสีตั้งแต่เริ่มใช้งานไปจนถึงการกำจัด จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติทั้งหมด

รองเลขาธิการ ปส. กล่าวว่า ปส.ได้กำหนดให้หน่วยงาน องค์กร หรือผู้ประกอบการที่จะใช้กัมมันตรังสี หรือทำการนำเข้าและส่งออกต้องมีการขอรับใบอนุญาต ซึ่งจะต้องมีการทำหนังสือชี้แจงเพื่อแสดงความความพร้อมของเครื่องมือ สถานที่จัดเก็บ วิธีการดำเนินการแสดงอย่างละเอียดตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ปี พ.ศ.2504 ซึ่งดำเนินไปอย่างรัดกุมเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้และประชาชน

สำหรับการจัดเก็บหรือทำลาย รองเลขาธิการ ปส. เผยว่า ปส. ได้กำหนดแนวทางไว้ 2 วิธี ได้แก่ การส่งคืนไปทำลายยังบริษัทผู้ผลิตที่อยู่ในต่างประเทศด้วยวิธีการขนส่งแบบปลอดภัยได้มาตรฐาน ส่วนอีกวิธีคือการส่งไปยังสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีเครื่องมือและวิธีการจัดการสารกัมมันตรังสีซึ่งมีความพร้อมสูง

"หลังจากเมื่อวานที่ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบ เบื้องต้นเราขอให้ข้อมูลแค่เพียงว่าไม่มีรังสีรั่วไหลที่เป็นอันตรายใดๆ ส่วนข้อมูลอื่นๆ เช่น เป็นถังจากบริษัทใด นำเข้าปีไหน ทำไมถึงมีอยู่ตรงนั้นได้โดยไม่มีการกำจัดอย่างถูกวิธีเรายังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังอยู่ในขั้นตรวจสอบพร้อมๆ กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนที่จะมีการดำเนินการปรับหรือลงโทษบริษัทเจ้าของวัตถุดังกล่าวหรือไม่นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาอีกครั้ง เพราะปกติสารกัมมันตรังสีผลิตภัณฑ์หนึ่งหากจะใช้จะต้องขออนุญาตจาก ปส. ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุเพียงแค่ 2 ปี ต้องใช้เวลาอีกสีกพักสำหรับการตรวจสอบ" รองเลขาธิการ ปส. กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
นายกิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)









กำลังโหลดความคิดเห็น