เอเจนซีส์ /MGRออนไลน์ – ตอนเหนือญึ่ปุ่นตกอยู่ในอันตรายเมื่อหมูป่าที่ได้รับสารกัมมันตภาพรังสีออกเพ่นพ่านไปทั่วหลายหมื่นตัว จากสถิติในช่วงก่อนปี 2014 จำนวนหมูป่าถูกล่าเพิ่มมากขึ้นจาก 3,000 ตัว ไปอยู่ที่ 13,000 ตัว หลังพบว่าหมู่ป่าพวกนี้ใช้เขตกักกันรังสีนิวเคลียร์รอบบริเวณโรงงานไฟฟ้าฟูกูชิมะ 12.5 ไมล์ของบริษัทเทปโก้เป็นสถานที่ขยายแพร่พันธุ์
RT สื่อรัสเซียรายงานวันนี้(6)ว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนหมูป่าที่ได้รับสารกัมมันตภาพรังสีขนาดเข้มข้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังจากที่หมูป่าเหล่านี้ได้ใช้เขตกักกันรังสีนิวเคลียร์รอบบริเวณโรงงานไฟฟ้าฟูกูชิมะของบริษัทเทปโก้เป็นสถานที่ขยายพันธุ์
ซึ่งเขพอพยพนี้มีขนาด 12.5 ไมล์ซึ่งเคยมีประชาชนอาศัยอยู่ร่วม160,000 คน และซึ่งล่าสุดในปีที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนอยู่อีกถึง 120,000 คนที่ไม่สามารถย้ายกลับเข้ามาได้ และยังมีบางส่วนถูกจัดเป็นเขตสีแดง
ซึ่งพบว่า ในช่วง 3 ปีก่อนปี 2014 จำนวนหมูป่าถูกล่าเพิ่มมากขึ้นจาก 3,000 ตัว ไปอยู่ที่ 13,000 ตัว หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้คำแนะนำรัฐบาลท้องถิ่นทั่วญี่ปุ่นในการจัดหาทีมล่าหมูป่าเหล่านี้
โดยสื่อญึ่ปุ่น โยมิอุริ รายงานว่า เมืองฟูกุชิมะถึงกับตั้งรางวัลให้กับบรรดานักล่าเพื่อเป็นแรงจูงใจในการจำกัดจำนวนหมูป่าได้รับสารกัมมันตภาพรังสีเหล่านี้ แต่กระนั้นทางเมืองฟูกุชิมะยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากหมูป่าแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วมากกว่า
RT รายงานเพิ่มเติมว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันฃสิ่งแวดล้อมรังสีวิทยาประจำมหาวิทยาลัยฟูกุชิมะได้เคยเข้าไปศึกษาถึงการกระจายของสารกัมมันตภาพรังสีในพื้นที่ประสบภัย และได้เข้าไปศึกษาถึงสาเหตุการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วของหมูป่าเหล่านี้ “หมูป่าและแรคคูนใช้โซนอพยพ ที่มีบ้านเรือนผู้คนทิ้งร้างเป็นจำนวนมาก ในการแพร่พันธุ์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อม โอคูดะ คีโตคุนิน (Okuda Keitokunin) ให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์ญึ่ปุ่น Mainichi ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้สื่อรัสเซียยังรายงานเพิ่มเติมต่อว่า ปัญหาที่ญี่ปุ่นต้องประสบเนื่องจาก ไม่มีสถานที่มากพอที่จะทำการฝังหมูป่าสารกัมมันตภาพรังสีเหล่านี้ เช่น เมืองนิฮอนมัตสุ(Nihonmatsu) ตั้งอยู่ห่างจากโรงงานไฟฟ้าเทปโก้ไปราว 56 กม. ใช้หลุมขนาดใหญ่จำนวนถึง 3 หลุมที่แต่ละหลุมสามารถฝังหมูป่าได้จำนวน 600 ตัว ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่า หลุมฝังหมูป่าเหล่านี้ใกล้เต็มแล้ว ซึ่งทางเมืองได้ออกมาร้องว่า ไม่มีพื้นที่รองรับการฝังกลบซากหมูป่ากัมมันภาพรังสี ในขณะที่นักล่าญี่ปุ่นลดจำนวนการฝังซากหมูป่าเหล่านี้ในที่ของตัวเอง
RT รายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากฝังแล้ว ทางท้องที่ได้เคยพยายามใช้เตาเผาเพื่อกำจัดซากหมูป่าฟูกูชิมะ แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ยากลำบากเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่เมืองต้องใช้มีดตัดซากร่างหมูป่าขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักถึงตัวละ 100 กก. ออกเป็นชิ้นเพื่อที่จะทำให้สามารถนำเข้าเตาเผาได้ ซึ่งจำนวนผู้ที่สามารถตัดหมูป่าเหล่านี้ได้มีจำนวนจำกัด
นอกจากนี้บนเว็บไซต์ติดตามความคืบหน้าฟูกูชิมะ ฟูกูชิมะไดอารี ในวันที่ 17 กันยายน 2012 มีรายงานการพบหมูป่าสีขาวที่มีขนาดความยาว 80 ซม. และน้ำหนักราว 50 กก. ติดในกับดักในไร่หัวหอมแห่งหนึ่งที่เขต ฮามาทามาโช ซากะ(Hamatamacho Saga) ซึ่งตั้งอยู่ห่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะทางตะวันตกเฉียงใต้ไปราว 1,088 กม. ซึ่งมีนักล่าท้องถิ่น เซริตะ วัย 69 ปีเป็นผู้พบหมูป่าสีขาวขนาดใหญ่ตัวนี้ โดยเขาให้ความเห็นกับฟูกูชิมะไดอารีว่า เชื่อว่าหมูป่าที่ติดกับดักนี้น่าจะเป็นหมูป่าจากเขตอพยพฟูกุชิมะ
สื่อรัสเซียรายงานเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าเนื้อหมูจะถูกจัดเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น แต่ทว่าเนื้อหมูป่าเหล่านี้ไม่สามารถนำมารับประทานได้ เนื่องมาจากหมู่ป่าฟูกูชิมะนั้นมีระดับสารกัมมันตภาพรังสีสะสมในระดับเข้มข้น เพราะหมูป่าเหล่านี้กินพืชผัก และสัตว์เล็กๆในป่าที่มีสารกัมมันตภาพรังสีระดับความเข้มข้นสะสมอยู่ โดยจากการตรวจสอบพบว่า เนื้อของหมูป่าเหล่านี้มีสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม 137(Caesium-137)อยู่สูงเกินมาตรฐานถึง 300 เท่ากว่ามาตรฐานที่อนุญาตสำหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และที่ผ่านมาทางเมืองได้ออกคำเตือนไม่ให้ชาวบ้านในพื้นที่รับประทานเนื้อหมูป่าเหล่านี้
อย่างไรก็ตามมาจนถึงวันนี้ ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า หมูป่าฟูกูชิมะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการได้รับสารกัมมันตภาพรังสีในระดับเข้มข้น แต่ในการศึกษาอื่นๆพบว่า ในสัตว์เล็ก เช่น หนู หรือ พืชต่างๆได้รับอันตายเนื่องมาจากได้รับสารกัมมันตภาพรังสีเกินขนาด
และในไส้เดือนดินใกล้กับเขตอพยพภัยรังสีนิวเคลียร์ถูกพบว่ารหัสพันธุกรรมดีเอ็นเอถูกทำลาย ส่วนในมนุษย์นั้น นับมาถึงปัจจุบันนี้ ยังพบหลักฐานว่ารหัสพันธุกรรมดีเอ็นเอของมนุษย์ถูกทำลายเนื่องมาจากการถูกสารกัมมันตภาพรังสีเหล่านี้ที่ฟูกูชิมะ
ซึ่งที่ผ่านมาจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตฟอร์ด สหรัฐฯอเมริกา พบว่า มีชาวญี่ปุ่นจำนวน 130 คนที่คาดว่าอาจต้องเสียชีวิตเนื่องมาจากโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติโรงงานไฟฟ้าเทปโก้
และด้านความคืบหน้าถึงการกำจัดน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีใกล้โรงงานพลังงานิวเคลียร์ไฟฟ้าฟูกูชิมะ โตเกียวได้อนุญาตให้เริ่มขั้นตอนการก่อสร้างระบบกำแพงน้ำแข็งใต้ดิน (underground ice wall system) ล้อมโรงงานแห่งนี้ไว้ ที่เชื่อว่าจะสามารถป้องกันไม่ให้น้ำจากใต้ดินปนเปื้อนกับกัมมันตภาพรังสีภายในโรงงานแห่งนี้
โดยสำนักงานควบคุมนิวเคลียร์ญี่ปุ่น NRA ก่อนหน้านี้ได้ออกมาประกาศว่า ได้ออกคำสั่งให้เริ่มเปิดระบบเซกชันแรกให้เริ่มทำงาน ซึ่งระบบที่คล้ายกับตู้เย็นขนาดใหญ่ใต้ดินจะเริ่มก่อตัวขึ้น และจะทำให้กำแพงดินแช่แข็งรอบโรงงานไฟฟ้าฟูกุชิมะกลายเป็นปราการป้องกัน