นายกรัฐมนตรีไทย ระบุ การรับมือเหตุการณ์วิกฤตความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ต้องเดินหน้าทั้งระยะสั้น และระยะยาว
วันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2559 เวลา 15.45 น. ณ ศูนย์ประชุม Walter E. Washington Convention Center กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์จำลองเกี่ยวกับวิกฤตความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ระหว่างการประชุม Nuclear Security Summit ครั้งที่ 4
โดย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวเกี่ยวกับสถานการณ์จำลองการรับมือเหตุการณ์วิกฤตความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ว่า จะต้องดำเนินการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ควบคู่กัน เพราะต่างก็มีความสำคัญ การดำเนินการในระยะสั้นจะเน้นการควบคุมสถานการณ์ โดยระดมสรรพกำลังเพื่อจับตัวผู้ร้าย และดูแลความปลอดภัยของประชาชน เพื่อป้องกันความตื่นตระหนก โดยประเมินระดับความรุนแรงของปัญหา ผลกระทบในด้านต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เนื่องจากสารกัมมันตรังสี เช่น ซีเซียม มี half life 31 ปี จึงต้องกำหนดมาตรการรับมือที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องให้ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับรู้อย่างถูกต้องด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในระยะยาว ว่า มีความสำคัญยิ่งกว่า ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และขยายความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในเรื่องนี้ โดยในระดับประเทศ จะต้องเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพร้อมรับมือกับภัยคุกคามในรูปแบบนี้ ซึ่งไทยได้จัดตั้งกลไกประสานงานระดับชาติเฉพาะด้าน การไม่แพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เพิ่มเติมจากกลไกประสานงานด้านการบรรเทาเหตุฉุกเฉินระดับชาติ เพื่อประเมิน ติดตาม และบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ไทยได้ริเริ่มอาเซียนตอม และได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการจัดตั้งระบบติดตามตรวจสอบและศูนย์ข้อมูลของอาเซียน นอกจากนี้ ไทยมีแผนที่จะพัฒนาศูนย์ตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางนิวเคลียร์ให้เป็นระดับภูมิภาค เพื่อจัดอบรมในเรื่องนี้ให้แก่ประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ การให้สัตยาบันอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง จะช่วยเสริมสร้างการดำเนินงานในการเตรียมความพร้อมในระดับชาติและภูมิภาค ซึ่งไทยกำลังปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาเหล่านี้