นายกรัฐมนตรี ย้ำ ความมั่นคงทางนิวเคลียร์เป็นภารกิจที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน ยืนยันไทยพร้อมเต็มที่
วันศุกร์ 1 เมษายน 2559 เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์ประชุม Walter E. Washington Convention Center กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน (Working Lunch) ในการประชุม Nuclear Security Summit ครั้งที่ 4 โดยร่วมกล่าวถ้อยแถลง (Intervention) ในหัวข้อ แผนปฏิบัติการระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศเพื่อความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (International and Institutional Actions to Strengthen Nuclear Security) ในฐานะไทยเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้ง ASEANTOM (ASEAN Network of Regulatory Bodies on Atomic Energy) เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลนิวเคลียร์ของอาเซียน ด้วย
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีประเทศหนึ่งประเทศใดที่จะสามารถทำงานด้านความมั่นคงทางนิวเคลียร์ได้โดยลำพัง เราจึงต้องร่วมมือเป็นเครือข่าย ทั้งองค์การระหว่างระหว่างประเทศ รวมทั้งกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เช่น UN, IAEA , GICNT INTERPOL และ GP รวมทั้งกรอบความร่วมมือต่าง ๆ
ดังนั้น แผนปฏิบัติการในกรอบ NSS มีบทบาทสำคัญในการขยายความร่วมมือ และเกื้อกูลการดำเนินงานในระดับประเทศ ต้องชื่นชมองค์การระหว่างประเทศและกรอบความร่วมมือเหล่านี้ และขอขอบคุณสหรัฐฯ ที่ริเริ่มกระบวนการ NSS ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านนี้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ไทยให้ความร่วมมือกับองค์การและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ในฐานะรัฐสมาชิกของ UN ไทยได้ปฏิบัติตามพันธกรณีต่าง ๆ เช่น ข้อมติที่ 1540 เรื่องการควบคุมและไม่แพร่ขยายวัสดุที่ใช้ได้ 2 ทางซึ่งอาจนำไปใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และข้อมติอื่น ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์
ไทยยังให้ความร่วมมือกับ IAEA อย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ รวมทั้งการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ตลอดจนร่วมมือในการจัดประชุม สัมมนา และฝึกอบรมในระดับภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติด้านนิวเคลียร์ในระดับปริญญาตรีโดยเปิดรับนักศึกษาจากประเทศต่าง ๆ อีกด้วย
ในระดับภูมิภาค ไทยก็ให้ความสำคัญและเห็นว่าโดยไทยได้ริเริ่มการจัดตั้งอาเซียนตอม (ASEANTOM) เป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลทางนิวเคลียร์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด รวมทั้งหารือเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัย ความมั่นคง และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระดับภูมิภาค
อาเซียนตอม (ASEANTOM) ช่วยส่งเสริมกรอบความร่วมมือที่มีอยู่เดิมในภูมิภาค ได้แก่ เครือข่ายความปลอดภัยทางนิวเคลียร์แห่งเอเชีย (ANSN) และเครือข่ายความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์แห่งอาเซียน (NEC-SSN) ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ในทางสันติ อันเป็น 3 เสาที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางนิวเคลียร์อย่างแท้จริง และยั่งยืน และไทยพร้อมร่วมมือและปฏิบัติตามพันธกรณีในทุกด้าน รวมถึงการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และการลดอาวุธนิวเคลียร์ด้วย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ประเทศสมาชิก NSS และองค์การระหว่างประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุม ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะเมื่อทุกประเทศให้ความร่วมมือและปฏิบัติอย่างแข็งขัน โลกของเราก็จะปลอดภัยและมั่นคงมากขึ้น จึงควรส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับ และทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศและกรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง