องค์กรผู้บริโภคยื่นหนังสือกระทรวงพลังงาน ค้านร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมัน พ.ศ. ... หลัง ก.พลังงานงุบงิบเปิดรับฟังในเว็บไซต์ จี้ให้เปิดเวทีรับฟังความเห็นแทน ระบุเขียนวัตถุประสงค์เปิดทางถลุงเงินเหตุนำไปใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ ยันให้เก็บเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันช่วงวิกฤตเท่านั้น และควรมีเพดานจัดเก็บที่ชัดเจน
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ในฐานะประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน เปิดเผยหลังการยื่นหนังสือให้กับกระทรวงพลังงานวันนี้ (28 มี.ค.) ว่า องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานเพื่อความโปร่งใส ได้ร่วมยื่นหนังสือให้กระทรวงพลังงานเพื่อให้พิจารณาแก้ไข “ร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ... ที่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ระหว่างวันที่ 14-28 มี.ค. 59 โดยขอให้กระทรวงพลังงานเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนเพราะร่างดังกล่าวยังสร้างความกังวลใจถึงวัตถุประสงค์ที่เปิดกว้างให้สามารถนำเงินกองทุนน้ำมันไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์
“เราเคยไปยื่นเรื่องนี้ต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และ สตง.ก็มีหนังสือถึงรัฐบาลว่ากองทุนน้ำมันไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่สามารถเก็บเงินจากประชาชนได้ แต่ล่าสุดกระทรวงได้ร่างกฎหมายมารองรับเป็นการฟอกความผิดจากเดิม แต่ที่น่ากังวลคือ กลับเขียนวัตถุประสงค์ที่เปิดกว้างการใช้เงิน ทั้งอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ สำรองน้ำมันยุทธศาสตร์ เปรียบเหมือนประเทศนี้ไม่มีเงินงบประมาณอยู่เลย และภาระหนักก็จะตกอยู่ที่ประชาชนที่ถูกบังคับเก็บ จึงควรตัดวัตประสงค์นี้ออกไป” น.ส.บุญยืนกล่าว
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังมีองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันฯ ที่ไม่เกิน 18 คนกลับพบว่ามีการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นรองประธาน และยังกำหนดให้ข้าราชการภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงานเป็นกรรมการอีก 3 คน คือ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อธิบดีกรมพัฒนาพลังานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และอธิบดีกรมเชื้อเพลิง โดยไม่มีองค์ประกอบของภาคประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐควรเปิดให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและควรกำหนดจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้ชัดเจนไม่ใช่ระบุว่าไม่เกิน 4 คน
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงศา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ภาคประชาชนไม่ได้คัดค้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันหรือสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ หากแต่คัดค้านการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปลงทุนสิ่งนี้เพราะรัฐกำลังใช้เงินผิดกระเป๋าเพราะมีเงินจากค่าภาคหลวงปิโตรเลียม เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษในกิจการปิโตรเลียม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่สะสมตั้งแต่ปี 52-57 รวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท จึงควรตัดวัตถุประสงค์นี้ออก
นอกจากนี้ ไม่เห็นด้วยที่กองทุนฯ จะทำหน้าที่รองรับนโยบายลักษณะประชานิยมในการบรรเทาผลกระทบราคาน้มันแพงบางกลุ่ม เพราะเป็นการนำเงินประชาชนอีกกลุ่มไปช่วยกันเองเพราะรัฐมีรายได้จากภาษีน้ำมัน ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ฯลฯ จำนวนมาก จึงควรตัดวัตถุประสงค์นี้ออกเช่นกัน และกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน คือ กำหนดการใช้เงินกองทุนน้ำมันเพื่อการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงช่วงวิกฤตราคาแพง โดยควรดำเนินการในช่วงสั้นๆ และรวมถึงควรกำหนดเพดานการเก็บน้ำมันให้ชัดเจนว่าอัตราใด
นายวชิรวิชญ์ บุญสม ผู้อำนวยการกองศึกษาและประสานงานพลังงานนิวเคลียร์ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังางานกล่าวหลังการรับหนังสือว่าจะนำเรื่องทั้งหมดไปเสนอต่อ รมว.พลังงานพิจารณาต่อไป