xs
xsm
sm
md
lg

"ไข่สด-สารอาหารครบ" เนรมิตได้ด้วยนาโน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำมันออริกาโนที่ถูกพัฒนาด้วยเทคนิค Seif-Emusifier
ในยุคที่คนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ “อาหารคุณภาพ” จึงถูกหยิบยกขึ้นมาป็นดาวเด่น เพราะไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำต่างก็มีวัตถุดิบหลายเกรดให้ได้เลือกสรร ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ไข่ไก่” ที่วันนี้สารอาหารภายในถูกออกแบบได้ด้วยเทคนิคทางนาโนเทคโนโลยี

ดร.อิศรา สระมาลา นักวิจัยห้องปฏิบัติการอาหารการเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) กล่าวว่า นวัตกรรมไข่ออกแบบได้ที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น เป็นนวัตกรรมปรับปรุงคุณภาพไข่ไก่ด้วยการปรับปรุงโภชนาการและคุณภาพของไก่อย่างมีคุณภาพเพื่อให้ได้ไข่ไก่ที่สมบูรณ์แบบ โดยการออกแบบเทคโนโลยีการนำพา (Unique Target Delivery system) เพื่อนำส่งสารสกัดสมุรไพรอย่างน้ำมันโหระพา และน้ำมันออริกาโน รวมไปถึงแร่ธาตุ สารอาหารที่มีผลต่อการพัฒนาระบบลำไส้สัตว์ปีก (Gut Health) ด้วยนวัตกรรมคีเลชั่นไปสู่อวัยวะเป้าหมายโดยตรง เพื่อให้ได้ผลผลิตไข่ดีเกรด AA มีเปลือกไข่ที่แข็งแรง ไข่ขาวเป็นวงชัด และมีคุณค่าอาหารตรงตามความต้องการของผู้บริโภค

ดร.อิศรา อธิบายว่า เทคโนโลยีการนำส่งดังกล่าวจะทำให้น้ำมันอยู่ในรูปของคีเลท ที่เป็นการทำให้แร่ธาตุแตกตัวอยู่ในรูปของอะตอม และจับกันด้วยโมเลกุลเปปไทด์ที่สามารถละลายน้ำและดูดซึมไปใช้ได้โดยง่าย แทนที่จะเป็นหยดน้ำมัน หรือก้อนธาตุขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เวลาแตกตัวนาน แถมยังดูดซึมยาก จนอาจไม่คุ้มประโยชน์ เพราะไก่เป็นสัตว์ที่มีลำไส้สั้น กินเร็ว ขับถ่ายเร็ว หากกินอาหารที่ต้องใช้เวลาแตกตัวดูดซึมมากก็จะดูดซึมไม่ทัน ซึ่งเทคโนโลยีการนำพาในรูปแบบคีเลทนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ไข่ไก่ที่ได้จึงมีสารอาหารมากขึ้นตามปริมาณสารอาหารที่ไก่กินเข้าไป

นอกจากจะทำให้ไข่มีสารอาหารที่ต้องการ จากการทำให้แม่ไก่กินอาหารได้แล้ว ดร.อิศรา เผยว่า นาโนเทคโนโลยียังทำให้ไข่มีคะแนนความสดมากขึ้นซึ่งมีผลต่อราคาขายที่ดีขึ้น ด้วยการนำเทคนิคนาโนเอนแคปซูเลชัน (Nanoencapsulation) มาประยุกต์ใช้กับน้ำมันออริกาโนในรูปแบบการเคลือบเป็นถุงขนาดเล็กๆ เพื่อไม่ให้ส่งกลิ่น เนื่องจากมีผลวิจัยที่ได้ยอมรับในวงกว้างว่า น้ำมันออริกาโนทำให้ไก่ลำไส้สะอาด ผลผลิตไข่ที่ได้มีความสดขึ้น ทว่ามีกลิ่นรุนแรง หากนำไปผสมกับอาหารจะทำให้ไก่ไม่กินอาหาร ซึ่งเมื่อนำเทคนิคดังกล่าวมาใช้จะช่วยทำให้ไก่ไม่ได้กลิ่นน้ำมันออริกาโนและยอมกินอาหาร เป็นผลให้ไข่ที่ได้มีความสดใหม่มากกว่าเดิม 40% ซึ่งทำให้เกษตรกรขายไข่ไก่ได้ราคาสูงขึ้นกว่าปกติ 20-40% และที่สำคัญเทคโนโลยีนาโนเอนแคลปซูเลชันยังทำให้อาหารกระจายตัวได้ดีในรูปแบบของหยดน้ำมัน (self-emulsifiered oil) ไม่กระจุกอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ซึ่งสะดวกต่อระบบให้อาหารในระบบน้ำในฟาร์มไก่ด้วย

“เรื่องเทคโนโลยีฐานแล็บของเรามีความเชี่ยวชาญไม่ต่ำกว่า 10 ปีแต่สำหรับการนำมาประยุกต์ใช้เช่นโครงการนี้ เพิ่มเริ่มขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อนเท่านั้น จากการที่เอกชนรายหนึ่งซึ่งทำธุรกิจนำเข้าส่งออกอาหารสัตว์เกิดปัญหาไก่ไม่ยอมกินอาหารเสริมเพราะเหม็นออริกาโน ได้เล็งเห็นศักยภาพและเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีของเราจะช่วยแก้ปัญหาได้จึงเข้ามาเจรจราและจ้างวิจัยจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปหยดน้ำมันดังกล่าว ซึ่งส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่ามันมีประสิทธิภาพดีกว่าของต่างชาติ เพราะของเขานิยมผลิตเป็นหัวเชื้อเหลวแบบขุ่น ซึ่งมีน้ำหนักมาก เป็นปัญหาด้านโลจิสติกส์ ทำเป็นไมโครอิมัลชั่น หรือทำเป็นอาหารแห้งแล้วใช้กลิ่นอย่างอื่นช่วยกลบ ในขณะที่เทคดนโลยีของเราเก็บกลิ่นได้สมบูรณ์แบบ น้ำหนักไม่มาก และใช้น้อย การประกวดรางวัลนวัตกรรมโลกที่เบลเยี่ยมเราจึงได้รางวัลมา เพราะต่างชาติมองว่าวานของเรามีผลต่อเชิงเศรษฐศาสตร์สูง เพราะช่วยเกษตรกรสร้างผลผลิตคุณภาพดีในขณะที่ค่าใช้จ่ายแทบจะไม่เปลี่ยน หรือหากมีค่าใช้จ่ายก็อยู่ในอัตราต่ำไม่ถึง 5% หนำซ้ำอาจจะทำราคาได้ถูกลงกว่าการเลี้ยงไก่ไข่ทั่วไปด้วย เพราะเกษตรกรไม่ต้องลงทุนซื้อยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีที่ต้องให้ไก่ ทำให้เป็นไข่ออร์แกนิกที่มีความสด ปลอดภัย ขายได้ในราคาที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20-40%” ดร.อิศรา เผย

อย่างไรก็ดี ดร.อิศรา เผยว่า ชุดเทคโนโลยีดังกล่าวนาโนเทคได้ถ่ายทอดให้กับบริษัทเอกชนผู้จ้างวิจัยมาประมาณ 2 ปีแล้ว และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นทดลองระดับฟาร์มด้วยการทดสอบในไก่ 2 กลุ่ม ระหว่างให้น้ำมันกับไม่ให้ และทำซ้ำในอีกหลายๆ การทดลอง จนได้ผลนิ่งเป็นที่น่าพอใจ จึงมีแนวโน้มว่าในช่วงปลายปีนี้เอกชนจะพัฒนาจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

“เทคโนโลยีชุดนี้ไม่ได้ใช้ได้กับการออกแบบไข่จากไก่ทุกสายพันธุ์ได้ท่านั้น แต่ยังสามารถประยุกต์ใช้กับสัตว์ประเภทอื่น เช่น วัวหรือหมู แต่ต้องผ่านการประยุกต์ให้เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพและชีวภาพของสัตว์ชนิดนั้นๆ เสียก่อน ซึ่งขณะนี้เราได้นำไปใช้กับงานวิจัยข้างเคียงเช่น ชาน้ำมัน กว่าจะสำเร็จมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ยากที่สุดคือไอเดีย กว่าเราจะจับคู่ได้ว่าปัญหาไก่ในลักษณะนี้ต้องเอาเทคดนโลยีอะไรมาจับก็ใช้เวลาพอสมควร แต่เมื่อเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว ทุกอย่างก็ไปอย่างรวดเร็ว เพราะเรามีพื้นฐานความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง” ดร.อิศรา กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ผลงานไข่ออกแบบได้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่นำมาจัดแสดงในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2559 (NAC 2016) ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ช่วงต้นเดือน เม.ย. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ผลิตภัณฑ์น้ำมันออริกาโนและสารอาหารที่ถูกพัฒนาคุณสมบัติด้วยเทคนิคทางนาโนเทคโนโลยี
แม่ไก่กินอาหารและสารสกัดสมุนไพรที่ถูกปรับปรุงด้วยเทคโนโลยีการนำพาทำให้ลำไส้สะอาด ดูดซึมเร็ว เป็นผลให้ไข่มีคุณค่าและมีความสดกว่าปกติ
ดร.อิศรา สระมาลา นักวิจัยห้องปฏิบัติการอาหารการเกษตร ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)









กำลังโหลดความคิดเห็น