xs
xsm
sm
md
lg

นั้งเครื่องบินอย่างนิ่งดูดาวมาถ่าย “ทางช้างเผือก” กัน

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายทางช้างเผือกบนเครื่องบินในช่วงรุ่งเช้า ในเที่ยวบินกรุงเทพอินโดนีเซีย ในช่วงต้นเดือนมีนาคม (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Sigma 24mm f/1.4 DG HSM Art / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/1.4 / ISO : 5000 / Exposure : 2 sec)
จากกระแสการถ่ายภาพทางช้างเผือกที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ ซึ่งประเทศไทยเองสามารถเริ่มถ่ายภาพกันได้ตั้งแต่ช่วงกลางดึก ทางทิศตะวันออกในคืนวันที่ไร้แสงดวงจันทร์รบกวน สำหรับผมเองส่วนตัวก็ชื่นชอบการถ่ายภาพทางช้างเผือกไม่แพ้คนอื่นๆ หากแต่เวลาที่พอจะว่างออกไปถ่ายภาพนั้นก็ช่างลำบากเหลือเกิน หากแต่ทุกช่วงที่เป็นคืนวันที่ไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวน ผมก็มักจะวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้าเผื่อไว้เสมอ หากสบโอกาสก็ไม่พลาดที่จะคว้ากล้องออกมาถ่ายภาพทางช้างเผือกไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม

สำหรับครั้งนี้ของคอลัมน์การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ผมก็จะนำเสนออีกรูปแบบที่มีน้อยคนคิดจะทำ นั้นก็คือ “การถ่ายภาพทางช้างเผือกบนเครื่องบิน” ซึ่งในช่วงนี้หากใครมีโอกาสเดินทางด้วยเครื่องบินในเวลาตั้งแต่ตี 1 เป็นต้นไป ให้คุณลองเลือกที่นั้งฝั่งที่สามารถมองเห็นทิศตะวันออกได้ติดหน้าต่าง คุณก็สามารถเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ในการถ่ายภาพทางช้างเผือกในมุมที่แตกต่าง

หากวันดังกล่าวที่คุณบินตามช่วงเวลาที่กล่าวมา ไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวนแล้วล่ะก็ โอกาศทองแล้วล่ะครับ เพราะโดยส่วนมาก ที่ระดับความสูงกว่า 30,000 ฟุต โดยประมาณ ซึ่งที่ความสูงระดับนี้ท้องฟ้ามักใสเคลียร์มากๆ และแน่นอนมันใสเคลียร์มากพอที่เราสามารถมองเห็นทางช้างเผือกผ่านหน้าต่างเครื่องบินได้ง่ายๆ

เอาล่ะครับตอนนี้หลายคนคงต้องสงสัยว่า ในเมื่อเครื่องบินไม่ได้อยู่นิ่ง เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาแล้วเราจะถ่ายดาวได้อย่างไร ภาพดาวจะไม่ยืดเป็นเส้นเหรอ ผมมีคำตอบง่ายๆ ครับ “เราถ่ายทางช้างเผือกบนเครื่องบินได้จริงๆครับ” โดยมีเทคนิคและวิธีการง่ายๆ ดังนี้

1. ลองเลือกที่นั้งฝั่งที่สามารถมองเห็นในทิศตะวันออกได้ และติดหน้าต่าง ซึ่งตรงนี้คุณต้องเช็คเส้นทางการบินก่อนว่าเครื่องบินจะบินไปทางทิศไหนก่อนจองตั๋ว โดยสามารถดูจากแผนที่โลก หรือเช็คจากเว็บไซต์ https://www.flightradar24.com ได้เช่นกัน
ตัวอย่างเว็บไซต์ www.flightradar24.com ซึ่งสามารถตรวจสอบเส้นทางการบินได้
2. คำนวณค่าการถ่ายภาพไว้ล่วงหน้า ตามสูตรถ่ายดาวที่ผมเคยแนะนำไว้ Rule of 400/600 หากคุณสามารถยึดหรือจับกล้องได้นิ่งพอบนที่นั้งเครื่องบิน แต่โดยทั่วไปผมแนะนำว่าไม่ควรเกิน 5 วินาที เนื่องจากมีโอกาศที่มือเราจะล้าได้ ดังนั้นคุณอาจซ่อมนั้งถ่ายภาพกับกระจกหน้าต่างที่บ้านของคุณก่อนได้ ว่าสามารถถือกล้องได้นิ่งนานที่สุดกี่วินาที

3. ใช้ค่าความไวแสง(ISO) สูงๆ เริ่มตั้งแต่ 6400 หรือมากกว่าหากทำได้ ที่กล้องยังคงควบคุมสัญญาณรบกวนได้ในระดับที่รับได้ “ซึ่งหากเรากลัว Noise เราก็อดได้ภาพในมุมที่แตกต่าง”

4. เลือกใช้เลนส์ที่มีค่ารูรับแสงกว้างๆ เพื่อให้กล้องมีความไวแสงมากๆ และช่วยให้เราลดค่าความไวแสงลงมาได้อีกด้วย

5. หาเสื้อคลุมติดตัวไปด้วย และหากมีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยจะดีมากๆ เพราะเพื่อนจะช่วยคุณคลุมผ้าเพื่อไม่ให้แสงภายใน้องโดยสารสะท้อนกระจกมายังหน้ากล้องเราได้
หาเพื่อนช่วยคลุมผ้าเพื่อป้องกันแสงลอดเข้ามาสะท้อนกระจกเข้าหน้ากล้องขณะถ่ายภาพ จะดีที่สุด
ในการถ่ายภาพทางช้างเผือกบนเครื่องบินนั้น ฟังดูอาจดูขัดกับความรู้สึกในการถ่ายภาพทางช้างเผือกบนพื้นโลกใช่มั้ยครับ คำอธิบายง่ายคือ เนื่องจากดาวหรือทางช้างเผือกที่เราถ่าย อยู่ในระยะอนันต์ ดังนั้นการที่เครื่องบินเคลื่อนที่อยู่ในโลก ก็ไม่ได้ส่งผลกับตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้า จะส่งผลมากที่สุดก็คือฉากหน้าที่อยู่ในโลกเท่านั้น เช่น ภาพนี้ผมถ่ายด้วยกล้อง Full Frame + Lens 24mm. คำนวณจากสูตร 600/24 = 25วินาที ซึ่งถ้าผมถือกล้องได้นิ่งนาน 25 วินาที หรือเครื่องบินไม่สั่น ไม่เลี้ยว ผมก็จะสามารถถ่ายภาพได้นานถึง 25 วินาที โดยที่ดาวยังคงดูเป็นจุด แต่ความสามารถของผมคือ ถือกล้องให้นิ่งได้เพียงไม่กี่วินาที และเครื่องบินสั่นๆ เพราะกำลังจะบินเข้าสู่สภาพอากาศแปรปรวน จึงถ่ายมาสั้นๆได้เพียง 2 วินาที เท่านั้น แต่ก็ถ่ายได้น่ะครับดาวไม่เป็นเส้นตามการเคลื่อนที่ของเครื่องบิน แต่อาจดูสั่นๆ บ้างจากการถือกล้องไม่นิ่ง
ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ (ภาพซ้าย Camera : Canon 1DX / Lens : Sigma 24mm f/1.4 DG HSM Art / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/1.6 / ISO : 10000 / Exposure : 2.5 sec) (ภาพขวา Camera : Canon 1DX / Lens : Sigma 24mm f/1.4 DG HSM Art / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/1.4 / ISO : 10000 / Exposure : 2.5 sec)
(ภาพโดย : ธนกฤต  สันติคุณาภรต์ / Camera : Nikon 810A / Lens : Nikon 14-24mm AFS f/2.8 G ED / Focal length : 14 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 12800 / Exposure : 10 sec)
เพียงเท่านี้...คุณก็สามารถเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ในการถ่ายภาพทางช้างเผือกในมุมที่แตกต่างกันแล้วครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน









เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น