เอ็มเทคจับมือเนคเทค เปิดตัวโรงงานต้นแบบผลิต "นวัตกรรมดิจิทัลเอกซเรย์" มาตรฐานระดับโลกแห่งแรกของไทย หลังพัฒนาและทดลองใช้เครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรม "เดนตีสแกน" ประสบความสำเร็จ ราคาถูกกว่านำเข้า พร้อมเปิดตัวเครื่องโมบีสแกนและบอดีเรย์ ยกระดับวงการเครื่องมือแพทย์ไทย
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัวโรงงานต้นแบบเพื่อผลิตนวัตกรรมดิจิทัลเอกซเรย์ (Unveil the NSTDA Pilot Plant for Digital X-Ray Innovation) ณ อาคารเอ็มเทค อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 มี.ค.59
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้ริเริ่มโครงการผลิตนวัตกรรมดิจิทัลเอกซเรย์ กล่าวว่า เครื่อง CT Scan เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 และถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเขียนอัลกอริธึมและโปรแกรมทางระบบคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน CT Scan ถูกยกให้เป็นเทคโนโลยีที่ดีกว่าเอกซเรย์เนื่องจากสามารถส่องผ่านมวลกระดูกไปจนถึงอวัยวะส่วนต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันถูกนำมาประยุกต์ใช้มากกับการผลิตเครื่องมือแพทย์
ในประเทศไทยเริ่มนำ CT Scan มาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ซึ่ง ศ.ดร.ไพรัชก็เป็นนักวิจัยคนแรกๆ ที่เลือกทำวิจัยและผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีนี้ แต่ก็มีอันต้องวางมือไป ด้วยภาระการรับตำแหน่งปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อเกษียณอายุราชการจึงกลับมาทำวิจัยอีกครั้งในหัวข้อเดิมด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาทจาก สวทช. เพื่อพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเอกซเรย์จากฝีมือคนไทย ด้วยการชักชวนนักวิจัยที้มีความรู้ความสามารถจากเอ็มเทคและเนคเทคมาเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2550
ด้าน ดร.เสาวภาคย์ ธงวิจิตรมณี หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเอกซเรย์ซีทีและการสร้างภาพทางการแพทย์ หน่วยพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์และระบบทางชีวการแพทย์ เนคเทค หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การผลิตนวัตกรรมดิจิทัลเอกซเรย์ เนคเทคมีส่วนร่วมด้านการพัฒนาซอฟแวร์ ส่วนเอ็มเทคจะดูแลทางด้านฮาร์ดแวร์ โดยนวัตกรรมชิ้นแรกที่โครงการทำขึ้นได้แก่ เครื่องเดนตีสแกน (DentiiScan) ที่เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ แบบลำรังสีทรงกรวยสำหรับงานทันตกรรม ซึ่งมีความแตกต่างจากเครื่องถ่ายภาพเอกซเรย์ทั่วไปที่จะแสดงผลแบบ 2 มิติ
เครื่องเดนตีสแกนทำให้การวินิจฉัยโรคและการวางแผนผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น โดยทันตแพทย์มักนำมาใช้ร่วมกับการวินิจฉัยเพื่อดูแนวการวางตัวของเส้นเลือด เส้นประสาท หรือการวางตัวของฟัน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับงานทันตกรรมชั้นสูง เช่น การทำรากฟันเทียม ผ่าฟันคุด การผ่าตัดช่องปาก ผ่าตัดขากรรไกร การรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ไปจนถึงการมะเร็งช่องปาก
“ตอนนี้ที่ทันตแพทย์นิยมใช้กันจะเป็นฟิล์มเอกซเรย์แบบ 2 มิติ หรือแผ่นฟิล์มเล็กๆ ซึ่งใช้ได้แต่ไม่ละเอียดมากพอหากเป็นการรักษากรณีใหญ่ๆ เช่นการทำรากเทียม หรือการผ่าตัด ซึ่งเครื่องเดนตีแสกนจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ เพราะสามารถถ่ายภาพได้ 360 องศา ทำให้เห็นอวัยวะส่วนที่ต้องการทั้งหมดแบบกว้าง ยาว ลึกด้วยระดับความแม่นยำ 97% ทำให้การวินิจฉัยของทันตแพทย์ง่ายและรัดกุมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ครื่องเดนตีแสกนยังมีปริมาณการเล็ดลอดของรังสีเอกซเรย์น้อยกว่าเครื่อง CT Scan ทั่วไปจึงมีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งน้อยกว่า จึงปลอดภัยทั้งผู้ใช้ และบุคลากรทางการแพทย์ โดยการทำงาน 1 รอบจะใช้เวลาแค่ 18 วินาที ให้ภาพ 300 กว่าช๊อต ให้ผลเป็นไฟล์ภาพตัดขวางทางหน้าจอ” ดร.เสาวภาคย์ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ดร.เสาวภาคย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าเครื่องดังกล่าวผ่านการตรวจสอบความความปลอดภัยทางปริมาณรังสีจากกรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทยื กระทรวงสาธารณสุข ผ่านการรับรองความปลอดภัยทางระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จากศูนย์ทดสอลผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) และได้รับการทดสอบทางคลินิคในมนุษยืเรียบร้อย โดยตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน มีการพัฒนาเครื่อวงเดนตีแสกนทั้งสิ้น 2 รุ่น
รุ่นแรกชื่อว่า เครื่องเดนตีแสกน 1.1 ถูกติดตั้งแล้ว 3 แห่งที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2554, ศูนย์ทันตกรรมเอสดีซี ตั้งแต่ปี 2554 และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ปี 2556 โดยมีจำนวนการใช้งานทั้งไม่ต่ำกว่า 3,000 ครั้ง ซึ่งขณะนี้ได้หยุดผลิตและพัฒนามาเป็นเครื่องเดนตีแสกนรุ่นที่ 2 เป็นที่เรียบร้อย
ส่วนรุ่นใหม่มีชื่อว่า เครื่องเดนตีแสกน 2.0 จะมีความพิเศษกว่ารุ่นเดิมที่ความเสถียรสูงขึ้น มีขนาดเล็กลงเหลือแค่ขาตั้งเดียว สามารถถ่ายภาพได้ดีกว่าจนสามารถนำมาประยุกตืใช้กับการแพทย์ด้าน หู คอ จมูกได้ด้วย โดยเดนตีแสกนรุ่น 2.2 ได้รับการสนับสนุนงบวิจัยเพิ่มเติมจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และกำลังมีแผนที่จะจัดส่งให้โรงพยาบาลรัฐบาล 4 แห่งทั่วประเทศได้ทดลองใช้
"ที่สำคัญที่สุดคือเครื่องเดนตีแสกน 2.0 ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO 13485: 2003 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เกิดความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติ อันจะทำให้เกิดการซื้อขายระหว่างประเทศ" ดร.เสาวภาคย์กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ทพ.ปฐพี คงขุนเทียน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ใช้งานจริง กล่าวว่า ทางคณะฯ ได้นำเครื่องเดนตีสแกน 1.1 ไปใช้ตั้งแต่ปี 2554 พบว่าใช้งานได้ดี และยังช่วยให้การรักษาและการวางแผนง่ายขึ้น ง่ายต่อการบอกให้คนไข้เข้าใจว่า บริเวณที่ทำการรักษาเกี่ยวเนื่องกับอวัยวะใดบ้าง และจุดที่วางรากเทียมว่าบริเวณใดบ้างที่เป็นจุดเสี่ยง
"ใช้ได้จริงกับทันตแพทย์ทุกระดับตั้งแต่นักศึกษาทันตแพทย์ถึงอาจารย์ เพราะใช้งานง่าย อ่านผลง่าย เครื่อเดนตีแสกน 1.1 นี้จึงได้ถูกนำมาใช้โครงการรากฟันเทียมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทำให้กับประชาชนแบบฟรีๆ ด้วย" รศ.ดร.ทพ.ปฐพีกล่าว
นอกจากเดนตีแสกนยังมีนวัตกรรมดิจิทัลเอกซเรย์อีกหลายชิ้น ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากโครงการนี้ด้วย อาทิ เครื่องโมบีแสกน (MobiiScan) ที่เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบสามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้ (Mobile CT) ที่ใช้หลักการเดียวกับเดนตีแสกน แต่จะมีขนาดของตัวตรวจรับรังาสีที่ใหญ่กว่าและผู้ป่วยจะอยู่ในท่านอนถ่าย ไม่ได้นั่งถ่ายเหมืนกับเดนตีแสกน เครื่องนี้จะเน้นไปที่การวินิจฉัยอาการเลือดออกในสมองจากผู้ประสบอุบัติเหตุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และยังนำไปประยุกต์ใช้ในการผ่าตัดความพิการบนใบหน้าของผู้ที่มีปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่ได้ด้วย โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นทดสอบทางคลินิกในมนุษย์
ส่วนอีกเครื่องได้แก่ เครื่องบอดีเรย์(BodiiRay) ที่เป็นเครื่องเอกซเรย์แบบดิจิทัล 2 มิติแบบ U-Arm ใช้สำหรับตรวจดูอวัยวะภายในเพื่อคัดกรองและวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับปอด ซึ่งขณะนี้ถูกนำไปเปิดให้บริการแล้วที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่เดือน ส.ค.58 โดยมีผู้ป่วยได้รับบริการแล้วมากกว่า 2,000 ราย
ในโอกาสนี้ทีมนักวิจัยได้นำทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เยี่ยมชม ห้องปฏิบัติการผลิตนวัตกรรมดิจิทัลเอกซเรย์ ที่ตั้งอยู่บนชั้น 3 อาคารโรงงานต้นแบบ เนคเทค ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานีด้วย