xs
xsm
sm
md
lg

สุริยุปราคา: จากอดีตถึงอนาคต/สุทัศน์ ยกส้าน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพสุริยุปราคาเต็มดวงเหนือเมืองลองเยียร์เบียน นอร์เวย์ เมื่อ 20 มี.ค.2558
อุปราคาในภาษาไทยตรงกับคำ “eclipse” ในภาษาอังกฤษคำนี้มีรากศัพท์มาจากคำ “ekleipsis” ในภาษากรีก ที่แปลว่า จับหรือยึด ดังเช่น สุริยุปราคาอันเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ดูเสมือนถูกเงามืดยึด หรือบังไว้ชั่วเวลาหนึ่ง ดังนั้นในวันที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ฟ้าจึงสว่างสองครั้งในวันเดียวกัน

ถ้ามนุษย์ต่างดาวสามารถเห็นเหตุการณ์บนโลกขณะเกิดสุริยุปราคาได้ เขาก็จะเห็นเงาดำกลมขนาดใหญ่ปรากฏบนผิวโลกอย่างทันทีทันใด แล้วเคลื่อนที่ผ่านประเทศต่างๆ ออกสู่มหาสมุทร และเลือนหายไปในที่สุด รวมเป็นระยะทางยาวหลายพันกิโลเมตร ถ้ากล้องโทรทรรศน์ที่ใช้ดูทรงพลังมาก เขาก็จะเห็นผู้คนนับล้านคนทั้งในโรงแรม และบนเรือเดินสมุทรเงยหน้าดูดวงอาทิตย์ ด้านสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และบนเครื่องบินก็มีคนจำนวนมากสนใจดูเหตุการณ์สวรรค์มืดในช่วงกลางวัน หลายคนก้มหน้าสวดมนต์ บางคนเต้นรำอย่างสนุกสนาน และร้องเพลง หลายคนจุดพลุ ถ่ายรูป ดื่มแชมเปญ และยิงปืนขึ้นฟ้า อากัปกิริยาที่มนุษย์แสดงออก เวลาเกิดสุริยุปราคา เราหลายคนคงอยากรู้คำอธิบาย

สำหรับประเด็นการเห็นวงกลมดำขนาดใหญ่นั้น นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าเกิดจากเงาของดวงจันทร์ตกบนโลก และมักเกิดทุกปีหรือ 2 ปี โดยในแต่ละครั้งอาจเกิดนานแตกต่างกัน ส่วนเรื่องปฏิกิริยาตอบสนองของผู้คนนั้น ก็อธิบายได้ยาก เพราะอาการแสดงออกนี้ได้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เช่น เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ก่อนคริสตกาล 2134 ปี ชาวจีนในสมัยนั้นผวากลัวสุริยุปราคามากจนสร้างจินตนาการว่า ดวงอาทิตย์มีเทพเจ้าชื่อ Hsi-Hso ซึ่งทรงทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดินมิให้ถูกมังกรกลืน แม้จะเป็นเวลาเพียงชั่วคราวก็ตาม ดังนั้นเมื่อท้องฟ้ากลับคืนสู่สภาพเดิม นั่นแสดงว่าเทพได้พิชิตมังกรแล้ว

รูปแบบของสุริยุปราคามี 3 แบบ คือ วงแหวนบางส่วนและเต็มดวง สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเพราะดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 400 เท่า (ดวงจันทร์มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 3,476 กิโลเมตร ส่วนเส้นผ่านศูนย์ของดวงอาทิตย์เท่ากับ 1.4 ล้านกิโลเมตร) และอยู่ใกล้โลกยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 400 เท่า ดังนั้นเวลาเรามองจากโลก ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์จึงมีขนาดพอๆ ด้วยเหตุนี้ถ้าโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน ดวงจันทร์ก็จะบดบังดวงอาทิตย์อย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง และท้องฟ้าจะลดความสว่างลง จนตาสามารถเห็นดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ได้ทั้งๆ ที่ขณะนั้นเป็นเวลากลางวัน ส่วนสัตว์ก็เช่นกัน เมื่อท้องฟ้ามืดลงๆ สัตว์หลายชนิดจะหลงเวลา เช่น ค้างคาวจะเริ่มบินออกจากรังเพื่อหากิน ส่วนนกกาก็จะบินกลับรังเพื่อนอน เป็นต้น

ในกรณีสุริยุปราคาแบบวงแหวนนั้น เราจะเห็นดวงจันทร์เป็นวงกลมสีดำขนาดใหญ่ลอยอยู่หน้าดวงอาทิตย์แต่บังดวงอาทิตย์ไม่หมด เพราะที่ขอบมีแสงแสดงบรรยากาศเหนือผิวดวงอาทิตย์ ที่เรียก corona ดังนั้น เวลาที่มีสุริยุปราคาจึงเป็นเวลาที่เหมาะให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษา corona ที่ลุกสว่างจ้า ผลที่ได้จากการศึกษาสุริยุปราคาวงแหวนคือทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของ corona บนดวงอาทิตย์ และดาวฤกษ์ดีขึ้น ส่วนสุริยุปราคาแบบบางส่วนนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ได้แต่เพียงบางส่วน

ส่วนคำอธิบายที่ว่าเหตุใดผู้คนจึงแสดงความตื่นเต้นนั้นก็เพราะเหตุการณ์นี้ไม่อุบัติบ่อย คือ ถ้าจะให้วงกลมมืดเคลื่อนที่ผ่านสถานที่ที่เคยผ่าน คนดูต้องคอยอีก 375 ปี

ประวัติศาสตร์ของชนชาติต่างๆ มีตำนานเกี่ยวกับสุริยุปราคามากมาย เช่น เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ก่อนค.ศ. 2,593 ปี Herodotus ได้เขียนบันทึกว่าขณะกองทัพของชนเผ่า Lydia และ Medea กำลังทำสงครามกัน หลังจากที่ได้สู้รบกันมาเป็นเวลา 6 ปี สงครามก็ยังไม่ยุติ แต่ทันทีที่ดวงอาทิตย์วูบหายไปจากท้องฟ้า เพราะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง กองทัพของคู่กรณีต่างก็เชื่อว่า นั่นคือสัญญาณจากพระเจ้าให้กองทัพวางอาวุธ สงครามครั้งนั้นจึงยุติ
ภาพสุริยุปราคาบางส่วนปี 2553 ณ เชียงใหม่ โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา
ลุถึงเมื่อ 2,094 ปีก่อนคริสตกาล บันทึกบนแผ่นดินเหนียว (cuneiform) แห่งเมือง Ur ในอาณาจักร Babylon ได้เขียนบรรยายเรื่องสุริยุปราคาเต็มดวงว่าเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ได้ทิ้งโลกให้ต้องเผชิญปีศาจร้ายตามลำพัง ชนเผ่า Aztec ในอเมริกากลางก็ยำเกรงกลัวสุริยุปราคามาก เพราะเชื่อว่าปีศาจจากฟ้าจะลงมากินคน จึงนำคนแคระและคนหลังโกงมาฆ่าเพื่อให้เทพ Xolotl แห่งดวงอาทิตย์ทรงพอพระทัย ชาวไวกิงเชื่อว่าสุริยุปราคาเกิดเวลาสุนัขป่า Skoll กลืนดวงอาทิตย์ ชาวเวียดนามโบราณเชื่อว่า สุริยุปราคาเกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ถูกกบยักษ์กิน ชาวไซบีเรียคิดว่า ดวงอาทิตย์ดับมืดเพราะถูกค้างคาวดูดเลือดกลืน คนไทยโบราณเชื่อว่า ยักษ์ชื่อราหูกลืนกินดวงอาทิตย์ ชาวอินเดียนแดงในอเมริกา เมื่อเห็นดวงอาทิตย์หายไป จะยิงธนูไฟขึ้นท้องฟ้า เพื่อให้ดวงอาทิตย์ลุกเป็นไฟอีก ชาวจีนโบราณตีกลองขับไล่มังกรที่กลืนดวงอาทิตย์ ส่วนคนยุโรปมีทั้งเชื่อและกลัวในอาถรรพ์ของสุริยุปราคา เช่นในปี ค.ศ.1383 จักรพรรดิ Charlemagne เมื่อทอดพระเนตรเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง พระองค์ทรงกลัวจนพระหทัยวาย แล้วจักรวรรดิโรมันจึงเริ่มล่มสลาย ในปี 1676 ในอังกฤษได้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ทำให้ประชาชนชาวบ้านกลัวจนลนลาน โหรหลวงได้พยากรณ์ให้ความคาดหวังว่า จะมีเหตุการณ์ดีบังเกิดขึ้นในอีกไม่นาน แต่ในปีนั้นพระเจ้า Henry ที่ 1 กลับเสด็จสวรรคต

ในความพยายามที่จะทำนายว่า สุริยุปราคาจะเกิดที่ใดบ้าง เป็นเวลานานเท่าใด และเมื่อใดนั้นก็มีบันทึกประวัติศาสตร์ว่า นักบวชบาบิลอนได้สังเกตเห็นว่าทุก 18 ปีจะมีสุริยุปราคาเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง แต่การจะทำนายเหตุการณ์นี้ให้ถูกต้องและละเอียดนักบวชไม่มีความรู้ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ จนถึงสมัยของ Edmond Halley ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์อังกฤษได้ประสบความสำเร็จในการพยากรณ์เส้นทางที่เงามืดของสุริยุปราคาจะทอดผ่านเกาะอังกฤษในปี 1715

แต่การรู้ข้อมูลนี้ล่วงหน้า บางครั้งได้ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์และโทษ เช่น Tecumsch ซึ่งเป็นนักรบชาวอินเดียนแดงเผ่า Shawnee เมื่อรู้ว่าในวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ.1806 จะเกิดสุริยุปราคา จึงไปอวดอ้างต่อชนอินเดียนแดงเผ่าต่างๆ ว่า ในวันนั้นจะสามารถขับไล่ภูตผีที่จะมาดับดวงอาทิตย์ได้ และเมื่อเหตุการณ์เกิด Tecumsch ก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าใหญ่ สำหรับ Mahde ผู้เป็นนักเคลื่อนไหวชาวอิสลามก็ได้ใช้ความสามารถในการพยากรณ์สุริยุปราคามาข่มขู่กองทหารในกรุง Khartoum เมื่อปี 1864 จนเหล่าทหารกลัว Mahde จึงสามารถยึดกรุง Khartoum ได้สำเร็จ

ด้านนักวิทยาศาสตร์เวลาเกิดสุริยุปราคา จะไม่พากันออกรบแต่จะติดตามวงกลมดำด้วยกล้องโทรทรรศน์เพื่อวิเคราะห์ว่า corona ของดวงอาทิตย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในอดีต Jules Janssen และ Norman Lockyes ได้ให้แสงอาทิตย์ผ่านปริซึม แล้วสังเกตสเปกตรัม ในปี 1868 และเห็นเส้นแสงสีเหลืองปรากฏเด่นชัด ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน Lockyer จึงตั้งสมมติฐานว่า บนดวงอาทิตย์มีธาตุชนิดใหม่ที่ไม่มีบนโลก แต่ไม่มีใครเชื่อ ถึงปี 1895 เมื่อ William Ramsay จึงได้ยืนยันว่า ธาตุที่ Lockyer เห็นเป็นธาตุใหม่ จึงตั้งชื่อว่า helium ตามชื่อของ Heilos ผู้เป็นสุริยเทพในเทพนิยายกรีก ดังนั้น helium จึงเป็นธาตุที่พบบนดวงอาทิตย์ก่อนจะถูกพบบนโลก

การค้นพบธาตุใหม่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตื่นตัวจะศึกษาธรรมชาติของดวงอาทิตย์มาก ในปี 1872 Charles Young ได้เห็นเส้นแสงสีเขียวที่ไม่มีใครเคยเห็นในสเปกตรัมของ corona จึงตั้งชื่อธาตุใหม่ว่า ”coronium” แต่ไม่มีใครยืนยันการเห็น ความลึกลับของ “coronium” จึงมีอยู่จนถึงปี 1839 เมื่อ Walter Grotrian และ Bengt Edlen ชาวสวีเดนได้พบว่า “coronium” แท้จริงคือธาตุเหล็กที่มีอุณหภูมิสูง จนอิเล็กตรอนในอะตอมได้แตกตัวหลุดไป 13 ตัว นั่นแสดงว่า อุณหภูมิของ corona ร้อนถึงล้านองศาเซลเซียส จึงร้อนยิ่งกว่าอุณหภูมิ 5500 องศาเซลเซียสผิวดวงอาทิตย์ คำถามจึงมีว่า เหตุใดบรรยากาศเหนือดวงอาทิตย์จึงมีอุณหภูมิสูงกว่าที่ผิวถึง 200 เท่า ณ วันนี้ ปริศนายังมีการวิเคราะห์กันอยู่
สุริยุปราคาวงแหวน (เครดิตภาพ : REUTERS/Beawiharta)
นอกจากเรื่ององค์ประกอบแล้ว สุริยุปราคาก็เคยช่วยให้นักฟิสิกส์เข้าใจธรรมชาติของแรงโน้มถ่วงด้วย โดยเฉพาะในกรณีดาวพุธที่โคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ซึ่งตามกฎแรงโน้มถ่วงของ Newton วงโคจรของดาวเคราะห์ทุกดวงรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี เพราะถูกดวงอาทิตย์ดึงดูด แต่ดาวเคราะห์จะมีวิถีโคจรไม่ซ้ำรอยเดิม เพราะดาวเคราะห์ดวงหนึ่งจะถูกดาวเคราะห์ทุกดวงส่งแรงโน้มถ่วงกระทำ ก็สามารถอธิบายลักษณะการเหวี่ยงของแกนวงโคจรได้ ยกเว้นดาวพุธ เพราะพบว่า แกนวงโคจรจะแกว่งไปอย่างช้าๆ และต้องใช้เวลานานถึง 3 ล้านปี แกนจึงจะกลับมาซ้อนทับที่เดิม การเบี่ยงเบนนี้ทำให้ทุกคนกังวลใจมาก เพราะเป็นหลักฐานที่แสดงว่า ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของ Newton ยังไม่ถูกต้อง 100%

ในการหาทางออกสำหรับปัญหานี้ นักดาราศาสตร์บางคนคิดว่า สุริยจักรวาลอาจจะมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่ยังไม่มีใครเคยเห็น และมารบกวนวิถีโคจรของดาวพุธเหมือนดังที่ John Adams และ Urbain Le Verrier ได้พบในปี 1838 ว่าในการอธิบายลักษณะการโคจรของดาว Uranus ให้ถูกต้อง สุริยจักรวาลจะต้องมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งชื่อ Neptune โคจรอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาว Uranus

ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ วงโคจรของดาวเคราะห์ดวงใหม่จะต้องโคจรใกล้ดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาวพุธ และทุกคนอาจเห็นดาวเคราะห์ลึกลับชื่อ Vulcan นี้ ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ในปี 1864 แล้ว James Watson นักดาราศาสตร์อเมริกันก็ได้ประกาศว่าได้เห็นดาวเคราะห์ Vulcan หนังสือพิมพ์ทั่วโลกพากันพาดข่าวนี้ในหน้าหนึ่ง แต่การติดตามดู Vulcan โดยนักดาราศาสตร์คนอื่นๆ ไม่ประสบความสำเร็จ คำอ้างของ Watson จึงเป็นการอ้างที่เลื่อนลอย

ถึงปี 2458 Albert Einstein จึงได้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปที่แสดงให้เห็นว่า สุริยจักรวาลไม่มีดาวเคราะห์ Vulcan และทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของ Newton ไม่สมบูรณ์ โดย Einstein ก็สามารถอธิบายวิถีโคจรที่ “อปกติ” ของดาวพุธได้ แต่ทฤษฎีของ Einstein ทำให้บุคคลทั่วไปงุนงงกับความรู้ที่ว่าอวกาศสามารถยืดหยุ่นและบิดโค้งได้ในบริเวณรอบมวล

Einstein ยังเสนอวิธีที่สามารถใช้ทดสอบความถูกต้องของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป คือ แสงอาทิตย์จะเบี่ยงเบนได้ในสนามโน้มถ่วงที่มีความเข้มสูง แม้มุมเบี่ยงเบนจะน้อยนิด แต่นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถวัดได้ โดยเฉพาะแสงดาวที่ผ่านใกล้ขอบของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นบริเวณที่สนามโน้มถ่วงมีความเข้มมากที่สุด เมื่อแสงเบี่ยงเบน การดูดาวจากโลกจะทำให้ดูเสมือนอยู่ในที่ที่ไม่เป็นตำแหน่งจริงและ Einstein ได้เสนอให้นักวิทยาศาสตร์สังเกตดูดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ขอบดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง และวัดมุมที่แสงเบี่ยงเบนว่าจะเท่ากับ 1.75 ฟิลิปดาหรือไม่ (มุมระหว่างเส้นตรง 2 เส้นที่ยาว 1 กิโลเมตร โดยปลายข้างหนึ่งของเส้นตรงทั้งสองติดกัน แต่ปลายอีกข้างหนึ่งอยู่ห่างกัน 0.8 เซนติเมตร)

เพื่อตรวจสอบคำพยากรณ์นี้ ทีมนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันได้เดินทางไปที่แหลม Crimea เพื่อเฝ้าดูเหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในปี 2457 แต่ขณะนั้นเป็นเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 1 คณะนักดาราศาสตร์จึงถูกตำรวจรัสเซียคุมขัง ทำให้ไม่สามารถสังเกตเหตุการณ์ได้ อีก 5 ปีต่อมา คณะนักดาราศาสตร์อังกฤษ 2 คณะจึงเดินทางไปที่เกาะ Principe ในอ่าว Guinea และที่เกาะ Sobral ซึ่งอยู่นอกประเทศ Brazil เพื่อภาพถ่ายของดาวฤกษ์ ภาพที่ได้ยืนยันความถูกต้องของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป และคำพยากรณ์นี้ได้ทำให้ Einstein เป็นเซเลบของโลกในทันที

นั่นคือ เหตุการณ์เมื่อ 97 ปีก่อน ทุกวันนี้การเห่อดูสุริยุปราคาก็ยังมีเหมือนเดิม และอาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป เพราะนักวิทยาศาสตร์จะนั่งเครื่องบินตามดูเงาดำที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 2,000 กิโลเมตร/ชั่วโมงเป็นเวลานาน 75 นาที เพราะผู้สังเกตอยู่ที่พื้นดินจะเห็นเหตุการณ์ได้ไม่เกิน 7.5 นาที และบางคนเมื่อเห็นปรากฏการณ์นี้แล้ว ได้พยายามผูกโยงเหตุการณ์นี้กับความเป็นไปบนโลก เช่น อ้างว่า เมื่อเกิดสุริยุปราคา บุคคลสำคัญของชาติจะล้มป่วย และหลายคนจะตาย บางคนจะเสียคนรัก ราคาหุ้นในตลาดก็จะขยับขึ้น ลงอย่างผิดปกติ เหล่านี้เป็นความเชื่อที่ไม่มีหลักฐานใดสนับสนุน
แบบจำลองการสุริยุปราคา หลอดไฟซ้ายมือแทนดวงอาทิตย์ ลูกกลมๆ ตรงกลางแทนดวงจันทร์ และลูกโลกขวามือแทนโลก
สำหรับนักวิทยาศาสตร์เอง เวลาเกิดสุริยุปราคา นี่คือ โอกาสที่จะได้ศึกษาสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ว่าสามารถทำให้ corona มีอุณหภูมิสูงอย่างไร เพราะในช่วงเวลานี้จะสามารถเห็นพายุสุริยะได้ชัด เพื่อศึกษาผลกระทบต่อบรรยากาศโลกขณะมีดวงอาทิตย์และดวงอาทิตย์ถูกบดบัง รวมถึงศึกษาอิทธิพลที่มีต่อการคมนาคมสื่อสารของโลกโดยพายุสุริยะจากดวงอาทิตย์ และการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นของบรรยากาศโลกด้วย

นักชีววิทยาก็สนใจปฏิกิริยาสนองตอบของสัตว์ต่างๆ เช่น ฮิปโป ลิง แมลง สิงโต ช้าง เวลาเกิดสุริยคลาส และอุณหภูมิของอากาศลดลงอย่างกระทันหัน รวมถึงศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพของพืชด้วย ส่วนนักดาราศาสตร์ก็พบว่า การสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงจะทำให้นักวิทยาศาสตร์วัดเส้นผ่านศูนย์กลางที่แท้จริงของดวงอาทิตย์ได้ และวัดความเร็วของดวงจันทร์ขณะโคจรตัดหน้าดวงอาทิตย์ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะทำให้นักดาราศาสตร์สามารถทำนายเหตุการณ์นี้ในอนาคตได้อย่างแม่นยำ และช่วยให้นักประวัติศาสตร์รู้ว่า วันที่เกิดสุริยุปราคาในอดีตนั้นมีเหตุการณ์สำคัญใดบ้าง และในประเด็นที่เกี่ยวกับดวงอาทิตย์เอง ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา เพราะโลกเกิดจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นการรู้เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ก็เสมือนการรู้ประวัติความเป็นมาของโลกด้วย

ในอนาคตนักดาราศาสตร์ได้พบว่า ในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.1910 ได้เกิดสุริยุปราคาวงแหวนเหนือแอฟริกา เอเชีย ญี่ปุ่น อินเดีย พม่า และจีน สำหรับในไทยจะเห็นสุริยุปราคาบางส่วน และวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2553 ได้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในอเมริกาใต้ ชิลี อาร์เจนตินา แต่คนไทยไม่เห็นเหตุการณ์ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2554 ได้เกิดสุริยุปราคาบางส่วนในยุโรป แอฟริกา เอเชียกลาง แต่คนไทยไม่เห็นเหตุการณ์นี้ ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2554 เกิดสุริยุปราคาบางส่วน เอเชียตะวันออก และอเมริกาเหนือเห็นเหตุการณ์ แต่คนไทยไม่เห็น

ในวันที่ 9 มีนาคมนี้ คนไทยเราจะเห็นสุริยุปราคาบางส่วนอีกครั้งหนึ่ง และรู้ว่าคนไทยจะเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงอีกครั้งในไทยในปี 2612

Guillermo Gonzalez แห่งมหาวิทยาลัย Washington ที่ Seattle ในอเมริกาได้พบว่าดวงจันทร์ขยับถอยห่างจากโลกปีละ 4 เซนติเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ก็มีขนาดใหญ่ขึ้น 6 เซนติเมตรทุกปี ผลลัพธ์ก็คืออีก 250 ล้านปี ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์ไม่สนิทอีกต่อไป และเหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงก็จะไม่มีอีก

หาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ Eclipse! The What, Where, When, Why+How Guide to Watching Solar + Lunar Eclipses โดย Philip S. Harington ที่จัดพิมพ์โดย Wiley ISBN 047 1127957 ปี 1997

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น