xs
xsm
sm
md
lg

E=mc2รู้จักกันดี แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้มีประโยชน์อะไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ และ ศ.ดร.สิทธิชัย ร่วมตอบคำถามจากผู้ร่วมฟังเสวนา
“ศึกษาเรื่องนี้ไป แล้วได้ประโยชน์อะไร?” ประโยคบาดหัวใจที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ต่างได้รับ โดยเฉพาะนักวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานแบบลึกซึ้งสุดแก่น ทั้งที่เป็นกลุ่มคนทำงานหนักเพื่อปิดทองหลังพระให้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ไอน์สไตน์” ที่ 100 ปีก่อนได้ค้นพบ “ทฤษฎีสัมพัทธภาพ”อันลือลั่นที่ดูเหมือนจะหาประโยชน์ไม่ได้ในสมัยนั้น แต่กลับเป็นคุณอนันต์ในปัจจุบันนี้
         
ในโอกาสการครบรอบ 100 ปี การค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา จึงร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “หนึ่งร้อยปีทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป” โดยมีปรมาจารย์ฟิสิกส์ไทยอย่าง ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง, ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม และ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน มาร่วมแสดงทัศนะและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แก่ผู้สนใจ พร้อมกันนี้ยังเปิดโอกาสให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์สัมภาษณ์พิเศษใน ประเด็นที่ว่า “100 ปีของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?”
        
ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในการบรรยายเรื่องทฤษฎีสัมพัทธภาพกับการเรียนการสอนและการใช้งานใน ประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า หากพิจารณาดูผลงานการค้นพบใหม่ๆ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีนักฟิสิกส์กว่า 3,832 คนจาก 37 ชาติเข้าร่วมแต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทั้งหมด “ไม่มีคนไทย” ซึ่งส่วนตัวเขาวิเคราะห์ว่าไม่ได้เกิดจากความที่เด็กไทย ไม่ชอบ ไม่สนใจในวิชาฟิสิกส์แต่เป็นเพราะเด็กที่มีความสนใจไม่ได้รับโอกาสและไม่มี สนามให้ทดลอง ซ้ำร้ายไปกว่านั้นสถิตินักศึกษาที่ลงเรียนวิชาทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปในมหาวิทยาลัยก็มีลดน้อยลง จนบางแห่งต้องปิดรายวิชา ซึ่งพอจะบอกให้รู้ว่านักศึกษาไทยที่เรียนฟิสิกส์ถึงแก่นทุกวันนี้แทบไม่มี ทั้งที่สมการและหลักการของทฤษฎีสัมพัทธภาพคือ จุดกำเนิดของหลายเทคโนโลยีที่ใช้กันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเพทสแกน (Positron Emission Tomography: PET), เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน, เครื่องมือทางการแพทย์สำหรับรักษามะเร็ง (Medical Linac), เครื่องกำเนิดแสงเทอราเฮิร์ตซ (Terra Hertz) หรือแม้แต่การปรับปรุงกระบวนการวัลคาไนซ์น้ำยางธรรมชาติด้วยลำอิเล็กตรอน
         
“มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากการค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษและทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ในการใช้พื้นฐานหรือหลักการของทฤษฎีมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ใหม่ๆ แบบที่ยกตัวอย่างไป รวมถึงเครื่องยิงอิเล็กตรอนพลังงานสูง การเปลี่ยนสีอัญมณี ครื่องตรวจวัดรังสีต่างๆ ไม่นับรวมเตาปฏิกรณ์ปรมานูที่ใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ต้องใช้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษทั้งสิ้น ผมจึงกล้าพูดได้ว่าสูตร E=mc2 เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นตัวจุดประกาย แต่คนส่วนมากมักไม่ค่อยรู้ว่าความจริงมันมีประโยชน์อะไร ทั้งที่ความจริงให้สาธยายเป็นวันก็ไม่จบ” ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ กล่าว
         
ด้าน ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม ศาสตราจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และอดีตรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวบรรยายในหัวข้อ ไขความลับของเอกภพเกี่ยวกับการหดเข้าของเวลาและระยะทางซึ่งอัดแน่นไปด้วย สูตรและสมการขั้นสูงที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการเคลื่อนที่ทำให้เวลาและระยะทาง ยืดหยุ่นได้จริง ทว่าประเด็นที่น่าสนใจกว่าอยู่ที่การวิพากษ์การศึกษาฟิสิกส์ในสังคมไทยว่า ควรเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่หมดให้พีชคณิตและเรขาคณิตเข้มแข็งขึ้น
         
ส่วนความเปลี่ยนแปลงของโลกหลัง 100 ปีของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ศ.ดร.สิทธิชัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั้งพิเศษและทั่วไป คือทำให้ความสำนึกรู้ของมนุษยชาติเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าให้เปรียบเทียบในเชิงความสำคัญด้านสิ่งก่อสร้างที่เขาถนัด เขาให้น้ำหนักกับทฤษฎีของนิวตันและกาลิเลโอมากกว่า แต่ก็ไม่สามารถละทิ้งทฤษฎีของไอน์สไตน์ที่ทำให้เกิดความตระหนักว่าเวลา เปลี่ยนแปลงได้ ระยะทางที่เชื่อมโยงกับเวลาเปลี่ยนแปลงได้ด้วยแรงโน้มถ่วง ซึ่งเขาถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ที่เจริญขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความตระหนักพื้นฐานของทฤษฎียังเกี่ยวข้องกับงาน ด้านเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูล (Solid State Drive) อันได้แก่ คอมพิวเตอร์ ชิปอิเล็กทรอนิกส์ ที่เขาถนัดและทำวิจัยโดยตรง เพราะหลักการสร้างเทคโนโลยีดังกล่าวจะต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ของทฤษฎีสัม พัทธภาพและควอนตัมฟิสิกส์ชั้นสูง

สุดท้าย ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา และศาสตราจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ บรรยายในหัวข้อมหัศจรรย์แห่งสีสันรวมถึงกระแสความตื่นตัวในวงการฟิสิกส์หลังมีการค้นพบคลื่นโน้มถ่วงได้อย่างน่าสนใจ โดยกล่าวย้อนความว่าปี 2558 เป็นปีที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้ยกให้เป็นปีสากลแห่งแสงและดินสากล เพื่อสะท้อนให้คนทั่วโลกเห็นความสำคัญและประโยชน์ของแสง และยังเป็นการเทิดทูน อัลฮาเซน (Abu Ali al Hasan ibn al-Haytham) ปราชญ์ชาวอาหรับคนแรกผู้บุกเบิกวิทยาการด้านแสงตั้งแต่เมื่อ 1,000 ปีก่อน

อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้อื่นกล้าที่จะตั้งคำถามกับธรรมชาติจนเกิดเป็นองค์ความรู้เรื่องแสงที่สะสมเรื่อยมา จนทุกวันนี้มนุษย์สามารถนำแสงมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง อาทิ เอ็กซเรย์, การวัดอายุดวงดาว, เครื่องมือสแกนทางการแพทย์, การเกษตรเกี่ยวกับการสังเคราะห์ด้วยแสง, รังสีอินฟราเรด, เทอร์โมแกรม, แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ล่วงไปถึงเทคโนโลยีอวกาศ ไปจนถึงการค้นพบดาวเคราะห์คู่เหมือนของโลก

ศ.ดร.สุทัศน์กล่าวว่าคนจะชินกับแสงที่ตามองเห็นได้ แต่ความจริงแล้วแสงมีมากกว่านั้น มากและล้ำลึกจนเราไม่รู้ว่าเราใช้ฟิสิกส์ทุกวันการค้นพบคลื่นโน้มถ่วงเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนจึงเป็นโอกาสดีมากๆ ที่จะทำให้คนสนใจฟิสิกส์ ยิ่งผมเห็นคนสนใจเข้าฟังการเสวนาที่สถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งจัดยิ่งดีใจ มันเป็นเรื่องที่น่าขนลุก เพราะทฤษฎีที่ไอน์สไตน์เคยเสนอไว้ตั้งแต่ 100 ปีที่แล้วได้รับการพิสูจน์ ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าเราจะใช้ศึกษาหรือทำอะไรได้บ้าง ก็ไม่ต่างอะไรกับการค้นพบแสงเอ็กซเรย์ตอนแรกที่ในขณะนั้นยังไม่รู้ว่านำไป ใช้ทำอะไร แต่วันนี้เราใช้สำหรับการถ่ายกระดูก ไว้ศึกษาโครงสร้างผลึก แต่ที่คิดว่าจะต้องมีการทำแน่ๆ คือการใช้คลื่นนี้ศึกษาหลุมดำ การศึกษาธรรมชาติของสสารมืด และอาจจะใช้ศึกษาอะไรต่างๆ อีกมากมายที่เราไม่เคยรู้

"ผมคิดว่าวันนี้น่าจะเป็นเหมือนกับช่วงแรกๆ ที่มีการประกาศทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ที่คนทั่วไปบอกว่าไม่รู้ประกาศมาแล้วจะทำหรือใช้ประโยชน์อะไรได้ แต่ตอนนี้ผ่านมา 100 ปีทุกคนก็น่าจะได้เห็นแล้วว่าเราได้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย จากการนำเอาพื้นฐานความรู้ของทฤษฎีเมื่อ 100 ปีก่อนนั่นแหละมาใช้ ถ้าไม่มีทฤษฎีสัมพัทธภาพวันนั้นคงไม่มีเครื่องซีทีสแกน ไม่มีเครื่องมือแพทย์ดีๆ ไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ ไม่มีเครื่องซินโครตรอน ไม่พบอนุภาคฮิกกส์ ที่ทำให้วงการฟิสิกส์โลกก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้”

ท้ายสุด ศ.ดร.สุทัศน์ ยังกล่าวถึงความหวังในวงการฟิสิกส์ในอนาคตแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ด้วยว่า ปัจจุบันมนุษย์ค้นพบ และมีองค์ความรู้เกี่ยวกับแสง, แรงไฟฟ้า, คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างทะลุปรุโปร่ง และยังมีการใช้แสงกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าใช้ในการศึกษาธรรมชาติตั้งแต่อะตอม จนถึงเอกภพอีกมากมาย การค้นพบคลื่นโน้มถ่วงที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้จึงเป็นอีกส่วนเติมเต็มหนึ่งที่จะทำให้องค์ความรู้ในวงการฟิสิกส์เกิด ความสมมาตรมากขึ้น เปรียบได้กับโลกที่มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งจะเป็นตัวแปรที่ทำให้การศึกษาเรื่องราวทางฟิสิกส์ที่มนุษยชาติยังไม่เคย รู้ให้สมบูรณ์ขึ้นไปอีกระดับ
ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม ขณะกำลังอธิบายสมการเพื่อความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเวลาและระยะทาง
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ขณะบรรยายเกี่ยวกับประโยชน์ของแสง
นักฟิสิกส์ นักวิชาการ ครูและผู้สนใจจำนวนมากเข้าร่วมฟังการเสวนา
นักฟิสิกส์ นักวิชาการ ครูและผู้สนใจจำนวนมากเข้าร่วมฟังการเสวนา
ศ.ดร.วัลลภ สุระกําพลธร ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง มอบของที่ระลึกแก่วิทยากร
ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง
ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน







เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น