xs
xsm
sm
md
lg

อดีต นร.ทุนในไลโกชี้กว่าจะพบ “คลื่นความโน้มถ่วง” ล้มเหลวนับไม่ถ้วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.ธารา เฉลิมทรงศักดิ์
นับเป็นช่วงเวลาที่แวดวงวิทยาศาสตร์ได้รับความสนใจอย่างมาก หลังการประกาศของหอสังเกตการณ์ในสหรัฐฯ ว่าตรวจวัด “คลื่นความโน้มถ่วง” ได้โดยตรง แต่กว่าจะมาถึงวันนี้นักเรียนทุนของไทยที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับห้องปฏิบัติการที่ตรวจวัดระบุว่ามีความล้มเหลวนับไม่ถ้วน และชื่นชมนักวิทยาศาสตร์ที่อดทนจนตรวจวัดสัญญาณได้

ดร.ธารา เฉลิมทรงศักดิ์ จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตนักเรียนทุนจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) หรือ (Caltech) สหรัฐฯ ผู้มีประสบการณ์ร่วมทำงานในหอสังเกตการณ์คลื่นโน้มถ่วงแสงเลเซอร์แทรกสอด (LASER Interferometer Gravitational-wave Observatory) หรือไลโก (LIGO) เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า หลังยินข่าวว่าไลโกตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วงได้ ก็รู้สึกชื่นชมนักวิทยาศาสตร์ที่อดทนจนตรวจจับสัญญาณได้

ดร.ธาราเคยเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 2544 จึงได้รับทุนไปศึกษาฟิสิกส์ที่ต่างประเทศ โดยเมื่อครั้งเรียนระดับปริญญาตรีได้ฝึกงานเกี่ยวกับฟิสิกส์พลังงานสูง แต่ไม่ชอบเท่านัก กระทั่งเมื่อเรียนระดับปริญญาเอกทราบว่าตัวเองนั้นชอบที่จะได้ทดลอง ซึ่งที่คาลเทคมีห้องปฏิบัติการให้ได้ทดลอง

เมื่อได้ฟังบรรยายของ ศ.คิป ธอร์น (Kip Throne) เกี่ยวกับไลโก และจากเหตุผลว่ายังไม่มีวัดคลื่นความโน้มถ่วงได้โดยตรง อีกทั้ง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ผู้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับคลื่นความโน้มถ่วงเองยังไม่มั่นใจว่าเราจะตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วงได้หรือไม่ ดร.ธาราจึงเกิดความสนใจและได้เข้าไปทำงานที่หอสังเกตการณ์ดังกล่าว

ดร.ธาราให้ข้อมูลว่า การทดลองวัดคลื่นโน้มถ่วงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานนับร้อยปีแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นใช้ในการตรวจวัด “อีเธอร์” (Ether) ที่เชื่อว่าเป็นตัวกลางของแสง แต่พบว่าไม่มีอยู่จริงและเป็นการทดลองอันล้มเหลวที่โด่งดังมากการทดลองหนึ่ง

ทั้งนี้ ไลโกได้ตรวจวัดสัญญาณคลื่นความโน้มถ่วงที่เกิดจากการรวมกันของ 2 หลุมดำเมื่อ 1.3 พันล้านปีก่อน ได้เมื่อวันที่ 14 ก.ย.58 และหลังจากการตรวจสอบจนแน่ใจแล้วจึงได้ประกาศความสำเร็จดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 ก.พ.59 ที่ผ่านมา

ความสำคัญของการตรวจวัดคลื่นโน้มถ่วงได้โดยตรงนั้น ดร.ธาราได้สรุปไว้ 3 ข้อ ดังนี้ ข้อแรกคือการตรวจวัดคลื่นได้นั้นเป็นการยืนยันทฤษฎีของไอน์สไตน์ ซึ่งบางทฤษฎีจะไม่ได้รับการยอมรับจนกว่าจะได้การทดสอบ แต่การทดลองในครั้งนี้บอกว่า เราเพิ่งตามทฤษฎีของไอน์สไตน์ทัน

อีกความสำคัญคือมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเอกภพมากมาย แต่ที่ผ่านมาเราเหมือนคนหูหนวก ตาบอด แล้ววันหนึ่งเมื่อเราวัดคลื่นความโน้มถ่วงได้ก็เหมือนเราได้เปิดหูเปิดตาเพื่อรับรู้เหตุการณ์ และสุดท้ายคือเครื่องตรวจวัดได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมา 20 ปีกว่าจะมีประสิทธิภาพถึงทุกวันนี้ เทคโนโลยีได้รับการเพิ่มขีดจำกัดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าจะมีการประยุกต์ที่สามารถทำได้อีกมาก

แม้จะไม่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจวัดคลื่อนความโน้มถ่วงในครั้งนี้ แต่หลังได้ยินข่าวความสำเร็จ ดร.ธาราก็รู้สึกชื่นชมนักวิทยาศาสตร์ที่อดทนจนสามารถตรวจวัดสัญญาณได้ ที่ผ่านมาล้มเหลวตลอดจนโดนแขวะว่าตัวเครื่องตรวจวัดนั้นตรวจจับได้แค่แผ่นดินไหว และไม่อยากให้มองแค่ความสำเร็จ เพราะกว่าทีมนักวิทยาศาสตร์จะถึงวันนี้ มีความผิดหวัง ล้มเหลวและร้องไห้มานับครั้งไม่ถ้วน

แม้ดีกรีจากคาลเทคจะเป็นใบเบิกทางให้ ดร.ธาราสามารถไปทำงานได้หลายประเทศ เช่น อิตาลี เยอรมนี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซึ่งมีหอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงเช่นเดียวกับไลโก แต่ด้วยความผูกพันและคำนึงถึงคำสอนของอาจารย์ที่ต้องการให้มาช่วยพัฒนาประเทศชาติ ปัจจุบันเขาจึงกลับมาใช้ทุนโดยทำหน้าที่สอนหนังสือที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเวลาปีกว่าแล้ว ทว่าภาระการสอนที่มากเขาจึงยังไม่มีเวลาทำงานวิจัย










 

กำลังโหลดความคิดเห็น